ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ใกล้เคียงกับขนาดพื้นที่ของกรุงเทพมหานครได้แตกออกจากหิ้งน้ำแข็ง Amery ในแอนตาร์กติกา เมื่อวันที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
โครงการสำรวจโลกของสหภาพยุโรป (European Union Earth Observation Program) ระบุว่า ก้อนน้ำแข็งขนาดใหญ่ดังกล่าวถูกตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า D-28 มีขนาด 1,636 ตารางกิโลเมตร มีความหนา 213 เมตร และมีน้ำแข็งอัดแน่นกว่า 3.14 แสนล้านตัน
การแยกตัวของน้ำแข็งจากหิ้งน้ำแข็ง Amery ในครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 50 ปี โดยก่อนหน้านี้ในปี 1963-1964 เคยมีก้อนน้ำแข็งขนาด 9,000 ตารางกิโลเมตรแยกตัวออกมาแล้ว
ศาสตราจารย์เฮเลน ฟริกเกอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาน้ำแข็งและธารน้ำแข็ง เคยพยากรณ์เมื่อปี 2002 ว่า ก้อนน้ำแข็งดังกล่าวจะต้องแตกและแยกตัวออกมาในปี 2010 และ 2015 เนื่องจากเป็นวงจรของหิ้งน้ำแข็งที่จะมีการแยกตัวครั้งใหญ่ในทุก 60-70 ปี
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากยังไม่สรุปว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ แต่เป็นกังวลกับการเดินทางของก้อนน้ำแข็ง เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อการเดินเรือได้
ภาพ: Damerau / Shutterstock
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: