‘อินเทอร์เน็ตบ้าน’ ยังคงเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคคนไทยเสมอมา เพราะนอกจากจะตอบโจทย์เรื่องความเสถียรและความเร็วในการดาวน์โหลด-อัปโหลดได้แล้ว ก็ยังช่วยประหยัดการใช้งาน Data แพ็กเกจโทรศัพท์มือถือไปได้อีกแรง
ต้นปีที่ผ่านมา Hootsuite เคยบอกเอาไว้ว่า ผู้ใช้งานคนไทยใช้เวลาอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยมากถึง 9.11 ชั่วโมงต่อวัน มากสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ตัวเลขนี้ยังสอดคล้องไปทิศทางเดียวกันกับอุตสาหกรรม ‘ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้าน’ ที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีฐานผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นหลักแสนรายในทุกๆ ปี
ถ้านับจนถึงปัจจุบัน ฐานผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตบ้านในไทยจะอยู่ที่ราว 9.4 ล้านคน จากทั้งหมด 21 ล้านครัวเรือนในไทย ซึ่งยังมีช่องว่างในการเติบโตของตลาดอีกมาก ในจำนวนนี้คิดเป็นมูลค่าโดยรวมของทั้งตลาด (เชิงรายได้) ประมาณ 62,040 ล้านบาท (APRU เฉลี่ยของผู้ให้บริการแต่ละเจ้าคือ 550 บาท)
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อินเทอร์เน็ตบ้านยังโตเรื่อยๆ มาจากดีมานด์ความต้องการใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เสถียร ความเร็วสูง, การแข่งขันในตลาดที่ดุเดือดโดยเฉพาะการทำราคา โปรโมชันต่างๆ ของผู้ให้บริการแต่ละราย, ความนิยมของวงการอีสปอร์ตและเกมออนไลน์ รวมไปถึงปัญหาความคับคั่งช่องสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่โอเปอเรเตอร์แต่ละเจ้าหยุดเพิ่มสเปกตรัม ส่งผลให้แพ็กเกจ Unlimited Data บนโทรศัพท์มือถือค่อยๆ เลือนหายไปจากท้องตลาด
เมื่อแบ่งประเภทลูกค้าอินเทอร์เน็ตบ้านในปัจจุบันจะแบ่งได้ 2 กลุ่มคือ 1. กลุ่ม Mass ทั่วไป ที่ต้องการอินเทอร์เน็ตเสถียรมากกว่าความเร็ว (เรตราคา 599 บาท) ซึ่งมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งตลาด ที่เหลือคือกลุ่ม Value for Money ที่ต้องการคุณภาพความเร็วที่ดีที่สุด 1 Gbps รวมถึงบริการอื่นๆ ใน Bundle ที่ผู้ให้บริการแถมมาให้
จุดนี้เองที่น่าสนใจ เพราะ ศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ เอไอเอส มองว่า ‘เกมในตลาดอินเทอร์เน็ต’ ที่ผู้ให้บริการแต่ละเจ้าแข่งกันในปัจจุบันคือการเน้นที่ ‘ความเร็ว’ และการทำ ‘ราคา’ ให้จับต้องได้ที่ 590-599 บาทเป็นหลัก ซึ่งถือเป็น Magic Number ของอุตสาหกรรมนี้ แต่ในอนาคตเกมการแข่งขันรูปแบบดังกล่าวอาจจะถึงทางตันในที่สุด
เพราะเมื่อมองในประเทศที่พัฒนาด้านอินเทอร์เน็ตบ้านและโครงข่ายการเชื่อมต่อไปไกลแล้วอย่าง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น หรือจีน ก็จะพบว่ามาตรฐานความเร็วของทั้งตลาดจะอยู่ที่ 1 Gbps ซึ่งเป็นความเร็วที่เพียงพอต่อการใช้งานภายในบ้าน และจะกลายเป็น ‘New Magic Number’ ในอนาคตของประเทศไทย (เนื่องจากข้อจำกัดด้านราคาอุปกรณ์ที่รองรับความเร็วมากกว่า 1 Gbps ซึ่งยังมีราคาสูงในปัจจุบัน)
นั่นหมายความว่าผู้ให้บริการส่วนใหญ่ในอนาคตจะไม่ได้แข่งกันแค่ ‘ใครเร็วกว่าใครอีกต่อไป’ แต่ Landscape ของตลาดเน็ตบ้านจะหันมาเชือดเฉือนกันที่ลูกเล่นพิเศษอื่นๆ ที่โอเปอเรเตอร์แต่ละเจ้ามีให้แทน เช่น คอนเทนต์, บริการใน Bundle Package ที่หวือหวา รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ
สำหรับ AIS Fibre เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการเน็ตบ้านเจ้าอื่นๆ อาจเป็น ‘น้องใหม่’ เพราะเพิ่งให้บริการแค่ 4 ปี แต่ก็ใช่ว่าใครจะประมาทได้ เพราะปัจจุบัน (นับจนถึงเดือน ก.ย. 2562) AIS Fibre มีฐานลูกค้าผู้ใช้งานมากถึง 900,000 รายแล้ว โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 1 ล้านรายตามเป้าที่วางเอาไว้ได้ไม่ยาก (Q2/62 มีรายได้จากธุรกิจเน็ตบ้าน 1,380 ล้านบาท คิดเป็น 3% จากรายได้ทั้งหมด)
โดยกลยุทธ์ที่ทาง AIS Fibre จะให้ความสำคัญต่อจากนี้ ประกอบด้วย
1. สร้างนวัตกรรมการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ (เช่น Super Mesh WiFi ความเร็ว 1 Gbps, ลูกเล่นปรับสลับสปีดดาวน์โหลด-อัปโหลด หรือ Speed Toggle สูงสุด 3 แบบตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์หรือ LINE, Speed Boost, Dual Bandwitch (ส่วนใหญ่เป็นผู้ให้บริการรายแรกและรายเดียวที่มีบริการเหล่านี้))
2. คอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟ (AIS Playbox, Netflix และล่าสุดร่วมกับ Plan B และ Dentsu X ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิก 2020 อย่างเป็นทางการ)
3. ให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานเก่าของ AIS Fibre ด้วยสิทธิพิเศษต่างๆ รวมถึงพยายามดึงฐานผู้ใช้งานบริการรายเดือน AIS (Postpaid) ที่ 8.8 ล้านรายมาใช้เน็ตบ้านของ AIS เพิ่มขึ้นให้ได้มากขึ้น โดยปัจจุบัน 80% ของลูกค้า AIS Fibre ใช้งานสัญญาณมือถือเครือข่าย AIS
ส่วนเป้าหมายใหญ่สุดในอีก 3 ปีข้างหน้าที่หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ เอไอเอส วางเอาไว้คือ การขึ้นเป็นเบอร์ 2 ของตลาดให้ได้ด้วยการเพิ่มฐานผู้ใช้งาน AIS Fibre เป็น 2 ล้านราย ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจอินเทอร์เน็ตบ้านของ AIS เริ่ม ‘คุ้มทุน’ และเติบโตได้อย่างยั่งยืน (ปัจจุบันถึงจะเริ่มมีกำไรแล้ว แต่ AIS Fibre ยังขาดทุนสะสมอยู่)
เพราะต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า กำแพงอุปสรรคที่ทำให้ผู้เล่นรายเล็กรายน้อยแหวกว่ายเข้ามาสู่ตลาดนี้ได้ยาก เนื่องจากการจะทำให้ธุรกิจคุ้มทุนและมั่นคงได้ จำเป็นจะต้องมีฐานผู้ใช้บริการมากกว่า 2 ล้านรายขึ้นไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า