ธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจหลายแห่งในประเทศไทยพร้อมใจกันประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชนิดต่างๆ บางธนาคารปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก สอดคล้องกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพราะสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวในปัจจุบัน
เริ่มต้นที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR (ลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate)) ลง 0.25% มาอยู่ที่ 6.87% และลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำลง 0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป
อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้เหตุผลถึงการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่า เพื่อช่วยลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มลูกค้า SME และลูกค้ารายย่อย ท่ามกลางความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ
ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทย ก็ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR (ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate)) ลง 0.25% มาอยู่ที่ 6.00% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กลุ่มลูกค้าของธนาคารใช้เป็นส่วนใหญ่ และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้านิติบุคคลลง 0.07%-0.25% มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 เป็นต้นไป แต่ยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากสำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดา
ส่วน ธนาคารออมสิน ก็ตอบรับนโยบายของ กนง. ด้วยการประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ทันที 0.125% ทั้ง MRR, MOR (ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate)) และ MLR
ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MRR และ MOR = 6.745% ต่อปี ส่วน MLR = 6.375% มีผลวันที่ 11 พฤศจิกายน 2562 ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารออมสินจะชะลอการปรับลดดอกเบี้ยให้ผู้ฝากเงินฝากทุกประเภทได้รับผลตอบแทนในอัตราเท่าเดิมอีกอย่างน้อย 2 เดือนจนถึงสิ้นปี 2562 หลังจากนั้นจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 0.125% มีผลวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป
ฝั่ง ธนาคารกรุงเทพ ก็ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ลง 0.25% เช่นกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการลดต้นทุนทางการเงินการดำเนินธุรกิจ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และช่วยเหลือผู้ประกอบการ มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2562
สุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า “ธนาคารกรุงเทพมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยภาพรวม สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐ”
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า