บริษัท ยู ซิตี้ (จำกัด) มหาชน และกรมศิลปากร เริ่มลงพื้นที่สำรวจทางโบราณคดีบันทึกและศึกษารายละเอียดด้านสถาปัตยกรรมของอาคารศุลกสถาน (The Custom House) หรือโรงภาษีร้อยชักสามบนที่ราชพัสดุเนื้อที่ 5 ไร่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อดำเนินการเนรมิตอาคารประวัติศาสตร์อายุกว่า 130 ปีให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ย่านเจริญกรุงแล้ว
เนื่องจากการลงนามข้อตกลง ‘โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุแปลงที่ตั้งโรงภาษีร้อยชักสาม’ ระหว่างกระทรวงการคลังและยู ซิตี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โครงการพัฒนาโรงภาษีร้อยชักสาม ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากกองโบราณคดี กรมศิลปากร เริ่มต้นขั้นตอนการขุดค้นทางโบราณคดีโดยรอบพื้นที่ เพื่อสเกตช์ภาพบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และรูปแบบโครงสร้างดั้งเดิมของตัวอาคารโดยละเอียด
ทั้งนี้ คาดว่าการสำรวจดังกล่าวจะเสร็จสิ้นต้นปี พ.ศ. 2563 โดยข้อมูลจากการสำรวจและโครงสร้างเดิมที่ค้นพบจากการขุดค้นจะถูกนำมาใช้อ้างอิงสำหรับการบูรณะอาคารโบราณสถาน และก่อสร้างอาคารใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายในพื้นที่ในอนาคต ส่วนการดำเนินงานบูรณะซ่อมแซมอาคารและพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในปี พ.ศ. 2568 หรืออีก 6 ปีต่อจากนี้ โดยใช้งบลงทุนกว่า 4,600 ล้านบาทบนพื้นที่ทั้งหมดรวม 5 ไร่
คีรี กาญจนพาสน์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “อาคารศุลกสถานหรือโรงภาษีร้อยชักสาม ถือเป็นอาคารเก่าแก่ซึ่งอยู่คู่กับย่านเจริญกรุงริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาอย่างยาวนาน และเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองทั้งในด้านของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในอดีต โดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
“ยู ซิตี้ จะสนับสนุนการดําเนินการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูอาคารอันทรงคุณค่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานแห่งนี้ให้มีประโยชน์ และทรงคุณค่าสําหรับคนรุ่นต่อไป โดยจะเน้นการพัฒนาฟื้นฟูอาคารอนุรักษ์เดิมแบบร่วมสมัย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนได้มาชื่นชมความสวยงามในอดีตของริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้น”
สำหรับโรงภาษีร้อยชักสาม (อาคารศุลกสถาน) หรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ ‘สถานีดับเพลิงบางรัก’ ตั้งอยู่ในซอยเจริญกรุง 36 ถนนเจริญกรุง แขวงบางรัก เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ออกแบบและก่อสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2427-2431 ด้วยฝีมือของสถาปนิกและช่างรับเหมาชาวอิตาเลียน ‘โยอาคิม แกรซี (Joachim Grassi)’
ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมพาลลาเดียน (Palladianism) ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญซึ่งอยู่คู่กับชุมชนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นระยะเวลายาวนาน และบอกเล่าเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์การค้าขาย รวมถึงสถาปัตยกรรม วิถีชีวิต และการผสมผสานของวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2502 สถานที่แห่งนี้ถูกปรับเป็นที่ทำการสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก อยู่เป็นระยะเวลายาวนานกว่า 60 ปี ก่อนจะย้ายออกไป
ปัจจุบันตัวอาคารถูกปิดการเข้าใช้งาน และอยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยมีโครงสร้างส่วนหนึ่งชำรุดผุพัง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์