“ผมชอบไปเข้าค่ายสิ่งแวดล้อม เพราะมองว่ามีประสบการณ์ดีๆ ที่เราจะได้รับ ยิ่งถ้านำความรู้ไปต่อยอด และพัฒนาที่โรงเรียนได้ก็คงจะดี ”
“เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ก็จะส่งผลถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเรา”
“ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งของคนที่สามารถตระหนักได้ว่าสิ่งแวดล้อมสำคัญต่อผู้คนขนาดไหน เพราะท้ายที่สุดแล้วภาวะโลกร้อน มีผลต่อผู้คนทั้งโลก”
ฯลฯ
คำพูดเหล่านี้เป็นเพียงเสียงส่วนหนึ่งจากเยาวชนในค่ายเพาเวอร์กรีน ที่สะท้อนบอกเราว่าเยาวชนไม่ได้ปล่อยปละ และมองว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัวอย่างที่คิด และหากเขาสามารถมีส่วนช่วยให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นได้ก็ไม่ลังเลที่จะทำ
ทันทีที่ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดประตูโครงการค่ายเพาเวอร์กรีน ค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมอีกครั้งเป็นปีที่ 14 ในหัวข้อ ‘รวมพลังเยาวชน สู้วิกฤตโลกร้อน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ’ ที่มีวัตถุประสงค์ให้เยาวชนตระหนักถึงผลกระทบจากอุณหภูมิของโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และได้ต่อยอดประเด็นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 จึงได้รับผลตอบรับอย่างดีจากพลพรรคเยาวชนที่มีใจรักสิ่งแวดล้อม ทว่า แค่มีใจรักอย่างเดียวไม่พอ เหล่าเยาวชนหัวใจสีเขียวต่างรู้โดยทั่วกันว่า หากจะมาเป็นส่วนหนึ่งของค่ายสิ่งแวดล้อมค่ายนี้ พวกเขาไม่เพียงจะต้องเผยศักยภาพที่มากกว่าแค่ความรักในธรรมชาติ แต่ต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านเรียงความในโจทย์ที่ว่า ‘รวมพลังเยาวชน สู้วิกฤตโลกร้อน ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ’ เพราะทุกวันนี้มนุษย์กำลังพ่ายแพ้กับอากาศร้อนรุนแรง จากมลภาวะ จากน้ำท่วมสาหัส แผ่นดินไหว ซึ่งถ้าหากลองวิเคราะห์ในเชิงลึกแล้ว มนุษย์คือต้นเหตุสำคัญ เป็นตัวการที่คุกคามความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องนี้จึงกลายเป็นประเด็นหลักสำหรับค่ายเพาเวอร์กรีนปีที่ 14 ซึ่งเยาวชนจำนวน 70 คน จากทั้งหมดเกือบ 500 คน ที่ส่งเรียงความสมัครเข้าร่วมค่ายฯ สามารถแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ และความตระหนักถึงผลกระทบจากวิกฤตภาวะโลกร้อน ตลอดจนเสนอแนวคิดในการช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ได้อย่างสร้างสรรค์ ได้ถูกคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อบ่มเพาะความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมแบบถึงรากเหง้า
“คนรุ่นใหม่มีเหตุผลมากขึ้น เขาไม่ใช่แค่ฟังแล้วเชื่อ แต่เขาต้องพิสูจน์ ซึ่งเชื่อมโยงกับเพาเวอร์กรีนที่เป็นอีกเวทีหนึ่งที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษได้เข้ามาเรียนรู้อย่างถูกต้อง ได้เข้าใจในวิธีการของผู้เชี่ยวชาญว่าเขาทำอย่างไร คิดอย่างไร เชื่อว่าการช่วยกันแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความฉลาดของเด็กยุคเทคโนโลยี เขามีข้อมูลเยอะกว่าผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ เด็กกลุ่มนี้จะเป็นเหมือนผู้เชื่อมโยง และผลักดันให้มีการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง จนทำให้ผู้ใหญ่นิ่งไม่ได้” อุดมลักษณ์ โอฬาร ผู้อำนวยการสายอาวุโส-สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความเห็น
ลักษณะของค่ายเพาเวอร์กรีน จะเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบลงมือทำ (Learning by Doing) และสร้างเสริมประสบการณ์ (Learning from Experience) โดยมีวิทยากรมาให้ความรู้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจบนเวทีเสวนาพิเศษในหัวข้อ ‘การต่อสู้เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความหลากหลายทางชีวภาพ’ โดยได้ วิเชียร ชิณวงษ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี วิเชียร อาจองค์ ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่าย CSR-DIW และ ดร.ชัยรัตน์ บูรณะ อาจารย์คณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มาร่วมเสวนาให้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมาของโลกจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ต่อเนื่องไปสู่อนาคต รวมถึงแนวทางในการรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม
อีกทั้งยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่เยาวชน และสามารถนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาคิดวิเคราะห์เพื่อหาทางจัดการ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยมีการพาไปลงพื้นที่จริง ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้เห็นถึงร่องรอยการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน จากนั้นน้องๆ ต้องเชื่อมโยงและประยุกต์ใช้ความรู้และประสบการณ์เดิมผนวกกับความรู้ใหม่ที่ได้รับจากค่ายฯ ในการสร้างสรรค์โครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ทั้งหมด 7 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งแต่ละกลุ่มมีแนวคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดล้วนเกิดจากความตั้งใจเดียวกันที่ต้องการร่วมกันต่อสู้กับภาวะโลกร้อน และเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
1. โครงงานสาหร่ายเปลี่ยนโลก จากทีมสีชมพู สร้างปะการังเทียมจากคลอโรพลาสต์ของสาหร่ายคลอเรลลา (Chlorella) ที่ผสมกับโปรตีนเส้นไหม และนำขยะพลาสติกมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนประกอบ เพื่อสร้างที่อยู่ใหม่ให้สัตว์น้ำ และยังสามารถคืนออกซิเจนให้ธรรมชาติได้อีกด้วย
2. โครงงานการทำนากุ้งอย่างยั่งยืน จากทีมสีเขียว ที่มีแนวคิดการบำบัดน้ำและดินเค็มจากการทำนากุ้ง ด้วยพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตไปสร้างรายได้ต่อไป ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อบำบัดน้ำจากนากุ้งก่อนปล่อยเข้าสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ และนำพื้นที่นากุ้งกลับมาใช้ซ้ำได้ รวมถึงลดการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนจากการทำนากุ้งเพิ่มขึ้น
3. โครงงานขยะทะเลมาสร้างทะเล จากทีมสีเหลือง ที่มีแนวคิดประดิษฐ์ ‘สามเหลี่ยมโกงกาง’ ตัวช่วยในการป้องกันการกัดเซาะ และฟื้นฟูชายฝั่ง พร้อมๆ กับคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศป่าชายเลน ซึ่งผลิตจากขยะพลาสติกผสมคอนกรีต ช่วยลดขยะ ลดต้นทุน โดยรูปทรงสามเหลี่ยมถูกออกมาแบบมาอย่างตั้งใจ เพื่อให้สามารถลดความรุนแรงของคลื่นที่กระทบชายฝั่ง นอกจากนี้ เมื่อเสร็จสิ้นการถูกใช้งานแล้ว ยังสามารถนำไป Reuse เป็นวัสดุในการทำถนนต่อได้อีกด้วย
4. โครงงานไบโอพลาสอ้อย จากทีมสีฟ้า ที่คิดค้นพลาสติกชีวภาพจากเซลลูโลสในใบอ้อย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ใบอ้อย ซึ่งเป็นส่วนที่เกษตรกรไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ และลดปัญหาการเผาใบอ้อยทิ้งก่อนการเก็บเกี่ยว ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ รวมถึงภาวะโลกร้อน ตลอดจนสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
5. โครงงานเกษตรทฤษฎีใหม่2 จากทีมสีส้ม ที่น้อมนำแนวพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 มาผสมกับ Smart Farming เพื่ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และเกิดความยั่งยืน
6. โครงงาน Bio-degradable Air Filter จากทีมสีแดง นวัตกรรมแผ่นกรองอากาศออร์แกนิก อาศัยวัตถุดิบจากธรรมชาติ เพื่อช่วยลดมลพิษทางอากาศ
7. โครงงาน Reduce Source Save Sink จากทีมสีม่วง บ้าน R 3S House โมเดลบ้านที่ช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากขยะพลาสติก
สำหรับปีนี้ กลุ่มที่ชนะเลิศและได้รับรางวัล Popular Vote คือ โครงงานขยะทะเลมาสร้างทะเล จากกลุ่มสีเหลือง ที่แสดงให้เห็นเหตุและผลอย่างเป็นรูปธรรมว่า โครงงานนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ช่วยลดโลกร้อน และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้
เพาเวอร์กรีน จึงเปรียบเสมือนเวทีที่เปิดโอกาสสำหรับเยาวชนที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อม ได้เข้ามาเรียนรู้อย่างถูกต้อง รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมโยงความรู้ และต่อยอดความคิด มีความแตกต่างจากหลายๆ โครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ คือ ไม่ใช่โครงการที่จัดแล้วจบไป แต่มีเครือข่ายของความเป็นพี่น้องจากรุ่นสู่รุ่นที่แข็งแกร่ง มีการรวมตัวกันไปทำกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมอยู่เป็นประจำ อีกทั้งยังเป็นค่ายที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืนจากภายใน คือ การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความรักสิ่งแวดล้อมในระดับความคิด หรืออาจกล่าวง่ายๆ ว่า ‘เน้นให้ความรู้ กระตุ้นความคิด’ สอดคล้องกับแนวคิดของบ้านปูฯ ที่ว่า ‘พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา’ ซึ่งให้ความสำคัญเรื่องการมี ใจรัก (Passionate) สร้างสรรค์ (Innovative) และมุ่งมั่นยืนหยัด (Committed) โดยที่คำว่าแพสชันนั้นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงแค่วันเดียว แต่ต้องมาจากความรู้สึกอินกับสิ่งนั้นจนเกิดความมุ่งมั่นและยืนหยัดทำต่อเนื่อง จนสามารถเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้และความคิดสร้างสรรค์ได้
“ที่เราเน้นเรื่องการปลูกฝังทางความคิด เพราะเรามองว่าจินตนาการสำคัญกว่าแค่ความรู้ว่าต้องทำอะไร เราเข้าใจว่าโรงเรียนให้ทฤษฎีมาเยอะแล้ว เราก็จะไม่ให้ทฤษฎีหนักเกินไป เพียงแต่จะกระตุ้นให้เห็นว่าทฤษฎีที่พวกเขาเรียนมานั้น ประยุกต์ใช้ให้ได้ผลจริงอย่างไร นี่คือเป้าหมายของเรา” รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานค่ายเพาเวอร์กรีน 14 กล่าวเสริม
แม้ค่ายเพาเวอร์กรีนจะไม่ใช่โครงการที่สร้างแรงกระเพื่อมขนาดใหญ่ แต่ความเชื่อมต่อที่มีมาตลอด 14 ปี บวกกับเครือข่ายอันเหนียวแน่นจากรุ่นสู่รุ่นของชาวเพาเวอร์กรีน เชื่อได้ว่า ไม่ว่าพวกเขาจะเติบโตไปอยู่ในหน้าที่การงานรูปแบบใด จิตสำนึกแรกที่พวกเขามีและพร้อมส่งต่อ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม
เมื่อเราเอ่ยถามถึงความสัมฤทธิ์ผลของโครงการ อุดมลักษณ์ ในฐานะตัวแทนของบ้านปูฯ เจ้าภาพของโครงการนี้ก็เชิญชวนให้เรามองไปรอบๆ ค่ายฯ พร้อมกับบอกเล่าสิ่งที่เป็นความสำเร็จอย่างแท้จริง
“การมาค่ายนี้ทำให้เด็กๆ ที่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้รู้ได้เห็น ประมวลออกมาเป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ได้ สามารถบอกเล่าได้ รู้จักการทำงานร่วมกัน การตกผลึกกลั่นกรอง นี่คือความสำเร็จแรกที่สัมผัสได้ หลังจากนี้ คือการสานต่อของเยาวชน หลายๆ คนก็มีไอเดียที่จะกลับไปชุมชนของตัวเอง เรายินดีสนับสนุนพลังของเยาวชน
เพราะเราเชื่อว่าพวกเขาจะไม่หยุดแค่นี้ พวกเขาอิน พวกเขามุ่งมั่นที่จะเป็นพลังในการดูแลสิ่งแวดล้อม เหมือนมดงาน คนเดียวไม่อาจทำได้ ต้องกระจายเครือข่าย และทำให้คนอื่นได้เห็นและภูมิใจไปด้วย จนอยากเข้ามาเป็นหนึ่งในเครือข่ายกับเรา นี่คือความสำเร็จของเรา เราไม่ได้คาดหวังอะไรมากมายใหญ่โต แค่คาดหวังให้คนธรรมดา ใช้ชีวิตทุกวันอย่างมีความตระหนักในสิ่งแวดล้อมก็พอ”
การปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างได้แค่ในวันเดียว และไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของทุกคน นอกจากนี้ เรื่องของสิ่งแวดล้อมควรถูกส่งต่อออกไปให้เยาวชนได้ศึกษาเรียนรู้มากที่สุด เนื่องจากสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มนุษย์ได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อม และไม่มีใครหนีปัญหานี้ไปได้พ้น
“ไม่ใช่แค่ในห้องเรียนที่จะให้ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องพวกนี้ต้องถูกแทรกเข้าไปตั้งแต่ที่บ้าน ก่อนเด็กจะเข้าโรงเรียน และในทุกระดับชั้นของการศึกษาก็ต้องแทรกเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แค่ทฤษฎี แต่ต้องให้พวกเขาไปผูกพันหรือสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเข้าป่า เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เรื่องในป่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันอยู่ทุกที่ คุณนั่งรถเมล์ออกจากบ้าน เจอมลภาวะจากฝุ่นจากการก่อสร้าง เดินข้ามสะพานผ่านคลองที่มีกลิ่น นั่นก็คือปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหตุการณ์จริงที่เราจะไปสร้างให้เกิดความตระหนักในจิตสำนึกของเยาวชนได้”
“การเข้าค่ายเพาเวอร์กรีนทำให้ได้รู้จักเพื่อนเยอะมาก ได้ประสบการณ์แปลกใหม่ อย่างโครงงานวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม เราก็ไม่เคยทำมาก่อน เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมกันคิดแบบจริงจังกับเพื่อนที่มีอุดมการณ์ใกล้ๆ กัน ว่าจะทำยังไงให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น รวมถึงได้ไปลงพื้นที่อย่างจริงจังด้วยค่ะ”
“ค่ายนี้เป็นค่ายที่สามารถทำให้เรารักษาธรรมชาติที่ยังคงมีอยู่ในโลกของเราให้ดียิ่งขึ้นได้ ผมได้ความรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งเรื่องการลดมลพิษ ความหลากหลายทางชีวภาพ ถ้าไม่ได้มาค่ายนี้ก็จะไม่รู้ซึ้งว่าความหลากหลายทางชีวภาพคืออะไร แล้วเราสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดได้”
“การมาค่ายนี้ทำให้ผมตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทุกวันนี้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายไปมากมายจากการดำเนินไปของกิจวัตรประจำวันของมนุษย์”
“ผมได้รู้จักเพื่อนใหม่ ได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ เขาสอนให้เรารู้จักตนเองด้วยครับ”
นี่คือความจริงใจจากปากคำของเยาวชนเพาเวอร์กรีน เสียงเหล่านี้อาจไม่ใช่คำสัญญา แต่มันคือความเชื่อ ว่าเมล็ดพันธุ์แห่งจิตสำนึกดีเพื่อสิ่งแวดล้อมได้เจริญงอกงามแล้ว ณ ค่ายเพาเวอร์กรีนแห่งนี้
ขอขอบคุณคำให้สัมภาษณ์จาก
– ณัฐเศรษฐ์ กั่วพานิช / ม.4 / โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย จังหวัดตรัง
– จิรภัทร ฐิติภัค / ม.5 / โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร
– ณัฐพงษ์ แสนเขียววงศ์ / ม.5 / โรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา
– กิตติภูมิ ตรีสาม / ม.5 / โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา
– วรากร เติมสายทอง / ม.5 / โรงเรียนสมุทรสาครวุฒิชัย จังหวัดสมุทรสาคร
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์