ภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดบนโลกอาจไม่ได้เกิดขึ้นกับไดโนเสาร์ โดยงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา (PNAS) เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่า เมื่อ 2 พันล้านปีที่ผ่านมา เกิดการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศอย่างรุนแรง ทำให้ชีวิตสิ่งมีชีวิตบนโลกหายไปเกือบ 100%
มัลโคม ฮอกส์คิสส์ นักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และผู้ร่วมทำการวิจัยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN ว่า การศึกษาครั้งนี้สำรวจผ่านแบไรต์ ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่มีอายุกว่า 2 พันล้านปี บริเวณเกาะเบลเชอร์ (Belcher Islands) ของแคนาดาว่า ชั้นบรรยากาศเป็นอย่างไร ขณะที่หินเหล่านี้กำลังเกิดขึ้น
ทีมวิจัยพบว่า หลายพันล้านปีก่อนจุลินทรีย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเดียวที่สามารถอยู่รอดได้ เมื่อเกิดการสังเคราะห์แสงจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดปริมาณก๊าซออกซิเจนมากจนเกินไป ซึ่งทำให้ชั้นบรรยากาศของโลกหยุดทำงานและออกซิเจนบนโลกลดลงอย่างรวดเร็ว จนจำนวนสิ่งมีชีวิตบนโลกลดลงอย่างมหาศาล โดยทีมวิจัยคำนวณพบว่า จำนวนสิ่งมีชีวิตหายไปกว่า 80-99.5% หลังโลกมีปริมาณก๊าซออกซิเจนมากจนเกินไป
ภาพ: Phase4Studios / Shutterstock
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: