อิหร่าน กลุ่มฮูตี เยเมน และซาอุดีอาระเบียเป็นตัวละครที่ถูกนำมาเชื่อมโยงกับเหตุโจมตีแหล่งน้ำมันในตะวันออกกลาง และเรือบรรทุกน้ำมันบริเวณช่องแคบฮอร์มุซในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ รวมถึงเหตุการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กันยายน ที่มีการส่งโดรนโจมตีโรงน้ำมันในเมืองอับกาอิก และบ่อน้ำมันคูไรส์ของซาอุดีอาระเบีย จนสะเทือนปริมาณอุปทานน้ำมันกว่า 5% ของโลก
โรงน้ำมันปิโตรเลียมที่ถูกโจมตีจนไฟลุกท่วมอย่างหนัก เป็นของ Saudi Aramco บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของทางการซาอุฯ ซึ่งทำให้บริษัทสูญเสียกำลังการผลิตน้ำมัน 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นปริมาณ 50% ของการผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียต่อวัน
ความตื่นตระหนกที่มีต่อภาวะอุปทานน้ำมันทั่วโลก ส่งผลให้สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนตุลาคม พุ่งขึ้น 11% แตะระดับ 60.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อวันอาทิตย์ ขณะที่น้ำมันดิบเบรนท์พุ่งขึ้น 19% แตะระดับ 71.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนจะย่อตัวลงบวก 13% แตะ 67.86 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ถึงแม้กลุ่มติดอาวุธฮูตีที่ปฏิบัติการอยู่ในเยเมนจะกล่าวอ้างความรับผิดชอบว่าเป็นคนบังคับโดรนโจมตีแหล่งน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย แต่สหรัฐฯ ยังปักใจเชื่อว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลัง เหมือนกับเหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งน้ำมันของต่างชาติในช่วงหลัง
แน่นอนว่าเรื่องที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านที่บาดหมางกันอยู่แล้ว ยิ่งร้าวฉานหนักขึ้นไปอีก ขณะที่นักวิเคราะห์ในต่างประเทศเชื่อว่า การโจมตีครั้งนี้อาจเป็นชนวนหรือจุดเปลี่ยนสำคัญสู่การเผชิญหน้าทางทหารในตะวันออกกลาง
หลังจากเกิดเหตุโจมตี กลุ่มฮูตีอ้างว่าได้ส่งโดรน 10 ลำออกไปโจมตีเป้าหมายในอับกาอิก รวมถึงบ่อน้ำมันคูไรส์ของซาอุดีอาระเบีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้แค้นซาอุดีอาระเบียที่ส่งทหารเข้าไปแทรกแซงสงครามกลางเมืองในเยเมนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2015
อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย ไม่เชื่อว่ากลุ่มฮูตี ซึ่งกำลังถูกกวาดล้างในฐานะกลุ่มกบฏต่อรัฐบาลเยเมนจะมีอาวุธทันสมัยที่สามารถทะลุทะลวงแนวป้องกันของซาอุฯ ได้ แต่หากเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างจริง ย่อมสะท้อนให้เห็นขีดความสามารถทางการทหารของกลุ่มฮูตีที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มฮูตีเคยส่งโดรนหรือยิงขีปนาวุธพิสัยใกล้เข้าไปทำลายเป้าหมายในเขตแดนของซาอุดีอาระเบียหลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่ถูกสกัดกั้นด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศของซาอุฯ หรือมีบางส่วนที่ตกพื้นโดยไม่เป็นอันตราย
ด้วยเหตุนี้ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ จึงโยงเรื่องที่เกิดขึ้นว่าเป็นฝีมือของอิหร่าน โดยระบุว่า ไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นนั้นมาจากดินแดนของเยเมน
ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทวีตข้อความว่า สหรัฐฯ มีเหตุผลที่จะเชื่อว่าใครอยู่เบื้องหลังการโจมตีโรงน้ำมันของซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ และพร้อมจะดำเนินการตอบโต้หากมีการยืนยันข้อเท็จจริงแล้ว โดยทรัมป์ใช้คำว่า ‘Locked and Loaded’ หรือบรรจุกระสุนพร้อมยิงนั่นเอง
เหตุผลที่สหรัฐฯ เชื่อเช่นนั้น เพราะโดรนของฮูตีจำนวนหนึ่งมาจากอิหร่าน หรือต่อยอดจากโมเดลของอิหร่าน ซึ่งส่วนใหญ่พัฒนามาจากเทคโนโลยีของเกาหลีเหนือ มีพิสัยบินระยะสั้น ไม่เกิน 300 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติเคยออกรายงานเตือนว่า ปัจจุบันฮูตีได้นำโดรนที่มีพิสัยทำการไกลกว่าเข้าประจำการ ซึ่งจะช่วยให้กองกำลังฮูตีสามารถโจมตีเป้าหมายลึกเข้าไปในดินแดนของซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยข้อมูลพบว่ามีโดรนลำหนึ่งเคยตกห่างจากกรุงริยาดไม่ถึง 30 กิโลเมตร
สำหรับโดรนที่ใช้โจมตีโรงน้ำมันซาอุดีอาระเบียแบบคามิกาเซนั้น เชื่อว่าน่าจะเป็นระบบ UAV-X ที่มีพิสัยทำการระหว่าง 1,200-1,500 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับกระแสลม ทว่าระยะทางระหว่างเยเมนถึงเมืองอับกาอิก ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงน้ำมันซาอุฯ นั้น อยู่ที่ 1,300 กิโลเมตร ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่โดรนอาจถูกปล่อยมาจากดินแดนเยเมนตามที่กลุ่มฮูตีกล่าวอ้าง ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด
นอกจากโดรนแล้ว รัฐบาลสหรัฐฯ ยังเผยแพร่ภาพถ่ายที่บ่งชี้ว่า โรงน้ำมันอาจถูกโจมตีด้วยจรวดร่อนที่ปล่อยออกมาจากอิหร่านหรืออิรักด้วย
แหล่งข่าวในสหรัฐฯ เผยกับ CNN ว่า จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับบ่งชี้ว่า โดรนหรือจรวดร่อนไม่ได้ถูกปล่อยมาจากเยเมน แต่อาจมาจากอิรัก ส่วนแหล่งข่าวอีกแหล่งในตะวันออกกลางให้ข้อมูลว่า ถึงแม้ตอนนี้ยังไม่มีข้อพิสูจน์ชี้ชัด แต่มีการสันนิษฐานเบื้องต้นว่า การโจมตีครั้งนี้มาจากทางใต้ของประเทศอิรัก
อย่างไรก็ตาม จาวาด ชาริฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่าน ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว รวมทั้งกล่าวหาปอมเปโอว่าโกหก และเตือนว่าการกล่าวโทษอิหร่านกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่อาจหยุดยั้งหายนะได้
ขณะที่รัฐบาลอิรักก็ออกแถลงการณ์ปฏิเสธเช่นกันว่า ไม่มีการใช้อิรักเป็นฐานโจมตีคลังน้ำมันของซาอุดีอาระเบียแต่อย่างใด
ใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์โจมตีครั้งนี้ จึงยังเป็นเครื่องหมายคำถามที่ต้องติดตามหาคำตอบอย่างใกล้ชิด รวมทั้งรอรายงานเพิ่มเติมจากฝั่งของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดมากนัก ขณะที่ทรัมป์กำลังรอฟังข่าวจากซาอุฯ และพร้อมจะดำเนินการตอบโต้ทันที ซึ่งทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางมีแนวโน้มตึงเครียด และเสี่ยงเกิดการเผชิญหน้ากันทางทหารทุกเมื่อ
ผู้เชี่ยวชาญจาก S&P Global Platts ซึ่งเป็นบริษัทข้อมูลด้านพลังงาน เตือนว่า เหตุโจมตีครั้งนี้อาจทำให้ปริมาณน้ำมันสำรองทั่วโลกลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่บริษัท Saudi Aramco มีน้ำมันเหลือให้ส่งมอบลูกค้าตามสัญญาเพียง 35-40 วันเท่านั้น และต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนจึงจะสามารถฟื้นฟูโรงงานให้กลับมาผลิตน้ำมันได้เต็มกำลังอีกครั้ง แรงกดดันต่อภาวะอุปทานน้ำมันทำให้ทรัมป์ได้ตัดสินใจอนุมัติปล่อยน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ เพื่อบรรเทาความตึงเครียดแล้ว
แต่หากเกิดกรณีเลวร้ายถึงขั้นมีการสู้รบในตะวันออกกลาง ย่อมส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อปริมาณอุปทานน้ำมันทั่วโลก ซึ่งรุนแรงกว่าความเสียหายที่เกิดจากเหตุโจมตีแหล่งน้ำมันของซาอุดีอาระเบียหลายเท่านัก
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.aljazeera.com/news/2019/09/drone-attacks-saudi-aramco-blow-iran-tensions-190916051658838.html
- www.marketwatch.com/story/crude-prices-soar-us-stock-futures-slip-after-attacks-on-saudi-oil-facilities-2019-09-15?mod=mw_theo_homepage&mod=mw_theo_homepage
- edition.cnn.com/2019/09/15/middleeast/saudi-oil-attack-lister-analysis-intl/index.html?no-st=1568618147
- www.businessinsider.com/kamikaze-drones-believed-used-in-saudi-arabia-oil-field-strike-2019-9
- www.cnbc.com/2019/09/16/aramco-saudi-arabia-attacks-on-oil-supply-wipes-out-spare-capacity.html