วันนี้ (2 พฤศจิกายน) เวลา 09.00 น. ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษ ASEAN Business and Investment Summit 2019 (ABIS) โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย รวมทั้งนักธุรกิจประมาณ 800 คน ภายหลังเสร็จสิ้น นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน ASEAN Business and Investment Summit 2019 ซึ่งสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน ASEAN Business Advisory Council (ASEAN-BAC) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นในวันนี้ โดยในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่สำคัญของประเทศไทย นอกจากได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาเซียนแล้วยังเป็นปีที่ภาคเอกชนไทยโดยเฉพาะองค์กรชั้นนำได้จัดเวทีเสวนาระดับนานาชาติภายใต้หัวข้อหลัก ‘สร้างพลังอาเซียน 4.0’ เพื่อติดอาวุธทางปัญญาและปูแนวทางไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในยุค 4.0
ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญและผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ ใช้นวัตกรรมเป็นตัวช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งระดับมหภาคและจุลภาคของประเทศ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด และการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่ยั่งยืน
รัฐบาลไทยและภาคธุรกิจได้ดำเนินการร่วมกันในหลายด้าน
1. มิติด้านความมั่นคง รัฐบาลได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
2. มิติด้านเศรษฐกิจ การลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Public and Private Partnership – PPP) มีการร่วมทุนขนาดใหญ่ในโครงการ Eastern Economy Corridor (EEC) หลายโครงการ
3. มิติด้านสังคม การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัยเร่งให้ประเทศไทยต้องปรับตัวด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามารองรับสังคมรูปแบบใหม่
การเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลก็เป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ทุกประเทศจะต้องเตรียมความพร้อม โดยการติดต่อผ่านดิจิทัลจำเป็นต้องใช้เครือข่ายการประกอบธุรกิจในประเทศและระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง ภาครัฐจึงต้องช่วยสนับสนุน นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือระดับภูมิภาค ได้แก่ ACMECS, RCEP และ GMS
ทั้งนี้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนจึงมีความสำคัญมากในการเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายการพบปะหารือ นำเสนอข้อคิดเห็นในเชิงเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาครัฐได้นำมาพิจารณาปรับใช้กับยุทธศาสตร์ นายกรัฐมนตรีหวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็นในหลายเรื่อง และจะเป็นเครื่องมือนำเสนอพัฒนาการในระบบการค้าและการลงทุนของโลก รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะในการวางยุทธศาสตร์และแผนการรองรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความพร้อมให้อาเซียนสามารถปรับตัวเข้ากับสภาวะเศรษฐกิจของโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ผมเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับนิยามของคำว่า 4.0 ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลปัจจุบันได้ผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มีเป้าหมายให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการค้า การส่งออก การลงทุนแบบออฟไลน์เพียงอย่างเดียวไปสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ หรือ New Business Model ที่ผสมผสานระหว่างการค้าการลงทุนแบบออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กันไป ซึ่งประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่กระบวนการการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลแล้ว โดยมีนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบันเป็นตัวช่วยยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคของประเทศ เป้าหมายสำคัญคือทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมนำการผลิตเพื่อสร้างห่วงโซ่แห่งคุณค่าและมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดและการมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาที่ยั่งยืน” นายกรัฐมนตรีกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์