คงไม่มีใครกล้าชี้ชัดว่าเศรษฐกิจไทยโดยรวมทั้งประเทศอีก 2 เดือนก่อนหมดปี 2562 จะเป็นไปในทิศทางไหน หากคุยกันในวงธุรกิจคงพูดเป็นกลางว่า ‘ทรงๆ’ โดยเฉพาะในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่หากใครได้ติดตามข่าวจะเห็นว่าหลายโครงการต้องเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ ออกไป และอีกไม่น้อยที่เริ่มถูกแช่แข็ง
บทวิเคราะห์ข่าวจากหลากหลายแหล่งที่วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าภาพรวมของอุปทานมีการปรับตัวลดลง 23.17% ด้วยปัจจัยลบที่ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจมีอัตราเติบโตที่ลดลงไปค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการพัฒนาโครงการ อุปทานในตลาดจึงลดลง ในขณะเดียวกันอุปสงค์มีการขยายตัวเล็กน้อยเพียง 0.14% ทั้งนี้ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังมียอดการโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือทาวน์เฮาส์และบ้านเดี่ยว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 6.17% และ 1.50% ตามลำดับ
ตัวเลขเช่นนี้ทำให้ธุรกิจบริหารสินทรัพย์กลายเป็นธุรกิจเดียวที่รับมือได้ โดยมีการประมาณการว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่า 3.0% จากหลายปัจจัยลบที่อาจไม่ร้ายแรงเท่าวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 และหากเป็นดังประมาณการ ธุรกิจบริหารสินทรัพย์จะกลายเป็นธุรกิจเดียวที่รับมือได้ เพราะจุดเริ่มต้นของธุรกิจบริหารสินทรัพย์เกิดขึ้นได้เพราะวิกฤตต้มยำกุ้ง
ซึ่งขณะนั้นมีสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อรวมของธนาคารทั้งหมดในประเทศไทยกว่า 42% (ปัจจุบัน 2.9%) กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดธุรกิจบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company – AMC) และคณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เพื่อแก้ปัญหา NPLs ของระบบสถาบันการเงินของประเทศ
นั่นหมายความว่าหากเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังน่าเป็นห่วงตามที่สถาบันการเงินหลายแห่งวิเคราะห์ ภาวะ NPLs ก็อาจเพิ่มสูงขึ้น และหนึ่งในกลไกที่ช่วยบริหารจัดการ NPLs ก็คือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ด้วยการเปลี่ยนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่า โดยมีหน้าที่ที่ชัดเจนคือการรับซื้อ/รับโอน NPLs จากสถาบันการเงินเพื่อนำมาบริหารจัดการและจำหน่ายต่อไป เพื่อให้สถาบันการเงินทำหน้าที่ปล่อยสินเชื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ธุรกิจบริหารสินทรัพย์เป็นกลไกสำคัญในการสร้างเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างไร
หากมองไปที่สัดส่วน NPLs ที่เพิ่มขึ้นของสถาบันการเงิน เลี่ยงไม่ได้ที่สถาบันการเงินจะต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจและภาคเอกชนได้น้อยลง ย่อมส่งผลกระทบต่อการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจในประเทศอย่างแน่นอน
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา BAM ในฐานะบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ จึงเป็นกลไกสำคัญที่สามารถปิดบัญชีลูกหนี้ NPLs ที่รับซื้อจากสถาบันการเงินต่างๆ ได้แล้วกว่า 90,000 ล้านบาท ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่สามารถเติบโตได้ต่อไป เนื่องจากทุกปีธนาคารพาณิชย์จะนำ NPLs ออกขายอยู่เสมอ และเมื่อดูตัวเลขการเติบโตของ NPLs ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในระบบธนาคารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 12.8% ต่อปี
แต่สิ่งที่ทำให้ธุรกิจบริหารสินทรัพย์โดดเด่นน่าจะอยู่ที่ความสามารถในการปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ กล่าวคือในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ลูกหนี้มีความสามารถในการชำระหนี้มากขึ้น และลูกค้าต้องการซื้อ NPAs เพิ่มขึ้น ราคาขาย NPAs จึงเพิ่มตามไปด้วย แต่ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง แปลว่า NPLs และ NPAs ในระบบก็จะมากขึ้นกว่าเดิม เป็นจังหวะเหมาะที่ BAM จะมีโอกาสซื้อ NPLs และ NPAs ที่หลากหลายในราคาที่น่าจะสร้างกำไรได้อย่างงดงาม
BAM หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ถ้า BAM เป็นธุรกิจที่สร้างโอกาสทำกำไรกับ NPLs และ NPAs ในทุกภาวะเศรษฐกิจ และนักลงทุนก็เริ่มหันมาสนใจธุรกิจประเภทนี้ ยิ่งจำเป็นที่จะทำความรู้จักกับ BAM ให้ลึกซึ้งแบบ 360 องศา ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุญาตให้สถาบันการเงินและบุคคลอื่นจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540
ปี 2542 BAM จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และได้จดทะเบียนรับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยให้ประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2542 โดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (BBC) ต่อมาได้ขยายขอบเขตการดำเนินธุรกิจโดยการซื้อ/รับโอน NPLs และ NPAs จากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น และ BAM ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 ภายใต้ชื่อบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบัน BAM จึงเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และมีเครือข่ายสำนักงานใหญ่และสาขามากที่สุดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งช่วยให้ BAM สามารถติดตามและบริหารจัดการ NPLs และ NPAs ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถประเมินราคาซื้อ NPLs และ NPAs ได้อย่างแม่นยำขึ้น นอกจากนี้ BAM ยังมีผลการดำเนินงานในการจัดหา บริหารจัดการ และสร้างกระแสเงินสดจาก NPLs และ NPAs ที่แข็งแกร่ง พร้อมด้วยแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและยั่งยืนเพื่อขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้น เช่น การออกตั๋วเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาว, การกู้ยืมทั้งระยะสั้นและระยะยาวจากสถาบันการเงินซึ่งปัจจุบัน BAM มีวงเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงินทั้งหมด 11 แห่ง และการออกหุ้นกู้
และปีนี้ BAM วางแผนผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย BAM และกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหุ้น IPO กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 280 ล้านหุ้น หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวนไม่เกิน 1,255 ล้านหุ้น และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Greenshoe) จำนวนไม่เกิน 230 ล้านหุ้น รวมทั้งสิ้นจำนวนไม่เกิน 1,765 ล้านหุ้น คิดเป็น 54.4% ของจำนวนหุ้นที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของ BAM ภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (หากมีการใช้สิทธิ์ซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนจาก BAM ทั้งจำนวน) พร้อม 3 ยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ มุ่งเน้นที่จะคงความเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) และทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) โดยมีการบริหารงานที่เป็นเลิศ และมุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและสถาบันการเงินที่ขาย NPLs และ NPAs
ปัจจุบัน BAM ประกอบธุรกิจ 2 กลุ่มหลักคือ ธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPLs) ดำเนินการซื้อ NPLs จากธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์อื่น และนำมาบริหารจัดการด้วยการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่ายเท่าที่เป็นไปได้ เพื่อช่วยให้ลูกหนี้ NPLs สามารถกลับไปใช้ชีวิตหรือกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจตามปกติได้ต่อไป ทั้งนี้ NPLs ที่ BAM รับซื้อมาส่วนใหญ่มีหลักประกันเป็นอสังหาริมทรัพย์
อีกกลุ่มธุรกิจหลักคือธุรกิจบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย (NPAs) ซึ่ง BAM จะได้ NPAs มาโดยวิธีการต่างๆ เช่น การเจรจากับลูกหนี้เพื่อโอนหลักประกันหรือโอนทรัพย์ชำระหนี้ การบังคับทรัพย์หลักประกันเพื่อชำระหนี้ และการซื้อ NPAs จากสถาบันการเงินอื่นโดยตรง BAM บริหารจัดการ NPAs ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดินเปล่า โรงแรม อาคารเพื่อการพาณิชย์ และที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ และอาคารชุด รวมทั้งสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์อื่นๆ
นอกจากบทบาทการนำ NPLs ออกจากระบบสถาบันเงินเพื่อช่วยให้ลูกหนี้ NPLs สามารถกลับไปใช้ชีวิตหรือกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจตามปกติได้ต่อไปให้เร็วที่สุดแล้ว การดำเนินธุรกิจของ BAM ยังถือเป็นการเพิ่มมูลค่า NPAs ที่ถูกทิ้งร้างเพื่อนำมาออกขายให้แก่ภาคธุรกิจและภาคประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในราคาที่จับต้องได้อีกด้วย
การเติบโตของ BAM ในปีนี้ได้วางยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานเพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยการขยายฐานทรัพย์สิน ลดระยะเวลาการดำเนินการและเพิ่มผลเรียกเก็บเงินสด ฝึกอบรมพนักงานและพัฒนาศักยภาพขององค์กร พร้อมกำหนดแผนการสืบทอดตำแหน่ง และยังชูความสามารถในการสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ในทุกสภาวะเศรษฐกิจ
ปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูฯ ถือหุ้น BAM 99.99% โดยคาดว่าหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ กองทุนฟื้นฟูฯ จะถือหุ้น BAM ในสัดส่วนต่ำกว่า 50% แต่ไม่ต่ำกว่า 45%
นอกจากนี้ BAM ได้วางภาพลักษณ์ให้เป็นบริษัทที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้าและกับสถาบันการเงินที่ขาย NPLs และ NPAs ด้วยเป้าหมายที่จะดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือแนวทาง ESG ที่ใช้มาอย่างต่อเนื่อง
หากดูจากผลประกอบการที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้สู่การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ใช่เรื่องยากเลย ผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3 ปีที่แข็งแกร่งจากเงินสดรับ (Cash Collection) ปีละกว่า 10,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 ทาง BAM มีเงินสดรับรวมทั้งสิ้น 16,569 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 13,516 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.6%
มีกำไรสุทธิต่อเนื่องปีละกว่า 4,500 ล้านบาทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 มีกำไรสุทธิ 5,202 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ทำได้ 4,501 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.6% ในส่วนของสินทรัพย์เติบโตเฉลี่ย 7% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน NPLs: ราคาประเมินของหลักทรัพย์ค้ำประกันของลูกหนี้ NPLs ของ BAM มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีของลูกหนี้ NPLs กว่า 2 เท่า (ราคาประเมิน = 187,875 ล้านบาท / มูลค่าทางบัญชี = 74,482 ล้านบาท)
และ NPAs: ราคาประเมินของ NPAs ของ BAM มีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีกว่า 2 เท่า (ราคาประเมิน = 50,745 ล้านบาท / มูลค่าทางบัญชี = 21,731 ล้านบาท) ***ดูข้อมูลผลประกอบการเพิ่มเติมหรือดูทรัพย์สิน NPLs และ NPAs ได้ที่ www.bam.co.th
นอกจากตัวเลขผลประกอบการและระยะเวลาการดำเนินกิจการของ BAM กว่า 20 ปีที่สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน อีกสิ่งที่ส่งผลต่อความมั่นใจเช่นกันคือวิสัยทัศน์และปณิธานของทีมผู้บริหารที่ ‘มุ่งสู่การเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ดีที่สุดของประเทศ’ มุ่งมั่นแก้ไขปัญหา NPLs และ NPAs ของประเทศ และให้ความสำคัญต่อการบริหารงานที่เป็นเลิศ มุ่งส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกหนี้และลูกค้าเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง
https://www.youtube.com/watch?v=C4BidfRuxx4
หมายเหตุ: ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- บทความวิเคราะห์รายงานทางเศรษฐกิจ (ประจำเดือนตุลาคม 2562) www.bam.co.th/bam/corporate/article/detail/12/4836