ชาวจุฬาฯ สามัคคี รวมพลคนจิตอาสา ทั้งนิสิตเก่าและปัจจุบัน คณาจารย์ และบุคลากร นำโดยผู้ช่วยอธิการบดีด้านพัฒนานิสิตและนิสิตเก่าสัมพันธ์ ผศ.สรายุทธ ทรัพย์สุข สมาคมนิสิตเก่าและนิสิตเก่าหอพัก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วยเหล่าจิตอาสาในโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. เข้าสู่พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อช่วยฟื้นฟูและช่วยเหลือโรงเรียนที่ประสบอุทกภัย ในอำเภอวารินชำราบ อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นก็มีทั้งการร่วมกันปรับภูมิทัศน์ ทำความสะอาด ทาสีรั้วและห้องเรียน มอบวัสดุอุปกรณ์และเครื่องใช้จำเป็นกับโรงเรียน 11 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา ได้แก่ โรงเรียนบ้านกุดชุม, โรงเรียนบ้านคูสว่าง, โรงเรียนบ้านหาดสวนยา, โรงเรียนบ้านกุดปลาขาว, โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว, โรงเรียนบ้านผักหย่า, โรงเรียนบ้านไร่ใต้, โรงเรียนบ้านโนนค้อลุคุ, โรงเรียนบ้านเดื่อสะพานโดม, โรงเรียนบ้านคูเดื่อ และโรงเรียนบ้านหนองกินเพล นับเป็นกิจกรรมต่อเนื่องที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง
การแสดงพลังของชาวจุฬาฯ ในครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้โครงการ ‘จุฬาฯ สามัคคี’ โครงการที่มีแรงบันดาลใจมาจากโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. ปลูกต้นกล้าแห่งความดี ‘เราทำความดีด้วยหัวใจ’ ลงพื้นที่ไปร่วมกันพลิกฟื้นคืนชีวิตชีวาให้คนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมุ่งไปที่การฟื้นฟูโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ และบ่มเพาะต้นกล้าแห่งสติปัญญาให้กับประเทศชาติ โดยการทำกิจกรรมในวันแรก ได้มีการแบ่งคณะจิตอาสาออกเป็นสามคณะ เพื่อกระจายความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง คณะที่หนึ่ง เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านกุดชุม, โรงเรียนบ้านคูสว่าง, โรงเรียนบ้านหาดสวนยา และโรงเรียนบ้านกุดปลาขาว ในอําเภอวารินชำราบ คณะที่สอง เดินทางไปที่โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว, โรงเรียนบ้านผักหย่า, โรงเรียนบ้านไร่ใต้, โรงเรียนบ้านโนนค้อลุคุ และโรงเรียนบ้านเดื่อสะพานโดม ในอําเภอพิบูลมังสาหาร และคณะที่สาม เดินทางไปยังโรงเรียนบ้านคูเดื่อ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองอุบลราชธานี
สำหรับกิจกรรมในวันถัดมา คณะจิตอาสา จุฬาฯ สามัคคี พากันเดินทางไปยังโรงเรียนบ้านหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ ช่วยกันคนละไม้คนละมือในการทาสีห้องเรียน ห้องน้ำ และรั้วโรงเรียน จัดห้องสมุด พร้อมทั้งมอบหนังสือให้แก่โรงเรียน และมอบวัสดุอุปกรณ์รวมถึงชุดเครื่องดนตรีวงดุริยางค์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป และเมื่อถึงเวลาอาหารกลางวัน คณะนิสิตจุฬาฯ ก็ได้ร่วมแจกจ่ายอาหารโรงครัวพระราชทาน และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ก่อนเดินทางกลับสู่กรุงเทพฯ ในช่วงบ่าย
ภาพใหม่ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนทั้ง 11 แห่ง มิได้เพียงแค่นำรอยยิ้มและความสุขมาสู่ผู้คนในพื้นที่ หากแต่ยังเป็นการสร้างความอิ่มเอมให้กับกลุ่มนิสิตจุฬาฯ และคณะจิตอาสาที่เข้าร่วม นับเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่ชาวจุฬาฯ กลุ่มจิตอาสา และศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน 904 วปร. (ศอญ.จอส.904 วปร.) ได้แสดงพลังให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยที่มีต่อกัน เพื่อพลิกฟื้นสังคมให้น่าอยู่กว่าเดิม
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์