×

พาณิชย์เผย ส่งออกไทยสิงหาคม 62 ติดลบ 4% ฉุด 8 เดือนแรกปีนี้ ติดลบ 2.2%

20.09.2019
  • LOADING...

กระทรวงพาณิชย์ประกาศการส่งออกไทยเดือนสิงหาคม 2562 มูลค่า 21,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 4.0% ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออก 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ปีนี้ ของไทยหดตัว 2.2% เพราะการเร่งส่งออกในเดือนก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบสงครามการค้า (Trade War) ขณะเดียวกัน Trade War ทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยชะลอตัวสูง ได้แก่ 

  • ตลาดอาเซียน -5 ที่หดตัว 24.6%
  • ตลาด CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) หดตัว 22.7%
  • เอเชียใต้ หดตัว 20.0%
  • ตลาดอินเดีย หดตัว 18%

 

นอกจากนี้สินค้าเกษตรยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ สินค้าเกษตรมีอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก (ล้นตลาด) และเงินบาทที่แข็งค่ากดดันต่อการส่งออกสินค้าเกษตรในเดือนนี้ แม้ว่าการส่งออกไทยไปตลาดสหรัฐฯ ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลางยังขยายตัว แต่ภาพรวมการส่งออกตลาดหลักของไทยในเดือนสิงหาคมปี 2562 ยังหดตัว 0.1%

 

ทั้งนี้ สินค้าเกษตรที่หดตัว ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา กุ้งสดแช่แข็ง และกุ้งแปรรูป เครื่องดื่ม ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋อง และแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ยังขยายตัวได้ดี ทั้งด้านปริมาณและราคา อย่างไรก็ตาม 8 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 2.2%

 

ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาหดตัว 1.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว

 

ในขณะที่สินค้าที่ยังขยายตัวได้ดี ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ ทองคำ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ ในภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 1.5%

 

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออกในครึ่งปีหลังให้สามารถขยายตัวได้ที่ 3.0% ผ่านการรักษาตลาดการส่งออกเดิม และขยายตลาดส่งออกใหม่ เช่น ตลาดจีน ตลาดอาเซียน ตลาด CLMV ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการส่งออกช่วงที่เหลือของปี 2562 ยังต้องจับตามองความเสี่ยงสงครามการค้า การชะลอตัวเศรษฐกิจโลก และการแข็งค่าเงินบาท 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X