×

กลุ่มบีทีเอส-กัลฟ์-ซิโนไทย เตรียมคว้าสัมปทานมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) หลังเสนอราคาต่ำสุด

โดย THE STANDARD TEAM
20.08.2019
  • LOADING...
สัมปทานมอเตอร์เวย์

กรมทางหลวงเปิดเผยผลการเปิดซองเอกสารข้อเสนอทางด้านการลงทุนและผลตอบแทน หลังเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) พบว่า กิจการร่วมค้า บีจีเอสอาร์ ที่นำโดยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอขอรับผลตอบแทนต่ำสุดในจำนวนผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ราย และเตรียมคว้าสัมปทานทั้ง 2 โครงการ

 

โดย อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่กรมทางหลวงได้ประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอการร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ในรูปแบบ PPP Gross Cost ระยะเวลา 30 ปี ซึ่งในวันที่ 27 มิถุนายน 2562 ได้มีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 3 ราย ต่อมา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนฯ ได้มีมติเห็นชอบให้ผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ราย ผ่านเกณฑ์การประเมินข้อเสนอซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติและเทคนิค ประกอบด้วย

 

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ยื่นข้อเสนอทั้งสาย M6 และ M81 

 

2. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท China Communications Construction Company Ltd. ยื่นข้อเสนอสำหรับสาย M6 ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า UN-CCCC และยื่นข้อเสนอสำหรับสาย M81 ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า CCCC-UN

 

3. กิจกรรมร่วมค้า บีจีเอสอาร์ นำโดย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอทั้งสาย M6 และ M81

 

โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ดำเนินการเปิดซองเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทนของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ราย โดยมีตัวแทนของของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ราย เข้าร่วมสังเกตการณ์ ผลปรากฏว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) ผู้ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน ดังนี้

 

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 29,849 ล้านบาท

 

2. กลุ่มกิจการร่วมค้า CCCC-UN ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 26,289 ล้านบาท

 

3. กิจกรรมร่วมค้า บีจีเอสอาร์ ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 21,329 ล้านบาท

 

ส่วนโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) ผู้ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน ดังนี้

 

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 25,196 ล้านบาท

 

2. กลุ่มกิจการร่วมค้า UN-CCCC ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 23,149 ล้านบาท

 

3. กิจกรรมร่วมค้า บีจีเอสอาร์ ยื่นข้อเสนอขอรับค่าตอบแทน 17,809 ล้านบาท

 

อธิบดีกรมทางหลวงยังเปิดเผยต่อไปอีกว่า ขั้นตอนจากนี้ คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดความสมบูรณ์ถูกต้องและครบถ้วนของข้อเสนอซองที่ 2 ของผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 3 ราย โดยข้อเสนอจะต้องมีความเป็นไปได้และเป็นไปตามข้อกำหนด ก่อนที่จะพิจารณาจัดลำดับ เพื่อหาผู้ที่ผ่านการประเมินสูงสุด โดยผู้ยื่นข้อเสนอที่เสนอขอรับค่าตอบแทนต่ำที่สุด และตรวจสอบแล้วว่าข้อเสนอมีความครบถ้วนสมบูรณ์ จะถือว่าเป็น ‘ผู้ผ่านการประเมินสูงสุด’ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2562 และต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอซองที่ 3 ข้อเสนออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการและการดําเนินงานของกรมทางหลวง และขั้นตอนการเจรจากับผู้ผ่านการประเมินสูงสุด ก่อนที่จะประเมินให้เป็น ‘ผู้ชนะการคัดเลือก’ และพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนอื่นๆ ของ พ.ร.บ. เอกชนร่วมลงทุนฯ ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนได้ภายในเดือนมกราคม 2563

 

สำหรับขอบเขตความรับผิดชอบของเอกชนตามสัญญานี้ ประกอบด้วยงานระยะที่ 1 การลงทุนออกแบบและติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางและระบบบริหารจัดการจราจรที่ทันสมัย พร้อมก่อสร้างอาคารต่างๆ และองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้อง ภายในระยะเวลา 3 ปี ต่อจากนั้นจะเป็นงานระยะที่ 2 เอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) ทั้งในส่วนของงานโยธาและงานระบบ ตลอดระยะเวลา 30 ปี เช่น การจัดเก็บเงินค่าผ่านทางนำส่งให้กรมทางหลวง (รัฐเป็นเจ้าของรายได้ค่าผ่านทาง) การบริหารจัดการและควบคุมการจราจร งานด่านชั่งน้ำหนัก งานกู้ภัย การซ่อมแซมบำรุงรักษาถนนและอุปกรณ์ระบบต่างๆ เป็นต้น 

 

โดยเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนการให้บริการ (Availability Payment) หลังจากการเปิดให้บริการเส้นทางเต็มรูปแบบแล้ว ภายในวงเงินรวมไม่เกิน 33,258 ล้านบาท สำหรับสายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และไม่เกิน 27,828 ล้านบาท สำหรับสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) 

 

ทั้งนี้ หากการปฏิบัติงาน O&M ของเอกชนไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ เช่น ความเรียบของผิวถนน การสะท้อนแสงของป้ายและเส้นจราจร ความสว่างของไฟส่องทาง การซ่อมแซมถนนที่ชำรุดเสียหายให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด การจัดการรถติดขัดบริเวณหน้าด่าน การตอบสนองต่ออุบัติเหตุและเหตุการณ์ฉุกเฉิน ความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์งานระบบต่างๆ ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ อัตราการเกิดอุบัติเหตุและการเสียชีวิต การรักษาคุณภาพตามเกณฑ์การประเมินมาตรฐาน ISO เป็นต้น เอกชนจะถูกปรับลดค่าตอบแทนที่จะได้รับในแต่ละไตรมาสตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ต่อไป

 

ด้านนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส มองว่า การชนะสัมปทานครั้งนี้ของกลุ่มบีทีเอส จะสร้างผลกระทบทางบวกจากการได้รับผลตอบแทนในสัดส่วนการถือหุ้น 40% อย่างสม่ำเสมอในสัญญาสัมปทาน 30 ปี แต่เนื่องจากการเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางถึง 36% อาจทำให้ผลตอบแทนมีจำกัด 

 

ภาพ: กรมทางหลวง

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X