วันนี้ (8 พฤศจิกายน) นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าในทุกๆ ปีเมื่อผ่านคืนวันลอยกระทง สิ่งที่ตามมาคือซากกระทงจำนวนมากที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลองหลายแห่ง
จากสถิติของศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร พบว่าปริมาณกระทงที่เก็บได้ในปี 2561 เฉพาะในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหมด 841,327 ใบ แบ่งเป็นกระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง จำนวน 796,444 ใบ หรือ 94.7% และกระทงจากโฟม จำนวน 44,883 ใบ หรือ 5.3% แม้ปริมาณกระทงจะเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ถึง 3.62% แต่สัดส่วนของกระทงโฟมลดลง เนื่องจากมีการรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น อย่างไรก็ตาม กระทงที่ถูกนำมาลอยตามจุดต่างๆ สุดท้ายจะถูกเก็บขนขึ้นมาเพื่อนำไปกำจัดต่อไป
ในวันลอยกระทงที่จะถึงนี้ ขอความร่วมมือทุกคนร่วมใจกันลอยกระทงอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสืบสานประเพณีที่ดีงาม โดยใช้หลัก 4 เลือก 2 ลด คือ
1. เลือกกระทงให้เหมาะกับแหล่งน้ำ เช่น กระทงขนมปัง ขนมข้าวโพด ควรลอยในแหล่งน้ำที่มีปลากิน กระทงหยวกกล้วยควรลอยในแหล่งน้ำที่มีเจ้าหน้าที่เก็บขนขึ้นมา
2. เลือกกระทงที่ทำจากวัสดุจากธรรมชาติ ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ เช่น ทำจากต้นกล้วย หยวกกล้วย ใบตอง
3. เลือกกระทงที่ไม่ใช้วัสดุหลากหลายเกินไป เลี่ยงกระทงที่มีเข็มหมุด พลาสติก โฟม เพราะย่อยสลายยากและเป็นขยะในแหล่งน้ำ
4. เลือกลอยกระทงออนไลน์ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปลอยนอกสถานที่
5. ลดขนาดกระทง ลอยขนาดเล็กแทนขนาดใหญ่ เพราะใช้วัสดุน้อยกว่าขยะน้อยกว่า
6. ลดจำนวนเหลือ 1 กระทง ลอยร่วมกัน ช่วยลดขยะและประหยัดเงิน เช่น มากันเป็นครอบครัว ครอบครัวละ 1 ใบ มาเป็นกลุ่มเพื่อน กลุ่มละ 1 ใบ มากับแฟน ลอยกระทงร่วมกัน 1 ใบ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์