เช้านี้น้ำที่บ้านยังไหล แปลว่า เราก็ยังมีน้ำใช้ คุณคิดแบบนั้นอยู่หรือเปล่า?
เราได้ยินมาตลอดว่า ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้ง เกษตรกรเดือดร้อน พืชสวนไร่นายืนต้นตาย สำหรับคนเมือง เรื่องเหล่านี้มันอาจไกลตาเกินจะมองเห็น
เรายังเห็นฝนตกหนัก น้ำท่วมทุกพื้นที่ แต่น้อยคนจะรู้ว่า ปริมาณฝนที่ตกลงมาในประเทศไทยจำนวนมากแต่กักเก็บไว้ได้เพียง 5.7% ของฝนที่ตกเท่านั้น และน้ำที่กักเก็บไว้ได้ยังบริหารจัดการน้ำได้ไม่ดี เมื่อต้นน้ำมีปัญหา ย่อมส่งผลกระทบถึงปลายน้ำไม่วันใดก็วันหนึ่ง
เพราะ TCP เชื่อว่า การแก้ปัญหาต้องเริ่มที่ต้นเหตุ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจจัดงานอาสาสมัคร ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ #1’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย’ อันเป็นโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน มุ่งเน้นการบริหารจัดการแหล่งน้ำที่หลากหลายของลุ่มน้ำไทย เพื่อเดินหน้าสร้างสมดุลน้ำ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ตั้งเป้าพัฒนาทรัพยากรน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ และจะเก็บน้ำให้ได้ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร ชุมชนและเกษตรกรที่จะได้ประโยชน์จากโครงการนี้ประมาณ 16,000 ครัวเรือน ใน 6 จังหวัด ซึ่งการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครคนเมืองได้เดินทางมาเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำ ได้เห็นปัญหาถึงพื้นที่ป่าต้นน้ำ ณ หน่วยจัดการต้นน้ำสบสายและชุมชนต้นน้ำน่าน อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และเรียนรู้วิธีเก็บน้ำด้วยวิธีการที่สร้างผลกระทบกับธรรมชาติน้อยที่สุดจากคนท้องที่ เพื่อนำมาต่อยอดหรือส่งต่อให้กับคนเมืองประยุกต์ใช้ได้
นอกจากอาสาสมัครและสื่อมวลชนที่เดินทางไปร่วมกิจกรรม ยังมีนักแสดงที่มีหัวใจรักสิ่งแวดล้อมอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ มาร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมด้วยกันตลอดทั้งทริป ในฐานะ TCP Spirit Ambassador เป็นปีที่ 2
จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ‘TCP Spirit พยาบาลลุ่มน้ำ #1’ มากกว่า 4,000 คน คัดเลือกอาสาสมัครกว่า 100 ชีวิต เพื่อเดินทางไปดูให้เห็นถึงปัญหา เรียนเพื่อรู้วิถีการใช้ชีวิตของคนต้นน้ำ ที่หน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย จังหวัดน่าน กับ TCP เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม – 2 กันยายน 2562
Day 1: เรียน…เพื่อรู้วิธีฟื้นฟูต้นน้ำ ดู…ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหา
กิจกรรมแรก อาสาสมัครจะได้ ‘เรียนรู้วิธีฟื้นฟูต้นน้ำ’ กันที่หน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย จังหวัดน่าน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนากร ลัทธิ์ถีระสุวรรณ หรือ อาจารย์แมน อาจารย์ประจำหลักสูตรบัณฑิตศึกษา (การจัดการป่าไม้) มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ และ คุณปรีชา รอดเพชร หัวหน้าหน่วยฯ เล่าเรื่องความเป็นมาของหน่วยจัดการต้นน้ำสบสาย ก่อนจะพาอาสาสมัครไปเดินป่าศึกษาธรรมชาติระยะทางไปกลับ 4 กิโลเมตร ในพื้นที่ที่เคยเป็นภูเขาหัวโล้นมาก่อน แต่หลังจากการจัดตั้งหน่วยจัดการต้นน้ำสบสายขึ้นมา ได้มีการฟื้นฟูภูเขาหัวโล้นที่เคยถูกบุกรุกทำลายจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวด้วย ‘ป่าปลูก’ ตั้งแต่ปี 2521 มีการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ปลูกพืชพื้นถิ่นเพื่อฟื้นป่า และชักชวนชาวบ้านให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลรักษาป่าต้นน้ำด้วยกัน
อาสาสมัครทุกคนไม่ได้เดินเพื่อดูเท่านั้น เพราะตลอดการเดินป่า ดร.ธนากร คอยให้ความรู้ตั้งแต่เรื่องโครงสร้างป่า หน้าที่ของป่า และกล้วยป่า พร้อมทั้งมอบภารกิจให้กับอาสาสมัครทุกกลุ่มตามหาสิ่งมีชีวิตในลำน้ำกับกิจกรรมนักสืบสายน้ำ และตักน้ำจากต้นน้ำ เพื่อมาเปรียบเทียบกับคุณภาพน้ำจากแม่น้ำน่าน
เมื่อรู้วิธีฟื้นฟูและไปดูพื้นที่จริงแล้ว ก็ถึงเวลานำสิ่งที่รู้มาปรับใช้ผ่านกิจกรรม ‘เรียนรู้แนวทางการแก้ปัญหาของคนลุ่มน้ำน่าน’ และ ‘แบ่งคนให้ได้งาน’ โดย คุณกุล ปัญญาวงศ์ ผู้อํานวยการศูนย์กสิกรรมธรรมชาติชุมชนต้นนํ้าน่าน แบ่งอาสาสมัคร TCP Spirit ออกเป็น 2 กลุ่ม เดินสำรวจพื้นที่ที่เรียกว่า โคกหนองนาโมเดล หรือโมเดลเกษตรทฤษฎีใหม่ หลักการง่ายๆ คือ น้ำฝนที่ตกมาพื้นที่นี้ 50 ไร่ ต้องเก็บน้ำไว้ให้ได้ 100% ด้วย โมเดลป่า 5 ระดับ หัวคันนาที่เป็นเหมือนเขื่อนของชาวนา และหนองน้ำ ก่อนจะแยกย้ายให้แต่ละกลุ่มเตรียมงาน เตรียมคน และวางแผนการทำงานสำหรับวันต่อไป
Day 2: ลงมือสร้างเครื่องมือกักเก็บน้ำฝนและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด
เช้าวันต่อมา อาสาสมัครจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งจะสร้างแหล่งเก็บน้ำคือ แทงก์น้ำไม้ไผ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือเก็บน้ำฝนให้ได้ปริมาณที่เยอะ โครงด้านในทําจากไม้ไผ่ ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นภาคเหนือ นํามาสานกันเหมือนตะกร้าไม้ไผ่ขนาดใหญ่ โบกปูนทับอีกชั้น เพื่อความแข็งแรงทนทาน
วิธีการทําไม่ซับซ้อน ใช้ต้นทุนในการสร้างและบํารุงรักษาดีกว่าแทงก์น้ำสําเร็จรูป แทงก์น้ำไม้ไผ่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6-7 เมตร จุได้ประมาณ 1.7 แสนลูกบาศก์เมตร มีการใช้โซลาร์เซลล์เพื่อสูบน้ำขนไปเก็บไว้ และทําระบบท่อน้ำใต้ดินแรงดันสูง เพื่อนําไปใช้ในครัวเรือน เมื่อมีน้ำล้นออกมาก็จะไหลล้นลงบนดินไปตามคลองไส้ไก่ที่ขุดไว้โดยรอบ ช่วยกระจายความชื้นให้พื้นดินและกักเก็บน้ำฝนที่ตกลงมา นอกจากนี้ยังช่วยให้พืชผักและต้นไม้บริเวณนั้นมีน้ำหล่อเลี้ยงตลอดปี และเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์อีกด้วย
และอีกกลุ่มจะได้ลงมือทำแหล่งเก็บน้ำอีกรูปแบบ นั่นก็คือ บ่อน้ำรูปทรงเลียนแบบธรรมชาติ ขุดเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี ตัวบ่อมีความคดโค้ง มีระดับชัน ตื้นลึกแตกต่างกันไป เพื่อให้แสงแดดส่องถึง โดยการออกแบบต้องคํานึงถึงปริมาณน้ำที่จะระเหยออกไป จึงต้องขุดให้ลึก ไม่เน้นกว้าง เพราะยิ่งกว้าง พื้นที่ที่สัมผัสลมและแดดจะมาก ทําให้ระเหยมากตามไปด้วย อาสาสมัครจึงได้เรียนรู้วิธีคํานวณขนาดของหนอง จนได้เพียงพอกับปริมาณที่ต้องการใช้งาน
องค์ความรู้อีกอย่างที่ได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขุดบ่อน้ำคือ การทำ หัวคันนากินได้ โดยการเก็บน้ำไว้ในนาด้วยวิธียกหัวคันนาสูงขึ้นอย่างน้อย 1 เมตร เป็นองค์ความรู้ที่สมัยก่อนชาวนาทํานาด้วยการยกหัวคันนาให้สูงและกว้าง นาที่ทําก็เป็นนาน้ำลึก ใช้น้ำควบคุมหญ้า ทําให้ข้าวในนาได้ผลผลิตดี เลี้ยงปลา กุ้ง สัตว์น้ำต่างๆ ในนาได้ การเก็บน้ำในนาจะเก็บเท่ากับความสูงของคันนา น้ำที่เก็บไว้จะค่อยๆ ซึมลงดินอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ทําให้ดินชุ่มชื่นสมบูรณ์
เมื่อสร้างเครื่องมือกักเก็บน้ำตามธรรมชาติแล้ว ก็ต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อมต่อการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ อาทิ การทำคอกผักตบ เพื่อนำผักตบที่ได้มาคลุมดินหรือทำปุ๋ยหมัก การทำแซนด์วิชปลาหรือโรงอาหารปลา ด้วยการสานไม้ไผ่เป็นทรงกรวยสูงประมาณ 1.30 เมตร เติมฟางและขี้วัวทำเป็นชั้นจนเต็ม ทิ้งไว้ 2-3 เดือน จะเกิดแพลงก์ตอน กลายเป็นโรงอาหารปลา และบ้านปลา เป็นการนำไม้ไผ่ปักลงน้ำ และโยนเศษกิ่งไม้ลงไป ซึ่งกิ่งไผ่เล็กๆ ที่ซ้อนๆ กันทำให้ปลาตัวเล็กๆ หรือลูกกุ้งเข้ามาอยู่อาศัย
ปิดท้ายกิจกรรมด้วยบทสรุปที่อาสาสมัครแต่ละกลุ่มได้เรียนรู้ ทำเป็นแผนงาน ก่อนจะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่ได้รับให้แก่อาสาสมัครกลุ่มอื่น และที่ขาดไม่ได้เลยคือ บทสรุปจาก อเล็กซ์ เรนเดลล์ TCP Spirit Ambassador
“การดูแลน้ำเป็นองค์ความรู้ที่ลึกและมีองค์ประกอบมากมาย ทุกอย่างเป็นระบบและต้องอาศัยกันและกันในการอยู่รอด เหมือนกับมนุษย์เองก็ต้องอาศัยสิ่งมีชีวิต อาศัยธรรมชาติเพื่อความอยู่รอด และนอกจากองค์ความรู้ที่ได้ ยังได้แรงบันดาลใจจากอาสาสมัครและทีมงานในพื้นที่ทุกคน ที่ผลักดันให้ผมอยากจะส่งต่อสิ่งดีๆ และผลักดันเรื่องเหล่านี้ต่อไป”
องค์ความรู้และแรงบันดาลใจที่อาสาสมัครได้รับตลอดระยะเวลา 3 วัน 3 คืน ไม่สามารถเปลี่ยนพลิกวิกฤตขาดแคลนน้ำได้ชั่วข้ามคืน ทว่า สิ่งที่ซึมซับเข้าไปในจิตสำนึกของอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ TCP Spirit ถือเป็นการจุดประกายให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน เพราะการรับรู้ที่มาจากประสบการณ์จริง ย่อมส่งผลต่อทัศนคติและพฤติกรรมการใช้น้ำ และมีโอกาสในการขยายวงกว้างสู่คนรอบๆ ตัวต่อไป
เตรียมพบกับกิจกรรมพยาบาลลุ่มน้ำ #2 ที่จะจัดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ติดตามรายละเอียดที่ www.tcp.com และ facebook.com/TCPGroupThailand
- กลุ่มธุรกิจ TCP ประกอบด้วย บริษัท ที.ซี. ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด เป็นผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ทำการตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่ม บริษัท ที.จี. เวนดิ้ง แอนด์ โชว์เคส อินดัสทรีส์ จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มและแบรนด์อื่นภายใต้บริษัท เดอเบล จำกัด และยังเป็นเจ้าของ พร้อมทั้งบริหารจัดการตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติสำหรับผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม TCP ทั้งหมด และแบรนด์อื่นๆ
- ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจ TCP มีพนักงานในประเทศไทยและต่างประเทศกว่า 5,000 คน
- ผลิตภัณฑ์และแบรนด์ของกลุ่มธุรกิจ TCP ประกอบด้วย 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์ รวม 8 แบรนด์ ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง แบรนด์กระทิงแดง, เรดดี้, โสมพลัส และวอริเออร์ กลุ่มเครื่องดื่มเกลือแร่แบรนด์สปอนเซอร์ กลุ่มเครื่องดื่มฟังก์ชันนัล ดริงก์แบรนด์แมนซั่ม กลุ่มเครื่องดื่มชาพร้อมดื่มแบรนด์เพียวริคุ ผลิตภัณฑ์เมล็ดทานตะวันแบรนด์ซันสแนค และกลุ่มหัวเชื้อเครื่องดื่มแบรนด์เรดบูล รสดั้งเดิม