×

โลกแบบไหนที่คุณอยากใช้ชีวิต? คำถามชวนคิดที่ได้จากงานสัมมนา SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ และนี่คือบทสรุปที่จะพาคุณไปสู่โลกที่คุณต้องใช้ชีวิตอยู่ [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
10.09.2019
  • LOADING...
SD Symposium 10 Years Circular Economy Collaboration for Action

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • Circular Economy คือการหมุนเวียนทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการเปลี่ยนกระบวนการผลิต การบริโภค รวมไปถึงการใช้ชีวิต ผ่านคีย์หลัก ‘Make-Use-Return ผลิต ใช้ วน กลับ’
  • แนวทางการจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืน 4 ข้อที่นำเสนอนายกฯ ได้แก่ 1. ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะ 2. ผลักดันให้ภาคธุรกิจผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล 3. รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนลดการสร้างขยะและเพิ่มการรีไซเคิล และ 4. การบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่มีอยู่อย่างจริงจัง

ถ้าคุณยังกิน ยังใช้ คุณก็เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนสร้างขยะบนโลกใบนี้ วิกฤตทรัพยากรขาดแคลนและขยะล้นโลกจึงเป็นเรื่องของทุกคน ในงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ที่จัดขึ้นโดย SCG เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 1,500 คน ทั้งจากภาครัฐและเอกชน องค์กรขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ นักวิชาการ เอ็นจีโอ และสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่ายังมีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงวิกฤตอันใหญ่หลวงนี้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน หน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกมองหาทางแก้มาโดยตลอด และหนึ่งในทางออกที่ SCG ผลักดันและทำให้เห็นเป็นตัวอย่างต่อเนื่องคือ การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy มาใช้ รณรงค์ให้มีแนวคิด ‘ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก’ เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หวังแก้วิกฤตทรัพยากรขาดแคลนและขยะล้นโลกอย่างยั่งยืน

 

Circular Economy ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่วิธีที่ทำยาก เพียงแต่ต้องเริ่มจากแนวคิดที่ถูกต้อง THE STANDARD ขอสรุปประเด็นสำคัญที่ได้จากงานในครั้งนี้มาฝาก

 

SD Symposium 10 Years Circular Economy Collaboration for Action

 

‘Make-Use-Return ผลิต ใช้ วนกลับ’ คีย์หลักของ Circular Economy
ลองนึกถึงวิถีชีวิตของตัวเองก็ได้ ทุกวันนี้สินค้ารอบตัว ถุงพลาสติก กล่องกระดาษ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้า เมื่อเลิกใช้ก็ทิ้งกลายเป็นขยะ ส่งผลให้โลกเต็มไปด้วยขยะทุกรูปแบบ แต่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy คือการหมุนเวียนทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการเปลี่ยนกระบวนการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต โดยผู้ผลิตจะต้องสร้างนวัตกรรม ออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ ให้เป็นมิตรกับธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เกิดของเสียน้อยที่สุด และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดของเสีย เพื่อนำกลับไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสมในรูปแบบ Make-Use-Return

 

SD Symposium 10 Years Circular Economy Collaboration for Action

 

Collaboration for Action ความร่วมมือคือกุญแจสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

เมื่อโลกเป็นของทุกคน และไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็มีส่วนร่วมเปลี่ยนแปลงโลกได้ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา SCG จึงผลักดันเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการจัดงานสัมมนา SD Symposium โดยงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ มุ่งเน้นประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลไกขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวไปสู่ระบบเศรษฐกิจตามแนวคิด Circular Economy อย่างยั่งยืน

 

จาก 45 พันธมิตรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งระดับประเทศและระดับโลก ช่วยกันระดมสมองหาทางแก้วิกฤตทรัพยากรด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน รณรงค์การใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรการผลิต การบริโภค และการนำกลับมาใช้ใหม่ สิ่งที่ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันคือ การสร้างอุตสาหกรรมยั่งยืน แก้ปัญหาขยะในทะเล สร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น และบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม  

 

SD Symposium 10 Years Circular Economy Collaboration for Action

รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG

 

“การขยายตัวของประชากรโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคนภายในปี ค.ศ. 2050 นำไปสู่ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ขณะที่ทรัพยากรโลกมีจำกัด” นี่คือสิ่งที่ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG ให้ข้อมูลแก่ผู้เข้าร่วมงานบนเวที ตอนกล่าวเปิดงาน “คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ประเทศไทยมีขยะถึง 28 ล้านตัน ซึ่งหากเกิดการทิ้งไม่ถูกต้องหรือขาดการจัดการที่ดี ก็จะมีปัญหาขยะไหลสู่ทะเล จนเกิดการสูญเสียของสัตว์ต่างๆ ดังกรณีพะยูนมาเรียม”

 

รุ่งโรจน์ยังกล่าวอีกว่า แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสนับสนุนการหมุนเวียนทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการผลิต (Make-Use-Return) เป็นทางออกที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จากการใช้ทรัพยากรและพลังงานให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดกระบวนการ รวมถึงการไม่ทิ้งในแม่น้ำลำคลองหรือทะเล เพื่อส่งต่อทรัพยากรของโลกสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป

 

ภายใต้แนวคิด (Circular Economy) SCG นำ 3 กลยุทธ์หลักมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ 1. Reduce ด้วยการลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เน้นไปที่การออกแบบให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น 2. Upgrade หันมาพัฒนานวัตกรรมให้เป็นสินค้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ทรัพยากรในการผลิตน้อยและนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น และ 3. Reuse เห็นได้จากผลิตภัณฑ์ของ SCG ที่ออกแบบมาเพื่อให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น การออกแบบสูตรการผลิตเม็ดพลาสติก (Formulation) โดยนำมาผสมกับเม็ดพลาสติกจากเทคโนโลยี SMX ของ SCG ที่ช่วยเพิ่มคุณสมบัติของพลาสติกรีไซเคิลให้ดีขึ้น และสามารถเพิ่มสัดส่วนของเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้มากขึ้นถึงร้อยละ 30

 

ตัวชี้วัดว่าสิ่งที่ SCG ประสบความสำเร็จจากการทำกลยุทธ์เหล่านี้ไปปรับใช้ในการทำธุรกิจคือ SCG นำของเสียจากอุตสาหกรรมที่นำมาแปรรูปเป็นวัตดุดิบทดแทน 313,000 ตันของเสียต่อปี แปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทน 131,000 ตันของเสียต่อปี เป้าต่อไปคือการลดการผลิตพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic) จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 20 ภายในปี 2025 และเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้เป็นร้อยละ 100 ภายในปี 2025

 

SD Symposium 10 Years Circular Economy Collaboration for Action

 

แนวทางการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากมุมมองของผู้ปฏิบัติจริง
หากฟังแต่ข้อมูลตัวเลขและแนวทางการดำเนินงาน อาจทำให้ภาพของ Circular Economy ดูห่างไกลจากความเป็นจริง บนเวทีครั้งนี้จึงเชิญผู้แทนของภาคส่วนต่างๆ มาแชร์มุมมองการทำงาน แบ่งปันประสบการณ์จริง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมงาน อาทิ มุมมองการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และบทบาทของภาครัฐในการขับเคลื่อนเรื่อง Circular Economy ของประเทศไทย โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

 

SD Symposium 10 Years Circular Economy Collaboration for Action

น้องลิลลี่ ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม

 

Mr. Lars Svensson ผู้อำนวยการฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการสื่อสาร IKEA เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก และผู้จัดการฝ่ายการพัฒนาอย่างยั่งยืนกลุ่ม Ikano ก็ขึ้นพูดเรื่องการนำแนวคิด Circular Economy มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการของ IKEA อาทิ การจับมือกับแบรนด์ไทยอย่าง ดอยตุง ผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ อมรพล หุวะนันทน์ ผู้ก่อตั้ง Moreloop สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยแก้ปัญหาและสร้างมูลค่าให้แก่เศษผ้าที่เหลือจากการผลิต ได้นำเสนอแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนกับโอกาสให้เกิดธุรกิจใหม่ ปิดท้ายด้วยแรงบันดาลใจจาก น้องลิลลี่ ด.ญ.ระริน สถิตธนาสาร เยาวชนนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม นำเสนอมุมมองในฐานะเยาวชนที่เป็นคนรุ่นหลังที่จะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สร้างแรงใจและกระตุ้นเตือนให้ทุกคนเริ่มต้นดูแลโลกของเรา

 

SD Symposium 10 Years Circular Economy Collaboration for Action

 

ถอดบทเรียนจากทุกภาคส่วน ระดมสมองหาแนวทางการจัดการปัญหาขยะเสนอ 4 แนวทางต่อนายกรัฐมนตรี

ไฮไลต์สำคัญของงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ครั้งนี้อยู่ที่ห้อง Breakout Room 1 มุ่งเน้นไปที่ประเด็นการหาแนวทางจัดการขยะในประเทศไทย โดยเปิดเวทีแบ่งปันประสบการณ์จาก Mr. Gen Takahashi ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริหารต่างประเทศของ JFE Engineering Corporation นำเสนอตัวอย่างความสำเร็จด้านการจัดการขยะของเมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น เหตุใดเมืองที่มีประชากรเพิ่มขึ้นแต่สามารถลดขยะได้ถึงร้อยละ 40 ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานตามแผนแม่บท Yokohama G30 ของประเทศในช่วงแรก จนปัจจุบันที่ใช้แผนแม่บท 3R Dream (Slim) โดยกำหนดทิศทางนโยบาย ซึ่งเริ่มจากการคัดแยกขยะ มีแผนบูรณาการ มีโรงเผาขยะที่สามารถเผาขยะได้ถึง 1,200 ตันต่อวัน ทำให้การจัดการขยะในระดับเมืองประสบความสำเร็จ   

 

SD Symposium 10 Years Circular Economy Collaboration for Action

 

ช่วงเสวนาพิเศษที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมเวิร์กช้อปและระดมสมองเพื่อหาข้อสรุปแนวทางจัดการปัญหาขยะ แต่ละท่านหยิบยกประเด็นสำคัญและแนวทางแก้ปัญหาที่น่าสนใจ อาทิ วรุณ วารัญญานนท์ ที่ปรึกษาเพื่อภาคีอุตสาหกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ Chula Zero Waste Project คือคนยังขาดความรู้ในการแยกขยะ จึงควรนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรในระบบการศึกษาและบังคับใช้กฎหมายควบคู่กัน

 

กมล บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) เชื่อว่า หากทุกคนมองขยะเป็นวัสดุที่นำไปสร้างมูลค่าต่อไป หรือมีความสามารถไปพัฒนาต่อ ปัญหาขยะก็จะหมดไป ในขณะที่ วรกิจ เมืองไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์มดี จำกัด ก็เห็นไม่ต่างกันที่ว่า หากมองขยะเป็นวัสดุต่อยอดคนจะนำมันกลับมาสร้างมูลค่า จึงทำแอปพลิเคชันเพื่อสร้างให้ขยะมีมูลค่าขึ้น

 

ทัศนะของ บุรินทร์ ตั้งศิลปโอฬาร ผู้จัดการงานพัฒนาโครงการ Suez (South East Asia) Limited มุ่งเน้นไปที่การรีไซเคิล แต่ปริมาณวัสดุที่จะนำมารีไซเคิลมีไม่เพียงพอ เนื่องจากขยะไม่มีคุณภาพ สุดท้ายแล้วการให้ความรู้เรื่องประเภทขยะก็เป็นสิ่งจำเป็น ปิดเวทีด้วยมุมมองของ ดร.จิตราภรณ์ ฟักโสภา อาจารย์ประจำภาควิชาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เชื่อว่า จิตสำนึกต้องเริ่มสร้างที่ตัวเอง ปัญหาต่างที่เห็นตอนนี้เป็นเรื่องปลายทาง เริ่มต้นที่ตัวเองและคนรอบข้างง่ายที่สุด

 

แนวคิดของตัวแทนบนเวทียังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาในห้องกว่า 300 คน ได้แชร์มุมมองและแนวคิด เพื่อหาข้อสรุปเป็นแนวทางนำเสนอกลยุทธ์การจัดการปัญหาขยะในประเทศไทยต่อนายกรัฐมนตรี ในช่วงบ่าย และ 4 ข้อสรุปที่ได้มีสาระสำคัญดังนี้

 

1. ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการจัดการขยะและจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้เกิดการจัดการขยะแบบครบวงจร โดยภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุน เน้นชุมชนใกล้แหล่งน้ำ ดูแลจัดให้มีถังขยะเปียกและถังขยะแห้ง เพิ่มการให้บริการจัดเก็บขยะลดการฝังกลบ รวมถึงการเปลี่ยนเป็นพลังงาน

 

2. ผลักดันภาคธุรกิจผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล กำหนดมาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยคำนึงถึงการหมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าตลอดการใช้งาน พร้อมทั้งกำหนดนโยบายซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานของส่วนราชการและภาครัฐ

 

3. รณรงค์สร้างความรู้ประชาชนลดการสร้างขยะและเพิ่มการรีไซเคิล โรงเรียนต้องบรรจุแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในหลักสูตรภาคบังคับทุกระดับชั้น ส่วนภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน ช่วยกันประชาสัมพันธ์การแยก ใช้ และรีไซเคิล

 

4. การบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษอย่างจริงจัง กำหนดวันจัดเก็บตามประเภท ห้ามทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ ดูแลบ่อทิ้งขยะใกล้แหล่งน้ำเพื่อป้องกันขยะรั่วไหลสู่ทะเล บังคับใช้กฎหมายมาตรฐานฉลากผลิตภัณฑ์ระบุวิธีการรีไซเคิลหลังใช้งาน

 

โดยการนำเสนอแนวทางครั้งนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล รองประธานกรรมการบริษัท SCG ขึ้นกล่าวข้อเสนอทั้ง 4 ข้อต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมทั้งกล่าวว่า “วันนี้ขยะเกี่ยวข้องกับทุกมิติของชีวิตเรา เพราะหากไม่มีชีวิตเกิดขึ้น ปัญหาขยะก็คงไม่มี และสิ่งเหล่านี้กำลังเป็นวิกฤตของประเทศ เห็นได้จากจำนวนขยะปี 2561 ที่มีกว่า 28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 2 จากปี 2560 ทำให้เกิดทั้งปัญหาขยะล้นเมืองที่ขาดการจัดการอย่างเหมาะสม ขยะอุดตัน ขยะในแม่น้ำลำคลองที่ไหลออกสู่ทะเล อีกทั้งสถานที่กำจัดขยะที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมก็มีไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งคนและสัตว์ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของประเทศมากกว่าร้อยละ 20 จึงนับเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไขปัญหา โดยต้องมีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและรองรับจำนวนคนทั้งหมดอย่างเพียงพอด้วย”

 

SD Symposium 10 Years Circular Economy Collaboration for Action

 

ทางด้านนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากรับฟังแนวทางการจัดการปัญหาขยะทั้ง 4 แนวทาง ก็เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ปัญหาขยะ และยังกล่าวให้แง่คิดถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นว่า “ปัญหาขยะเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นทางออกหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน รัฐบาลจึงบรรจุเป็นหนึ่งในแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ว่าการพัฒนาประเทศต่อจากนี้ พร้อมทั้งกำหนดการไว้ในนโยบายรัฐบาล ทั้งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบนิเวศเพื่อรองรับเศรษฐกิจยุคใหม่ และการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม”

 

หากภาครัฐดำเนินการตามนโยบายครั้งนี้ไปพร้อมๆ กับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559-2564) การจัดทำ (ร่าง) โรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ. 2561-2579 และความร่วมมือของทุกภาคส่วน ย่อมจะนำไปสู่การปฏิบัติที่เห็นผลจริง เหมือนที่นายกฯ กล่าวสรุปในตอนท้ายว่า “การพัฒนาประเทศตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้การดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วน จะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพาทรัพยากรน้อยลง และผมในฐานะผู้นำภาครัฐ จะนำสิ่งที่ทุกท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดในวันนี้ไปส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ ตลอดจนสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อร่วมกันผลักดันสู่การลงมือปฏิบัติจริงให้ได้ต่อไป”

 

SD Symposium 10 Years Circular Economy Collaboration for Action

 

และนี่คือบทสรุปจากงาน SD Symposium 10 Years ‘Circular Economy: Collaboration for Action’ ทั้งแนวคิด หลักการ วิธีการแก้ปัญหา ตัวอย่างการปฏิบัติงานจริง แรงบันดาลใจจากผู้ที่ลงมือทำ ความร่วมมือร่วมใจกันระดมความคิดเพื่อหาแนวทางนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนในประเทศไทย นี่อาจเป็นเพียงบทสรุปของบทเรียนแรกสำหรับประเทศไทย แต่หากทุกภาคส่วนมุ่งมั่นและเดินหน้าไม่หยุดเหมือนที่ SCG ทำ อีกไม่นานประเทศไทยจะเข้าสู่วงจร Circular Economy อย่างยั่งยืนอย่างแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X