แพลตฟอร์มโซเชียลมียอดนิยมในประเทศไทยอย่าง Twitter ได้ประกาศเตรียมแบนการซื้อโฆษณาการเมืองทุกชนิดและทุกรูปแบบแล้ว เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ หลัง แจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอของ Twitter ได้ออกมาประกาศข่าวดังกล่าวบนแอ็กเคานต์ส่วนตัวของเขา (@jack)
ซีอีโอ Twitter ให้เหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจแบนการซื้อโฆษณาการเมืองว่า เป็นเพราะเขาเชื่อว่า ‘สารทางการเมือง’ ที่จะสื่อออกไปและเข้าถึงผู้คนจำนวนมากควรจะเป็นไปโดยธรรมชาติหรือความน่าสนใจของตัวมันเอง ไม่ใช่เพราะ ‘การใช้เงินทุ่มซื้อ’
“โดยปกติแล้วการโปรโมตหรือการสื่อสารด้วยทวีตข้อความทางการเมืองจะได้รับรีชก็ต่อเมื่อผู้คนกดติดตามหรือรีทวีตนั้นๆ แต่การซื้อโฆษณาเพื่อหวังยอดรีชคือการข้ามขั้นตอนการตัดสินใจดังกล่าว และยังเข้าข่ายการบังคับการเพิ่มประสิทธิภาพในการกระจายสารนั้นๆ ออกไป รวมถึงการส่งข้อมูลทางการเมืองแบบกำหนดกลุ่มเป้าหมายไปยังผู้คน
“เราเชื่อว่าการตัดสินใจเรื่องการเมืองไม่ควรจะใช้ ‘เงิน’ มาเป็นหนึ่งในปัจจัยชี้วัด โดยเฉพาะในวันที่โฆษณาบนอินเทอร์เน็ตทรงอิทธิพลและมีประสิทธิภาพมากๆ เนื่องจากอำนาจเหล่านั้นจะนำมาซึ่งความสุ่มเสี่ยงในเชิงการเมืองที่อาจจะกลายเป็นการชี้นำการลงคะแนนเสียง และในท้ายที่สุดมันจะมีผลกระทบกับชีวิตของผู้คนอีกหลายล้านคน”
หลังการประกาศนี้ดอร์ซีย์ยังบอกอีกด้วยว่า Twitter จะประกาศนโยบายที่ควบคุมการซื้อโฆษณาการเมืองในฉบับสมบูรณ์อย่างเป็นทางการออกมาในวันที่ 15 พฤศจิกายน เนื่องจากยังมีกฎระเบียบบางส่วนที่อยู่ในข้อยกเว้น เช่น การซื้อโฆษณาเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนออกไปใช้สิทธิออกเสียง ยังเป็นรูปแบบการซื้อโฆษณาการเมืองที่ได้รับการอนุโลมให้ทำได้อยู่
ก่อนจะเริ่มบังคับใช้นโยบายจริงในวันที่ 22 พฤศจิกายน โดยในระหว่างนี้ผู้ที่ซื้อโฆษณาโปรโมตทั้งหลายจะได้รับการแจ้งเตือนก่อนที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะเริ่มมีผลบังคับใช้จริง
หลังการประกาศข่าวนี้ออกมาทำให้หลายฝ่ายเพ่งเล็งไปยัง Facebook พอสมควร เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าแพลตฟอร์มของพวกเขามีขนาดใหญ่กว่า Twitter มากๆ รวมถึงจำนวนผู้ใช้งานที่ยังสูงกว่า แต่กลับไร้ซึ่งความเคลื่อนไหวหรือการประกาศแผนดำเนินงานใดๆ ในการแบนซื้อโฆษณาการเมือง
แถมยังมีรายงานเพิ่มเติมที่ระบุอีกด้วยว่าในการประชุมทางไกลเพื่อแจ้งรายงานผลประกอบการบริษัทในช่วงไตรมาส 3 นี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Facebook ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าสาเหตุที่พวกเขาไม่ยอมแบนโฆษณาการเมืองเพราะสนใจ ‘เงิน’ และโมเดลธุรกิจมากกว่าว่าไม่เป็นความจริง
เพราะจริงๆ แล้วเม็ดเงินที่พวกเขาได้รับจากโฆษณาการเมืองนับเป็นสัดส่วนที่น้อยมากๆ (ตามคำกล่าวอ้างของซักเคอร์เบิร์ก) และยังมีการประเมินล่วงหน้าอีกด้วยว่าตลอดทั้งปี 2020 ซึ่งเป็นปีเลือกตั้งสหรัฐฯ พวกเขาจะมีรายได้จากโฆษณาการเมืองคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% จากรายได้การโฆษณาทั้งหมด
ข้อมูลจาก Kantar บริษัทวิจัยด้านสื่อโฆษณา วิเคราะห์เอาไว้ว่าในช่วงเลือกตั้งสหรัฐฯ ในปีหน้านี้ แคมเปญของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ น่าจะใช้งบประมาณราว 6 ล้านดอลลาร์ในการซื้อสื่อต่างๆ เพื่อโปรโมต โดยส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่แพลตฟอร์มโทรทัศน์ ขณะที่อีก 20% หรือราว 1.2 ล้านดอลลาร์จะเป็นการซื้อโฆษณาบนช่องทางดิจิทัล
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- twitter.com/jack/status/1189634360472829952
- edition.cnn.com/2019/10/30/tech/twitter-political-ads-2020-election/index.html?utm_content=2019-10-30T20%3A10%3A03&utm_source=twCNNi&utm_term=link&utm_medium=social
- apnews.com/63057938a5b64d3592f800de19f443bc?utm_source=Twitter&utm_medium=AP&utm_campaign=SocialFlow