ที่งานเสวนา Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN วันนี้ (30 ตุลาคม) ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. (กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เปิดเผยว่า 5G จะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยช่วงปี 2563 ที่จะถึงนี้
โดยคาดการณ์กำหนดการประมูลคลื่นความถี่ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ก่อนจะเริ่มจัดส่งมอบใบอนุญาตในเดือนถัดไป เพื่อเปิดทางให้โอเปอเรเตอร์เริ่มต้นให้บริการอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกรกฎาคมปีหน้า
ซึ่งจากการที่ กสทช. ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, TDRI และ Chalmers University of Technology (สวีเดน) ให้เข้ามาศึกษาราคาเริ่มต้น (ราคากลาง) สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ที่เหมาะสมกับภาคเอกชน พบว่า
ราคาประมูลความถี่ในย่าน 2600 MHZ ซึ่งมีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 190 MHZ จะอยู่ที่ 35,370 ล้านบาท แบ่งออกเป็นใบอนุญาตจำนวน 19 ใบ (ใบละ 10 MHZ) ราคาใบละ 1,862 ล้านบาท
ขณะที่คลื่นความถี่ในย่าน 26 GHZ ซึ่งมีอยู่จำนวนทั้งสิ้น 2700 MHZ จะอยู่ที่ 8,100 ล้านบาท มีใบอนุญาตจำนวน 27 ใบ (ใบละ 100 MHZ) ตกราคาใบละ 300 ล้านบาท
“ราคาที่ประกาศออกมาเป็นราคาที่เราได้ศึกษาจากผลการประมูล 5G ทั่วโลกก่อนหน้าแล้ว เพื่อทำให้ราคาทั้งหมดสามารถทำให้ภาคเอกชนเดินหน้าต่อไปได้เร็ว” ฐากรกล่าว
ส่วนกฎกติกาในการประมูลสำหรับผู้เข้าร่วมก็จะมีการปรับเปลี่ยนด้วย โดยเปิดให้ผู้ร่วมการประมูลเริ่มต้นจ่าย 10% ในปีแรก ขณะที่ในปีที่ 2-4 จะเข้าสู่ ‘Grace Period’ หรือเปิดให้ผู้เข้าร่วมการประมูลสามารถพักชำระค่าประมูลรวม 3 ปีเต็ม และเริ่มชำระอีกครั้งในปีที่ 5-10 เฉลี่ยปีละ 15% ตลอดระยะเวลาของการถือใบอนุญาตที่ 15 ปี
ทั้งนี้ เงื่อนไขของการได้รับสิทธิดังกล่าวระบุไว้ว่า ผู้เข้าร่วมการประมูลจะต้องเข้าลงทุนในพื้นที่ EEC ไม่น้อยกว่า 50% ภายในระยะเวลา 1 ปี ควบคู่ไปกับการลงทุนในพื้นที่ Smart City ของประเทศไทย ในสัดส่วน 50% ของประชากรทั้งประเทศ ภายใน 4 ปี นอกจากนี้คลื่นความถี่ที่ประมูลไปแล้ว ก็ต้องนำไปพัฒนาเป็นเทคโนโลยี 5G เท่านั้น
โดยคณะทำงานของ กสทช. จะนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุมของอนุกรรมการกลั่นกรองงานด้านโทรคมนาคมในวันที่ 6 พฤศจิกายนนี้ รวมถึงนำเสนอต่อที่ประชุมของ กสทช. ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เพื่อนำร่างประกาศดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณชน
ด้าน พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ยืนยันว่า 5G จะต้องเกิดขึ้นให้ได้ภายในปีหน้าตามที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยให้คำมั่นสัญญาเอาไว้ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่จะส่งผลกระทบสำคัญต่ออุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศ
“เราไม่ได้เดินหน้าเข้าสู่ 5G เพราะสัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ว่าจะต้องทำให้ได้ แต่คำนึงถึงการเดินต่อไปในอนาคตข้างหน้าของประเทศไทย ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มดำเนินการทดสอบกระจายสัญญาณ 5G กันแล้ว แต่เรายังกระจายสัญญาณแค่ LTE กันอยู่ ซึ่งจะนำไปสู่ความเสียหายอย่างมหาศาลในเชิงเศรษฐกิจ
“การจะเข้าไปสู่ 5G ในวันนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องโทรคมนาคมอีกต่อไป แต่เป็น ‘มากกว่า’ แค่การติดต่อสื่อสาร เพราะ 5G เป็นตัวแปรสำคัญที่จะเข้ามาปฏิรูปอุตสาหกรรมและธุรกิจของโลกใบนี้ เราจะต้องทำ 5G ให้สำเร็จให้ได้ ไม่ใช่แค่เพื่อคนไทย แต่เพื่อผู้คนทั่วโลกที่อยากจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตและรองรับการลงทุนของโลกต่อไปให้ได้ในอีก 20 ปีข้างหน้าต่อจากนี้”
พร้อมกันนี้ พุทธิพงษ์ยังบอกอีกด้วยว่า การประมูล 5G ที่จะมีขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 นี้ จะได้เห็นหน่วยงานหลักที่อาจจะไม่เคยเข้าร่วมการแข่งขันประมูลมาก่อนอย่าง CAT และ TOT ที่ถูกผลักดันการควบรวมกิจการ โดยตนลงมาร่วมสนามประมูลคลื่น 5G กับโอเปอเรเตอร์อีก 3 รายหลักด้วย เพราะ 5G ไม่ใช่แค่เรื่องของมือถือ แต่ยังมีบทบาทกับภาคสาธารณสุข การผลิต ตลอดจนภาคสังคม
“ถ้าเรามีโอกาสนำหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ 5G ผมเชื่อว่า เราจะสามารถนำ 5G มาใช้ช่วยให้พัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้ โดยไม่ได้มองที่ผลประโยชน์เรื่องกำไรเป็นหลัก”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล