ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีภารกิจตามแผนยุทธศาสตร์ของชาติ โดยมีงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับให้แต่ละโครงการต้องเป็นไปตามแผนงาน
THE STANDARD รวบรวมโครงการที่เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติงบประมาณของกระทรวงคมนาคม ซึ่งที่น่าจับตา อาทิ โครงการ มอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ ระยะทาง 109 กิโลเมตร วงเงิน 63,998 ล้านบาท โดยเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน และมีนักลงทุนจีนให้ความสนใจ คาดว่าจะนำเสนอ ครม. และเริ่มก่อสร้าง ปี 2563
โครงการทางด่วนกะทู้-ป่าตอง วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเช่นกัน
นอกจากนี้ยังต้องจับตาโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 รวม 7 เส้นทาง งบประมาณกว่า 2.56 แสนล้านบาท รวมถึงจัดซื้อฝูงบินใหม่ 38 ลำ ของการบินไทย มูลค่า 1. แสนล้านบาท
สำหรับกระทรวงคมนาคม หากดูงบประมาณประจำปี 2562 พบว่ามีเพียง 1.83 แสนล้านบาท แต่ถูกจัดเป็นกระทรวงเกรดเอ (A) เพราะมีอำนาจในการอนุมัติโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งกรอบวงเงินลงทุนล่าสุดคือ 1.9 ล้านล้านบาท
ขณะที่ล่าสุดรัฐมนตรีคมนาคม มีหนังสือแทงคำสั่งไปถึงปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีทุกกรม และ 13 ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ และบริษัทในสังกัดกระทรวงคมนาคม เนื้อหาสาระสำคัญคือ การเสนอเรื่องต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน ทั้งนโยบายเร่งด่วน การแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากร รวมถึงการใช้งบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป ต้องนําเสนอเรื่องต่างๆ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบก่อนไม่น้อยกว่า 7 วันทําการ
หนังสือคำสั่งดังกล่าว สรุปในทางการเมืองได้ว่า รัฐมนตรีศักดิ์สยามยึดอำนาจกระทรวงคมนาคมแบบเบ็ดเสร็จ ถึงแม้กระทรวงคมนาคมจะมีการแบ่งหน่วยงานรับผิดชอบให้รัฐมนตรีช่วยว่าการสองคน คือ ถาวร เสนเนียม จากพรรคประชาธิปัตย์ และ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ จากพรรคพลังประชารัฐ แต่ทั้งสองรัฐมนตรีช่วยก็ไม่มีอิสระในการทำอะไรได้เลย เพราะเจ้ากระทรวงสั่งการให้รายงานก่อนลงมือทำไม่น้อยกว่า 7 วัน
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย