×

หนี้ครัวเรือนกำลังไล่ล่าคนไทย และเกณฑ์ DSR ใหม่ที่อาจเป็นยาแรงในระบบการเงิน

29.08.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยสูงติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย แซงหน้าฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ทั้งที่มูลค่าทางเศรษฐกิจต่อหัวยังตามอยู่หลายช่วงตัว
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยัน ยังไม่นำเกณฑ์ DSR ใหม่มาใช้ในปี 2562 ติดตามใกล้ชิด พร้อมใช้ยาแรงเมื่อจำเป็น

หยิบซองจดหมายจากธนาคารขึ้นมาดู แต่ไม่เปิดอ่าน

 

รีบขอจ่ายค่าอาหารด้วยบัตรเครดิตเพื่อเก็บเงินสดจากเพื่อนมาใช้จ่าย

 

จ่ายเงินค่าบัตรเครดิตขั้นต่ำทุกใบ ทุกบิล ทุกเดือน

 

ใครที่เป็นแบบนี้ เชื่อว่าพวกเขารู้ตัวกันดีอยู่แล้วว่ากำลังประสบปัญหาทางการเงิน และนับวันจะต้านทานภาระหนี้สินที่ถาโถมได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยใจที่อ่อนล้าลงทุกที

 

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนของไทยยังคงสูงติดอันดับต้นๆ ของเอเชีย สะท้อนปัญหาหนี้ของผู้บริโภคที่ไม่เพียงกัดกินสภาพจิตใจของคนเป็นหนี้ แต่ยังกัดกร่อนระบบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มกระชับพื้นที่ธนาคารพาณิชย์เรื่องการปล่อยกู้สินเชื่อรายย่อยให้เข้มงวดมากขึ้น เพื่อสกัดปัญหาหนี้เน่าที่เร่งตัวมากขึ้นก่อนจะสายเกินแก้ และ THE STANDARD เลือกขยายประเด็นดังกล่าวผ่านบทความนี้

 

ตัวเลขหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงและกับดักหนี้สินที่ไม่รู้จบ

เป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เพียงแต่การกำกับดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมมิติของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาคส่วนอื่นๆ ด้วย 

 

ภาคครัวเรือนก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อภาคการเงินได้ ช่วงที่เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องหรือขาขึ้นของวัฏจักรเศรษฐกิจ ภาคเอกชนและครัวเรือนสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายกว่าช่วงเศรษฐกิจขาลง ซึ่งการกู้ยืมเงินจะทำให้ประชาชนยังรักษาระดับการบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ แต่ถ้าอัตราการก่อหนี้ขยายตัวแซงอัตราการเพิ่มของรายได้ จะเกิดความเสี่ยงที่เป็นระเบิดเวลาให้กับระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้

 

หากภาระหนี้เพิ่มสูงมากขึ้นเกินกว่าที่จะชำระได้ ประกอบกับเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรายได้ของครัวเรือน (Income Shock) อาจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง (Massive Default) และนำไปสู่การเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในที่สุด จากนั้นจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคของภาคครัวเรือนที่ลดลง เนื่องจากไม่มีเงินในมือและไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินเพิ่มได้อีก ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ภาคครัวเรือนที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแรงจึงเป็นรากฐานของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งไปโดยปริยาย

ย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษก่อนในปี 2552 สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 53.5% ส่วนปี 2562 ที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ สัดส่วนดังกล่าว ณ ไตรมาส 1/2562 ขยับขึ้นแตะ 78.7% ทำให้ไทยติดอันดับประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย 

 

 

จากข้อมูลข้างต้นพบว่าประเทศไทยมีระดับของหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าฮ่องกง มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ทั้งที่ขนาดของเศรษฐกิจเล็กกว่า หากพิจารณาสัดส่วน GDP ต่อประชากร 1 คน พบว่าสัดส่วนของประเทศไทยต่ำกว่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ขณะที่ฮ่องกงมีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 64,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี สิงคโปร์มีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี หรือกระทั่งมาเลเซียเองก็มีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี แต่ประเทศไทยกลับมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าประเทศเหล่านี้อย่างมาก

 

 

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เห็นได้ชัดจากช่วงปี 2554 ที่รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ ขณะนั้นหนี้ครัวเรือนไทยคิดเป็นสัดส่วน 60.3% ต่อมาปรับขึ้นถึง 68.1% ในต้นปี 2555 และแตะระดับ 77.1% ในต้นปี 2557 ซึ่งเป็นผลจากหลากหลายปัจจัย รวมทั้งนโยบายรถคันแรกที่ทำให้ประชาชนหันมากู้เงินซื้อรถ และยอดขายรถก็เติบโตถล่มทลายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

 

ต่อมาจึงเป็นการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หนี้ครัวเรือนไทยยังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนแตะระดับ 80.5% ในต้นปี 2559 ก่อนจะปรับลดลงมาในปีถัดไปที่ 78.4% ในปี 2560 และ 77.8% ในปี 2561 จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการที่หนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 1 ปีนี้โดยมีสัดส่วน 78.7% กลายเป็นคำถามว่านี่ถือเป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบการเงินและภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงหรือไม่ ในวันที่ปัจจัยต่างๆ ผันผวนอยู่ตลอดเวลาแบบนี้

 

ล่าสุดข้อมูลผลการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยไตรมาส 2/2562 ที่ผ่านมารายงานว่ามีการเติบโตของสินเชื่อทั้งระบบลดลง โดยขยายตัวที่ 4.2% โดยสินเชื่ออุปโภคบริโภคคิดเป็น 34.9% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด แบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย 17.3% สินเชื่อรถยนต์ 8.4% สินเชื่อบัตรเครดิต 1.7% และสินเชื่อส่วนบุคคล 7.4% โดยทั้งพอร์ตของสินเชื่ออุปโภคบริโภคเติบโตลดลงเล็กน้อยที่ 9.2% ปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เติบโตลดลงหลังมีการเร่งปล่อยสินเชื่อในช่วงไตรมาสแรกของปี ก่อนที่มาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ก็เติบโตลดลงตามยอดขายรถยนต์ที่เริ่มชะลอตัว และสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังขยายตัวสูงขึ้นจากการแข่งขันปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะผู้กำกับดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินจับตาเรื่องนี้มาโดยตลอด และส่งสัญญาณต่อเนื่องเรื่องการแข่งขันกันปล่อยกู้สินเชื่อของบรรดาสถาบันการเงิน โดยพบว่าคนไทยเป็นหนี้ด้วยอายุเฉลี่ยที่น้อยลง แต่มูลค่าของหนี้เพิ่มมากขึ้น และระยะเวลาที่เป็นหนี้ก็นานขึ้น โดยมีค่าเฉลี่ยของหนี้ที่กว่า 550,000 บาทต่อคน และผู้กู้กว่า 16% หรือคิดเป็น 3 ล้านคนมีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน ซึ่งถือเป็นหนี้เสีย โดยอยู่ระหว่างการติดตามทวงถามหนี้และดำเนินการทางกฎหมาย

 

ด้วยเหตุนี้แนวคิดในการ ‘ล้อมกรอบ’ เพื่อกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรายย่อยให้เข้มงวดจึงดังมากขึ้นเรื่อยๆ บางส่วนประเมินว่าเป็นไปได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะปล่อยหมัดเด็ดด้วยการควบคุมเรื่องภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio – DSR) เพื่อแตะเบรกด้วยยาแรง จนทำให้บรรดาธนาคารพาณิชย์อยู่ไม่เป็นสุขและเรียกร้องความชัดเจนจากเรื่องดังกล่าว

 

เศรษฐกิจยังหงอย ธนาคารแห่งประเทศไทยแจง ยังไม่ปรับ DSR ในปี 2562 

หากสมมติให้ผู้อ่านมีรายได้เดือนละ 50,000 บาท แต่มีภาระผ่อนคอนโดมิเนียมเดือนละ 20,000 บาท ผ่อนรถยนต์เดือนละ 10,000 บาท ผ่อนสินเชื่อส่วนบุคคลเดือนละ 10,000 บาท และยังมีภาระผ่อนค่าสินค้ากับบัตรเครดิตอีกเดือนละ 5,000 บาท นั่นคือจะเหลือเงินไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเพียง 5,000 บาทเท่านั้น หรือเฉลี่ยน้อยกว่าวันละ 170 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สมเหตุสมผล แต่เกิดขึ้นจริงในสังคม

 

และที่สำคัญคือมีผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ไม่น้อย

 

จึงมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้เรื่องการหารือของบรรดาสถาบันการเงินกับธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันแต่ละธนาคารจะกำหนดค่า DSR ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับนโยบายและแนวทางการควบคุมสินเชื่อของแต่ละที่ โดยคาดว่าจะกำหนดเกณฑ์ DSR ใน 3 กลุ่มเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ที่เริ่มต้นทำงาน (First Jobber) 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุ และ 3.กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน โดยจะกำหนดให้ DSR ไม่เกิน 70% หรือมีภาระหนี้ทั้งหมดทุกรายการไม่เกิน 21,000 บาทต่อเดือน ซึ่งผู้กู้ควรจะมีเงินเหลือใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ 30% ของรายรับรวม หรือประมาณ 9,000 บาท

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลกระทบที่ส่งผลต่อพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ หากธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศใช้เกณฑ์ DSR ในเร็ววันนี้ว่าสินเชื่อรายย่อยใหม่อาจจะหดตัวสูงสุดถึง 20% โดยระดับของผลกระทบจะมีความแตกต่างกันตามโครงสร้างของฐานลูกค้าและการกระจุกตัวของพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อยของแต่ละสถาบันการเงิน ทำให้อัตราการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบอาจจะอยู่ที่ 0.5% ซึ่งอาจกดดันให้ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยชะลอลงมาที่ 6% ในปี 2562 

 

เรื่องดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายกังวลเรื่องผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนรายได้จากดอกเบี้ยในระดับที่สูง หากปล่อยกู้ได้ยากขึ้น รายได้ส่วนดังกล่าวก็จะลดลงอย่างแน่นอน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน แรงกดดันจากสงครามการค้าของสองชาติมหาอำนาจ และการบริโภคในประเทศที่ชะลอตัว การส่งออกขยายตัวติดลบ ทำให้บางส่วนเริ่มวิจารณ์ว่าแนวคิดของมาตรการดังกล่าวอาจจะยังไม่เหมาะสมกับเงื่อนไขของประเทศไทยในตอนนี้

 

อย่างไรก็ตาม คำตอบเรื่องนี้ชัดเจนขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมีมาตรการหลายส่วนเพื่อดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือนออกไปก่อนหน้านั้น และมีกระแสข่าวว่าอาจมีมาตรการคุมภาระหนี้ต่อรายได้สูงสุด (DSR Limit) เพิ่มเติมออกมาอีก ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่าปัจจุบันยังไม่ได้มีแผนที่จะนำมาตรการนี้มาบังคับใช้ภายในปี 2562 แต่อย่างใด

 

ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยยังอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับสถาบันการเงินในการกำหนดมาตรฐานกลางในการคำนวณ DSR (Standardized DSR Definition) ทั้งในส่วนภาระหนี้และรายได้ของผู้กู้ ซึ่งสถาบันการเงินแต่ละแห่งมีวิธีการคำนวณที่แตกต่างกันอยู่ ขณะนี้ได้มีข้อตกลงมาตรฐานกลาง DSR ร่วมกันแล้ว คาดว่าจะเริ่มรายงานให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ภายในไตรมาส 4 ของปี 2562 

 

นอกจากนี้ยังจะร่วมกันผลักดันให้สถาบันการเงินนำหลักการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) ไปปรับใช้กับการดำเนินธุรกิจ โดยลูกหนี้จะต้องมีเงินเพียงพอสำหรับดำรงชีพหลังชำระหนี้แล้ว ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยจะติดตามปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิดผ่านข้อมูล DSR ตามมาตรฐานกลางที่ธนาคารพาณิชย์รายงาน หากพบว่าสถานการณ์มีความเปราะบางมากขึ้นก็อาจจะพิจารณาออกเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต  

 

DSR มาแน่นอน และธนาคารพาณิชย์จะถูกกระชับพื้นที่มากยิ่งขึ้นเพื่อให้ความเสี่ยงจากภาคครัวเรือนต่อระบบการเงินไม่ลุกลามไปมากกว่านี้ สิ่งที่น่าจับตาคือรายงานที่แต่ละธนาคารต้องส่งให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยในสิ้นปีนี้จะสะท้อนความสามารถในการปล่อยกู้ของแต่ละธนาคาร รวมทั้งเป็นการกวาดฝุ่นที่อยู่ใต้พรมให้ออกมากองรวมกัน ถึงตอนนั้นก็อาจจะพอเห็นได้ว่ามีใครบ้างที่ ‘อาการน่าเป็นห่วง’ 

 

เช่าบ้านอยู่ ไม่มีรถขับ อย่างมากก็ใช้ชีวิตลำบากขึ้น

 

แต่ถ้าไม่มีเงินซื้อข้าวกิน เป็นใครก็อยู่ไม่ได้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X