ทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทั่วโลก ล่าสุดราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นกว่า 10% เพราะโรงน้ำมัน 2 แห่งที่ซาอุดีอาระเบียถูกโจมตีทำให้การผลิตน้ำมันลดลง 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลายคนเลยกังวลว่าน้ำมันโลกจะขาดตลาดไหม และกระทบกับประเทศไทยอย่างไร
ราคาน้ำมันโลกพุ่ง ไทยเสี่ยง 3 ด้าน ค่าเงินอ่อน-เศรษฐกิจ-น้ำมันขึ้น?
อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวกับ THE STANDARD ว่า จากราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้น ถือเป็นความเสี่ยง และอาจส่งผลกระทบต่อไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าลง เนื่องจากไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิ เมื่อราคาน้ำมันขยับขึ้น ไทยต้องนำเงินดอลลาร์สหรัฐจ่ายออกไปต่างประเทศมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจทำให้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดน้อยลง และส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้
2) มีความเสี่ยงที่กระทบเศรษฐกิจไทย ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและขนส่ง ซึ่งต้นทุนหลักคือค่าน้ำมัน เช่น ธุรกิจสายการบิน โรงแรม ฯลฯ ซึ่งหากควบคุมต้นทุนได้จะลดผลกระทบราคาน้ำมันได้ในวงกว้าง
และ 3) ราคาน้ำมันโลกหากเพิ่มขึ้นในระยะยาว จะส่งผลให้ราคาน้ำมันในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่อาจจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะต้องแบ่งเบาผลกระทบทั้งเครือข่ายผู้ผลิต รัฐบาลที่มีกองทุนน้ำมัน ผู้บริโภคซึ่งจะทยอยส่งผ่านกันมา
ดังนั้นราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น และในอนาคตคาดว่าราคาน้ำมันโลกจะปรับลดลงตามปัจจัยโลก โดยเฉพาะเรื่องอุปสงค์ (Demand) อุปทาน (Supply) ที่เกิดขึ้นจริงในโลกมากกว่า
ถ้าซาอุฯ กลับมาผลิตไม่ทัน น้ำมันโลกจะขาดตลาดจริงไหม?
อมรเทพ มองว่า ราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวขึ้นมากกว่า 10% ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงมาก เพราะตลาดกังวลว่าจะกระทบกำลังการผลิตน้ำมันโลก แต่ระหว่างวันราคาน้ำมันโลกทยอยปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 10% แล้ว ดังนั้นผลกระทบจากการโจมตีโรงน้ำมันอาจสร้างผลกระทบต่อราคาน้ำมันโลกในระยะสั้น แต่ต้องจับตาความเคลื่อนไหวทางยุโรปในคืนนี้ รวมถึงการตอบโต้ของซาอุดีอาระเบีย คาดว่าสถานการณ์น้ำมันโลกน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในสัปดาห์นี้ (16-20 ก.ย. 2562)
“จากข่าวการโจมตีโรงน้ำมันซาอุดีอาระเบียอาจจะกระทบกำลังการผลิต 50% ของซาอุฯ แต่ปัญหาใหญ่ของตลาดน้ำมันตอนนี้คือ Over Supply มากกว่า เพราะทั้งสหรัฐฯ จีน สต๊อกน้ำมันยังมากอยู่ ดังนั้นปัญหาน้ำมันขาดตลาดไม่ใช่ปัญหาที่กระทบหลายประเทศ ซึ่งดีมานด์น้ำมันในโลกยังชะลอตัวเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอการเติบโตจากสงครามการค้าที่เกิดขึ้น”
ทั้งนี้มองว่าปัญหาน้ำมันขาดตลาดเกิดขึ้นได้ยาก เพราะทั้ง OPEC และ Non-OPEC หรือประเทศอย่างรัสเซีย พร้อมขยายการผลิตน้ำมันเพิ่มได้ หากมีความร่วมมือระหว่างกันจะไม่เกิดปัญหาน้ำมันขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ต้องจับตามองว่าความเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบียอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวหากเกิดสงครามด้านน้ำมันจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ขนส่ง ซึ่งเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทยช่วงนี้
“ปัญหาน้ำมันตอนนี้เป็นเรื่องอุปทานที่มากเกินความต้องการของตลาด เพราะตอนนี้อุปสงค์น้ำมันทั่วโลกลดลงจากเศรษฐกิจชะลอตัวจากความมั่นคง สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งอาจกระทบต่อราคาน้ำมันได้ ทั้งนี้หากอุปสงค์มากขึ้น อุปทานยังขยายมาเพิ่มได้”
น้ำมันขึ้น ธุรกิจไทยใครได้-ใครเสียประโยชน์?
ข้อดีที่ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง และราคาสินค้าเกษตรที่ใช้ทดแทนน้ำมัน เช่น ยางพารา ปาล์ม ฯลฯ อาจจะเห็นราคาขยับขึ้นตามราคาน้ำมัน แต่เป็นการขยับขึ้นแค่ชั่วคราว เพราะกำลังซื้อยังอ่อนแอ
อย่างไรก็ตาม ข้อเสียที่เกิดขึ้นมีมากกว่าข้อดี หากเกิดสงครามน้ำมันขึ้นอาจส่งผลให้ไทยเกินดุลบัญชีน้อยลง และแม้ว่าเงินบาทอาจจะอ่อนลง แต่เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัวก็ไม่สามารถส่งออกสินค้าได้มากเช่นกัน นอกจากนี้ต่างชาติอาจมองว่าไทยเป็น Regional Safe haven น้อยลง
ข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า 3 กลุ่มหุ้นที่เสียประโยชน์จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนหลักคือน้ำมัน ได้แก่
1. กลุ่มสายการบิน หากราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้นเป็น 60-65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลจะกระทบต่อสายการบิน เพราะช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบอยู่ต่ำกว่า 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยหุ้นที่อาจได้ประโยชน์จากน้ำมันที่ยังไม่ทำสัญญาล่วงหน้า เช่น AAV, BA และ THAI
2. กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อต้นทุนพลังงานอื่นๆ เช่น ถ่านหิน, ค่าไฟฟ้า, ก๊าซธรรมชาติ ปรับตัวขึ้นตาม โดยบริษัทที่จะเสียประโยชน์ คือ TASCO ที่ใช้น้ำมันดิบในการผลิตยางมะตอย ธุรกิจปูนซีเมนต์มีต้นทุนพลังงานประมาณ 60% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ส่วนธุรกิจกระเบื้อง เช่น DCC อาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากค่าขนส่ง สัดส่วนราว 7% ของยอดขาย
3. กลุ่มขนส่ง โลจิสติกส์ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น ดังนั้นอาจจะเป็น Sentiment เชิงลบต่อ WICE และ JWD
ราคาน้ำมันขึ้น ดันหุ้นกลุ่มน้ำมัน-โรงกลั่น-ยางพาราขาขึ้น
บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า วันที่ 16 ก.ย. 2562 ดัชนีหุ้นไทย (SET Index ) ปรับตัวสูงขึ้น พราะราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีที่มีสัดส่วนราว 25% ของ SET Index ขยับเพิ่มขึ้น และส่งผลดีกับหลายกลุ่มหุ้น ได้แก่
1. กลุ่มนํ้ามัน อย่าง PTT มีโอกาสบันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมัน หากราคาน้ำมันดิบกลับมายืนเหนือ 62-65 ดอลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะได้กำไรของบริษัทลูก ทั้งในกลุ่มโรงกลั่น และ PTTEP ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่แข็งค่าจะทำให้ PTTEP ประหยัดค่าใช้จ่ายทางภาษี
2. กลุ่มโรงกลั่น หากราคาน้ำมันดิบกลับไปยืนเหนือ 62-65 ดอลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ต่อเนื่องถึงสิ้นเดือน ก.ย. จะมีโอกาสบันทึกกำไรจากสต๊อกน้ำมัน จึงถือเป็น Sentiment เชิงบวกต่อ TOP, BCP, PTTGC และ IRPC
3. กลุ่มยางพารา ได้ประโยชน์ทางอ้อมเพราะราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคายางสังเคราะห์ ที่เป็นสินค้าทดแทนยางธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการผลิตยางรถยนต์ปรับสูตรมาใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น และเป็นบวกต่อราคายางพาราจึงเป็น Sentiment บวกระยะสั้นต่อ STA เพราะเป็นผู้ประกอบการยางพารารายใหญ่สุดของโลก
อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่
โดรนโจมตีโรงน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย ทำให้ผลิตลดลง 5.7 ล้านบาร์เรล/วัน ราคาน้ำมันดิบพุ่งกว่า 10%
thestandard.co/drone-attacks-on-saudi-arabian-oil-field/
ราคาน้ำมันพุ่งแรงจากเหตุโจมตีโรงน้ำมันซาอุฯ, Fed เตรียมประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์นี้ คาดลดดอกเบี้ยเพิ่ม: 5 ปัจจัยที่นักลงทุนต้องรู้ (16 ก.ย. 2562)
thestandard.co/finnomena16092019/
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์