สิงหาคมปีที่แล้ว Facebook ได้เปิดตัว ‘Facebook Watch’ หน้าฟีดรวบรวมเฉพาะคอนเทนต์ประเภทวิดีโอที่มีเนื้อหาหลากหลายจากผู้ผลิตคอนเทนต์ทั่วโลกเป็นครั้งแรก และนับว่ามีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้งานแพลตฟอร์มไปพอสมควร
เพราะในช่วงเดือนธันวาคม 2018 ที่ผ่านมา พบว่า Facebook Watch มีผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 400 ล้านราย (คิดเป็น 17% ของจำนวนผู้ใช้งาน Facebook ทั้งหมดในช่วงเวลาดังกล่าว) แต่ละวันมีจำนวนคนรับชมคอนเทนต์วิดีโอบนพื้นที่ดังกล่าวเฉลี่ย 75 ล้านราย ในจำนวนนี้มีระยะเวลาการรับชมอย่างน้อย 1 นาที
1 ปีผ่านไปนับจนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2019) สถิติตัวเลขดังกล่าวก็เติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยทุกวันนี้ Facebook Watch มีผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 720 ล้านราย เฉลี่ยในแต่ละวันมีผู้ใช้งานมากกว่า 140 ล้านราย ส่วนระยะเวลาการชมวิดีโอก็อยู่ที่มากกว่า 26 นาทีในแต่ละวัน
พาเรช ราชวัต ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์วิดีโอของ Facebook บอกว่าส่ิงที่ทำให้ Facebook Watch ต่างจากแพลตฟอร์มวิดีโอของผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ คือการสร้างเครื่องไม้เครื่องมือและการออกแบบฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานเกิดการสร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้ใช้งานคนอื่นๆ ในชุมชนผ่านคอนเทนต์วิดีโอนั้นๆ
โดยเฉพาะฟีเจอร์ ‘Watch Party’ ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถชวนเพื่อนๆ ที่มีความสนใจในเรื่องราวใกล้เคียงกันมาร่วมกันดูคอนเทนต์วิดีโอที่น่าสนใจด้วยกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้ใช้งานที่ดีกว่าการแชร์คอนเทนต์วิดีโอแบบปกติ โดยสถิติระบุว่า Watch Party ช่วยให้จำนวนการแสดงความคิดเห็นเพิ่มขึ้นจากปกติถึง 8 เท่า
นอกจาก Watch Party แล้ว Facebook ก็ยังต่อยอดไปสู่ฟีเจอร์อื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งการพัฒนาให้อัลกอริทึมในหน้า Facebook Watch เลือกนำเสนอคอนเทนต์วิดีโอที่ได้รับความนิยมในกลุ่มเพื่อนๆ (Popular with Friends) เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปรับชมวิดีโอนั้นๆ แบบไม่ตกเทรนด์ ทั้งยังขยายต่อยอดไปสู่การตั้งกรุ๊ปของคนที่ดูคอนเทนต์ดังกล่าวเพื่อพูดคุยและหารือกันต่อได้อีก
ที่น่าสนใจคือ Facebook ยังได้พัฒนาให้ Facebook Watch เป็นพื้นที่ทำรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตคอนเทนต์ตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงองค์กรสื่อผ่านเครื่องมือ ‘Ad Break’ หรือการคั่นวิดีโอด้วยโฆษณา (มี 2 รูปแบบคือ โฆษณาแทรกหลังวิดีโอเริ่มเล่น 1 นาที และ Image Ad แถบแบนเนอร์โฆษณาบนคอนเทนต์วิดีโอ)
โดยเพจ Facebook ที่จะทำ Ad Break และเริ่มสร้างรายได้จากคอนเทนต์วิดีโอจะต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ได้ระบุเอาไว้ เริ่มตั้งแต่มีผู้ติดตามอย่างน้อย 10,000 ราย และมียอดการรับชม 1 นาทีจากวิดีโอที่มีความยาวอย่างน้อย 3 นาที ครบ 30,000 ครั้งในตลอด 60 วันที่ผ่านมา ทั้งนี้สามารถเลือกคอนเทนต์วิดีโอที่จะทำ Ad Break ได้ และสามารถเลือกประเภทของโฆษณาที่ต้องการจะให้ปรากฏในคอนเทนต์ของเราได้ด้วย
นอกจากเครื่องมือช่วยสร้างรายได้ Facebook ประเทศไทย ยังได้ร่วมกับองค์กรสื่อต่างๆ ในรูปแบบพาร์ตเนอร์ชิป นำคอนเทนต์มาเผยแพร่บน Facebook Watch แบบจริงจัง เช่น ช่อง 3, ช่อง Workpoint, ช่อง one31 และ Zense Entertainment ซึ่งก่อนหน้านี้ Facebook ก็เคยผลิตออริจินัลคอนเทนต์ของตัวเองร่วมกับ MTV ออกอากาศเรียลิตี้ 12 ตอน The Real World: Bangkok มาแล้ว โดยไทยถือเป็น 1 ใน 3 ประเทศร่วมกับเม็กซิโกและสหรัฐอเมริกาที่ Facebook เลือกทดลองทำออริจินัลคอนเทนต์
ส่วนคำแนะนำที่ พาเรช ราชวัต และแมทธิว เฮนนิก หัวหน้าฝ่ายการวางแผนกลยุทธ์ด้านคอนเทนต์ Facebook ประเทศไทย (ก่อนหน้านี้เคยอยู่กับ BuzzFeed) ได้ฝากไว้ให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์วิดีโอและสื่อเจ้าต่างๆ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ ได้รับทั้งเอ็นเกจเมนต์ที่สูงและทำรายได้มหาศาลคือ
1. คอนเทนต์ควรจะมีความยาวอย่างน้อย 3 นาทีขึ้นไป ยิ่งนานยิ่งดี แต่ก็ต้องมีคุณภาพด้วย (ทั้งนี้ทีม Facebook บอกว่าคอนเทนต์ที่สั้นกว่า 3 นาทีอาจจะมีเอ็นเกจเมนต์ดีก็ได้ ขึ้นอยู่กับประเภทเนื้อหา แต่อาจจะทำ Ad Break ไม่ได้)
2. เนื้อหาในวิดีโอต้องมีความออริจินัลและ ‘Relevant’ สร้างความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่มคนดูได้ ทำให้คนดูรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในวิดีโอ
3. ก่อนจะทำวิดีโอ ต้องคิดไว้เสมอว่าจะทำอย่างไรให้คนกลับมาดูวิดีโอของเราบ่อยๆ จนติดเป็นนิสัย และเกิดเอ็นเกจเมนต์เป็นประจำ
4. หมั่นทำคอนเทนต์ให้สม่ำเสมอ เพราะจะช่วยเพิ่มช่องทางและเข้าถึงคนดูได้ดียิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์