สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า อายุค่าเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 73.28 ปี ในปี 2552 เป็น 75.0 ปี ในปี 2558 และเพิ่มเป็น 75.4 ปี ในปี 2560
ช่วงปี 2557 นักวิชาการออกมาเปิดเผยข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) หรือสังคมที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปี) เกินร้อยละ 10 ของประชากร จากสถิติพบว่า จำนวนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดการณ์ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. 2565 สังคมไทยจะเป็น ‘สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์’ หรือ Ageing Society ซึ่งคือสังคมที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรรวมเกินร้อยละ 20 ขณะที่อีก 13 ปีข้างหน้า หรือประมาณ พ.ศ. 2573 เมื่อวัยทำงานในปัจจุบันกลายเป็นผู้สูงอายุ คนไทยทุกๆ 4 คน จะมีผู้สูงอายุอยู่ด้วย 1 คน
การสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบตัวเลขที่น่ากังวล โดยจากการสำรวจรายได้ของผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคนพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 60,000 บาท และรายได้ส่วนใหญ่มาจากลูกหลาน
รัฐเตรียมเพิ่มเบี้ยคนชรา ขอคนแก่รวยช่วยคนแก่จน
ปัจจุบันรัฐช่วยเหลือผู้สูงอายุ โดยมี ‘กองทุนผู้สูงอายุ’ จ่ายเงิน หรือ เบี้ยผู้สูงอายุ ให้กับผู้สูงอายุทกคนที่ไปลงทะเบียน โดยผู้สูงอายุตั้งแต่ 60-70 ปี ได้รับเบี้ย 600 บาท ช่วงอายุ 70-80 ปี ได้รับเบี้ย 700 บาท ช่วงอายุ 80-90 ปี ได้รับเบี้ย 800 บาท และอายุตั้งแต่ 90 ปีขึ้นไปได้รับเบี้ย 1,000 บาท
ซึ่งดูจากตัวเงินแล้วต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน ล่าสุดรัฐบาลเตรียมเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,200-1,500 บาทต่อเดือน
แน่นอนว่าเมื่อจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุมากขึ้นก็ต้องใช้เงินมากขึ้น ซึ่งเบื้องต้น ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ สาระสำคัญคือ ให้หักเงินจากภาษีสุรา ยาสูบ และเบียร์ ในอัตรา 2% แต่ไม่เกิน 4,000 ล้านบาทต่อปี เข้ากองทุนผู้สูงอายุเพื่อไปเพิ่มให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2561
ไฮไลต์ที่คนพูดถึงกันมากคือ แนวคิดให้ผู้สูงอายุที่มีฐานะดีสมัครใจสละสิทธิ์ไม่รับเบี้ยผู้สูงอายุ โดยใครที่สละสิทธิ์จะได้รับเหรียญเชิดชูเกียรติ เพื่อจะได้นำเงินไปให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย
เนื่องจาก สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 10.3 ล้านคน ในจำนวนนี้มาลงทะเบียนเพื่อรับเบี้ยผู้สูงอายุ 8 ล้านคน แต่มีผู้สูงอายุและมีรายได้น้อยราว 3 ล้านคน ที่เหลือ 5 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่มีฐานะดี
โดยสัปดาห์นี้กระทรวงการคลังกำลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการสละสิทธิ์ และการขอคืนสิทธิ์เมื่อมีความจำเป็น เพื่อรณรงค์ให้คนแก่ที่มีฐานะสละสิทธิ์รับเบี้ยคนชรา โดยรายละเอียดน่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์นี้ ขณะที่ตัวเลขคนชราที่ขอสละสิทธิ์คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนตุลาคม
ทีดีอาร์ไอ มองนโยบายดี แต่ยังขาดความชัดเจน
ยศ วัชระคุปต์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ THE STANDARD ว่า ตัวนโยบายฟังดูใช้ได้ แต่ในทางปฏิบัติยังทำได้ยากและไม่ชัดเจน
ซึ่งรัฐบาลหวังเอาเงินจากภาษีบาป จำนวน 4 พันล้านบาทต่อปี รวมกับเงินที่หวังว่าจะมีคนชราที่มีฐานะดีสละสิทธิ์ แล้วหวังว่าจะเพียงพอ ซึ่งในทางปฏิบัติไม่รู้ว่าคนที่ขอสละสิทธิ์จะมีเยอะแค่ไหน ขณะที่คนที่ไม่ได้มาลงทะเบียนผู้สูงอายุมีประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นผู้ที่มีฐานะดี แต่ตัวเลขการสละสิทธิ์รัฐบาลจะนับเฉพาะคนที่มาลงทะเบียนแต่ขอสละสิทธิ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า ในจำนวนคนชราฐานะดีที่มาลงทะเบียนขอรับสิทธิ์จำนวน 5 ล้านคน อาจจะสละสิทธิ์เพียง 10% คือ 5 แสนคน ก็จะมีเงินเข้ากองทุน 4,000 ล้านบาท
เปิดมาตรการรองรับคนวัยเกษียณในไทย
ยศ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบการรองรับผู้สูงอายุอยู่แล้ว ถ้าเป็นข้าราชการ ก็มีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ขณะที่พนักงานเอกชนทั่วไปหรือแรงงานในระบบก็จะมีประกันสังคม ซึ่งพอเกษียณก็จะได้เงินอย่างต่ำเดือนละ 3,600 บาท
ส่วนแรงงานนอกระบบหรืออาชีพอิสระ ก็มีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และประกันสังคมมาตรา 40
ดังนั้นจะเห็นว่าจริงๆ ระบบมีรองรับหมด แต่แรงงานนอกระบบยังไม่เห็นความสำคัญ และไม่มาเข้าร่วมเท่าไร ที่น่าเป็นห่วงก็จะเป็นแรงงานนอกระบบ ส่วนแรงงานในระบบที่เป็นข้าราชการกับประกันสังคมก็น่าเป็นห่วงน้อยกว่า
แต่เหตุที่ ‘กองทุนการออมแห่งชาติ’ ไม่ได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งคิดว่าเป็นเรื่องการเข้าถึงยาก ครั้งหนึ่งเคยไปฟังสัมมนาเรื่องนี้ ซึ่งก็มีเสียงสะท้อนว่า คนชราเคยตั้งใจไปออมเงินกับ กอช. ซึ่งต้องทำผ่านธนาคารของรัฐ แต่เจอพนักงานขายประกัน ทำให้เขารู้สึกว่าไม่สบายใจที่จะเข้าถึง ส่วนตัวคิดว่าน่าจะมีช่องทางการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น เช่น ผ่านร้านสะดวกซื้อ หรือออกแบบระบบให้คนชราไม่ลำบากเมื่อต้องการไปฝากเงิน
หวังดึงคนแก่ร่วมโครงการ ต้องลดความยุ่งยากซับซ้อน
นักวิจัยอาวุโสของทีดีอาร์ไอกล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการดูแลผู้สูงอายุในระยะสั้นของรัฐบาลถือว่าทำได้ดี ล่าสุดมีนโยบาย ‘รีเวอร์ส มอร์ทเกจ’ คือให้ผู้สูงอายุนำทรัพย์สิน เช่น อสังหาริมทรัพย์ ไปขอสินเชื่อ โดยธนาคารจะจ่ายสินเชื่อให้เป็นรายเดือน เพื่อให้มีเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือนตลอดช่วงอายุที่กู้
ซึ่งตัวนโยบายเป็นแนวคิดที่ดี แต่ต้องประเมินดูระหว่างการนำไปใช้ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ที่สำคัญคือต้องลดความยุ่งยากซับซ้อน เพราะอย่าลืมว่าคนอายุเยอะแล้ว การต้องมานั่งเรียนรู้ อ่านสัญญา และกรอกรายละเอียดเยอะๆ ถือเป็นเรื่องยากและเป็นอุปสรรคสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีนโยบายยืดเวลาเกษียณ ซึ่งช่วยยืดระยะเวลาให้คนชรามีรายได้ประจำต่อไปได้นานขึ้น
ญี่ปุ่นดูแลผู้สูงอายุอย่างไร
ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีอายุเฉลี่ยสูงที่สุดในโลก และมีสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุค่อนข้างสูง ในญี่ปุ่น ประชาชนในช่วงวัยทำงานทุกคนจะได้รับหลักประกันรายได้สำหรับผู้สูงอายุ
โดยระบบบำนาญญี่ปุ่นที่สำคัญและโด่งดังที่สุด คือ ระบบบำนาญแห่งชาติ เป็นระบบขั้นพื้นฐานครอบคลุมประชาชนช่วงวัยทำงานทุกคน สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระในญี่ปุ่นจะต้องจ่ายเงินเงินสมทบในอัตรา 15,250 เยน หรือ 4,500 บาทต่อเดือน และจะปรับทุกๆ เดือนเมษายนจนถึงเพดาน 16,900 เยน ขณะที่การจ่ายเงินบำนาญจะจ่ายเมื่ออายุ 65 ปี สำหรับผู้ที่จ่ายเงินสมทบมาไม่ต่ำกว่า 25 ปี และในกรณีจ่ายเงินสูงสุดคือครบ 40 ปี จะได้เงินบำนาญปีละ 772,800 เยน นอกจากนี้ยังมีสิทธิ์ได้รับบำนาญกรณีพิการด้วย
กล่าวคือคนญี่ปุ่นทุกคนจะได้รับเงินบำนาญพื้นฐานเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ขณะที่พนักงานบริษัทเอกชนและข้าราชการ นอกจากเงินบำนาญพื้นฐานแล้ว ก็ต้องสมัครเข้าระบบบำนาญสำหรับลูกจ้าง (Employee Pension System) ซึ่งจะได้รับเงินบำนาญและผลประโยชน์เพิ่มเติมจากเงินบำนาญพื้นฐาน
ญี่ปุ่นผ่านการปฏิรูประบบบำนาญมาหลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรและเศรษฐกิจ มีการออกแบบระบบเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบบำนาญ เช่น การปรับขึ้นค่าเบี้ยสมทบทุกปี แต่มีเพดานกำหนดไว้เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องจ่ายเบี้ยสมทบสูงเกินไป
นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีมาตรการกระตุ้นการจ้างงานผู้สูงอายุ โดยออกกฎหมายห้ามกำหนดข้อจำกัดทางอายุเป็นเงื่อนไขในการจ้างงาน รวมถึงขยายอายุเกษียณเป็น 65 ปี พร้อมนำระบบการจ้างงานต่อเนื่องหลังเกษียณมาใช้
เมื่อสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ภายในไม่กี่ปีข้างหน้านี้ เท่ากับว่าคนไทยกำลังต้องเผชิญความท้าทายนี้ร่วมกันไม่ว่าจะมองจากมุมของรัฐ เอกชน หรือประชาชนเอง นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกคนต้องช่วยกันขบคิดว่าจะออกแบบเส้นทางช่วงสุดท้ายให้ชีวิตบั้นปลายของคนไทยมีความสุขขึ้นได้อย่างไร