องค์การสหประชาชาติออกรายงานเตือนว่าประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคนกำลังขาดแคลนน้ำดื่มสะอาด โดยปัจจุบันมีประเทศไม่ถึง 15% ที่สามารถจัดหาทรัพยากรสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นแก่ประชากรได้
จากการสำรวจ 115 ประเทศที่ส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ซึ่งมีประชากรรวม 4.5 พันล้านคน พบว่า ประชากรกว่า 2.2 พันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดได้ ขณะที่ 4.2 พันล้านคนได้รับผลกระทบจากการจัดการสาธารณสุขที่ไม่ดี และ 3 ล้านคนยังไม่สามารถเข้าถึงแม้กระทั่งแหล่งล้างมือพื้นฐาน ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากน้ำ
ขณะที่ 65 ประเทศมีอัตราการถ่ายอุจจาระในที่โล่งแจ้งมากกว่า 2% ของประชากร โดยทั่วโลกมีประชากรมากถึง 673 ล้านคนที่ต้องขับถ่ายในที่โล่งแจ้ง และจำนวนนี้มี 7 ประเทศที่ไม่มีแผนจัดการกับการขับถ่ายในที่โล่ง
ถึงแม้จำนวนประชากรที่ขับถ่ายอุจจาระในที่โล่งแจ้งจะลดลงจาก 1.3 พันล้านคนในปี 2000 แต่ก็ยังเป็นปัญหาร้ายแรง เนื่องจากทั่วโลกมีประเทศเพียง 54% ที่ตั้งเป้าลดอัตราการขับถ่ายอุจจาระในที่โล่งให้หมดสิ้นภายในปี 2030
ทั้งนี้ ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟระบุว่า อุจจาระเพียง 1 กรัมมีไวรัสมากถึง 10 ล้านตัว และแบคทีเรีย 1 ล้านตัว
ยูเอ็นเผยว่านับตั้งแต่ปี 2015 เงินกองทุนช่วยเหลือด้านน้ำและสุขาภิบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากงบประมาณช่วยเหลือทั่วโลก โดยปี 2017 กองทุนด้านนี้มีสัดส่วน 4.5% ของงบประมาณช่วยเหลือทั้งหมด แต่ตัวเลขดังกล่าวยังน้อยกว่าปี 2000 ที่มีสัดส่วนราวๆ 7%
ความกังวลจากผลสำรวจดังกล่าว ทำให้สหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกเรียกร้องให้ประเทศทั่วโลกลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำดื่มสะอาด และระบบสุขาภิบาลเพิ่มขึ้น โดยในการประชุมสัปดาห์น้ำโลกประจำปี (World Water Week) ณ กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับน้ำระดับนานาชาติ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้นำอุตสาหกรรม ได้มาถกหารือเกี่ยวกับปัญหาน้ำที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ
กิลเบิร์ต ฮวงโบ ประธานองค์การน้ำแห่งสหประชาติ และประธานกองทุนการเงินระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) กล่าวว่า “ในขณะที่เราต้องการแน่ใจว่ามีเงินทุนมากเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาท้าทายเหล่านี้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการสร้างระบบสาธารณสุขระดับชาติด้วย”
เมื่อปีที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติระบุในรายงานการพัฒนาน้ำทั่วโลกปี 2019 (World Water Development Report 2019) ว่านับตั้งแต่ช่วงปี 1980 ทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำเพิ่มปีละ 1% และในปี 2050 โลกจะต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 20-30% จากปัจจุบัน ส่งผลให้ประชากรโลกกว่า 4 พันล้านคนต้องประสบภาวะขาดแคลนน้ำรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งเดือนต่อปี
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: