เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (10 ก.ย.) เหรินเจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทหัวเว่ย ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร The Economist ถึงประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหัวเว่ย ทั้งเทคโนโลยี 5G ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ผลกระทบจากความบาดหมางกับสหรัฐฯ และนวัตกรรม 6G ที่บริษัทกำลังซุ่มพัฒนาอยู่
เหรินเจิ้งเฟย บอกระหว่างให้สัมภาษณ์กับ The Economist ว่า 5G เป็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่ให้ความเร็วสูง แต่มีความหน่วงที่ต่ำ และจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยบ่งชี้ถึงความเร็วของสังคมที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล ซึ่งเขาเชื่อว่าประเทศใดก็ตามที่ได้เปรียบ ‘ด้านความเร็ว’ ของข้อมูลก็มีสิทธิ์ที่จะพัฒนาและก้าวไปข้างหน้าได้เร็วกว่า
“เราอยากช่วยเพิ่มความเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศตะวันตก ดังนั้นเรากำลังคิดที่จะขายใบอนุญาตในการเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ของเราทั้งหมดเพื่อช่วยให้กระบวนการพัฒนานี้ทำได้ง่ายขึ้นด้วยการจ่ายค่าใบอนุญาตเพียงครั้งเดียว ผู้ซื้อจะสามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งหมด ทั้งสิทธิบัตร ใบอนุญาต โค้ด และบลูปรินต์ทางเทคนิคของ 5G ของบริษัท
“บริษัทที่ซื้อ 5G ของหัวเว่ยไปสามารถแก้ไขโค้ดเอง รวมถึงพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ของตัวเองได้โดยอาศัยเทคนิคการผลิตเทคโนโลยีที่ได้รับใบอนุญาตไป เพราะความปรารถนาของเราคือการให้บริการแก่มวลมนุษยชาติและไปให้ถึงจุดสุดยอดทางด้านวิทยาศาสตร์ การทำงานร่วมกันเป็นค่านิยมที่เรายึดมั่นมาตลอด เราจึงยินดีที่จะขายใบอนุญาตสำหรับอุปกรณ์ของเราให้แก่ประเทศตะวันตก”
ทั้งนี้ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยมองว่าการขายใบอนุญาตเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะหยุดพัฒนา 5G ตรงกันข้าม เขาเชื่อว่าเงินที่บริษัทได้มาจะสามารถนำไปต่อยอดเพื่อช่วยให้หัวเว่ยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ได้เร็วขึ้นกว่าเดิม รวมถึงเทคโนโลยี 6G ที่ตอนนี้บริษัทเริ่มคิกออฟพัฒนาแล้ว และคาดว่าการพัฒนา 6G เพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์น่าจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี
ส่วนประเด็นความบาดหมางกับสหรัฐฯ จนทำให้หัวเว่ยถูกขึ้นบัญชีดำห้ามบริษัทในสหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจด้วย เหรินมองว่าตัวเทคโนโลยี 5G ไม่ควรจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับประเด็นการเมืองหรือสิ่งที่ ‘อันตราย’ แต่ให้มองถึงประโยชน์จากการช่วยพัฒนาประเทศมากกว่า
“หากเราส่งต่อเทคโนโลยีให้สหรัฐฯ พวกเขาก็สามารถแก้ไขโค้ดเองได้ ไม่ว่าหัวเว่ยหรือใครก็ตามก็จะไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อีกต่อไป สหรัฐฯ จะได้มี 5G ที่เป็นอิสระ ความปลอดภัยจะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปตราบเท่าที่สหรัฐฯ สามารถจัดการบริษัทของตนเองได้อย่างไร้ข้อบกพร่อง
“สำหรับหัวเว่ย ความปลอดภัยในโลกไซเบอร์และการปกป้องความเป็นส่วนตัวเป็นสองสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด หัวเว่ยมุ่งมั่นปฏิบัติตามข้อบังคับของกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR) ในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจ เรากำลังทุ่มงบมหาศาลไปกับการอัปเกรดเครือข่ายที่มีอยู่ พร้อมๆ ไปกับสร้างเครือข่ายใหม่
“ตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ให้บริการเครือข่ายครอบคลุมกว่า 170 ประเทศ รองรับผู้ใช้งานกว่า 3 พันล้านคนทั่วโลก เรามีสถิติด้านความปลอดภัยที่พิสูจน์ได้ เราไม่เคยมีเหตุขัดข้องด้านความปลอดภัยครั้งใหญ่เลยแม้แต่ครั้งเดียว ผมคิดว่าผลงานที่ปรากฏอยู่จะเป็นตัวพิสูจน์เอง” เหรินเจิ้งเฟยกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์