“หากอยากให้ลูกของคุณฉลาด อ่านนิทานให้เขาฟัง หากอยากให้เขาฉลาดขึ้นอีก ก็อ่านนิทานให้เขาฟังเยอะขึ้นอีก” – อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์
“ฉลาดขึ้นแล้วจะเหนื่อยขึ้นหรือเปล่า”
“แล้วถ้าอ่านนิทานที่ไร้สาระสุดๆ ไปเลยล่ะ?”
คือส่วนหนึ่งในบทสนทนาระหว่างเด็กๆ ที่ช่วยกันตั้งคำถามชวนคิดจากคำคมของนักวิทยาศาสตร์ระดับโลกในหนังสือ To Read or Not to Read, That is My Question ของ จิมมี่ เลี่ยว นักเขียนและนักวาดภาพประกอบลายเส้นชวนเหงาชาวไต้หวัน (A Chance of Sunshine, Sound of Colors, A fish that smiled at me, Starry Starry Night ฯลฯ) ที่บ่งบอกกระแสความเปลี่ยนแปลงการอ่านบนหน้ากระดาษ ไปสู่หน้าจออิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี
จิมมี่ เลี่ยว ชวนทุกคนหาคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า “จะเกิดอะไรขึ้นหากโลกนี้ไม่มีหนังสือ?” และ “หนังสือยังมีความจำเป็นกับผู้คนในยุคสมัยนี้อยู่อีกมากน้อยขนาดไหน?”
ผ่านเรื่องราวของลูกชายร้านหนังสือที่ลูกค้าประจำมากมายค่อยๆ ลดจำนวนสวนทางกับยอดแอ็กเคานต์แพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งหลาย เขาได้รับมอบหมายจากพ่อให้ชวนเพื่อนๆ ตัวแทนคนรุ่นใหม่มาสอบถามความคิดเห็นว่า พวกเขายังรักการอ่านหนังสืออยู่หรือเปล่า ก่อนที่วาระสุดท้ายของร้านหนังสือจะมาถึง
ความน่าสนใจของ To Read or Not to Read, That is My Question คือท้ายที่สุด ผู้เขียนก็ไม่ได้สรุปคำตอบตายตัวว่า หนังสือยังมีความจำเป็นอยู่หรือเปล่า แต่เป็นการตั้งคำถามปลายเปิดให้เด็กๆ รุ่นใหม่ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีจริงๆ ค้นหาคำตอบแห่งยุคสมัยด้วยตัวของพวกเขาเอง
ด้วยการหยิบคำคมของนักเขียนและผู้ประสบความสำเร็จระดับโลกที่เคยเอ่ยวาทกรรมแสดงทัศนะและอิทธิพลที่มีต่อการหนังสือ ตั้งแต่ เจ. เค. โรว์ลิง นักเขียนผู้เนรมิตโลกเวทมนตร์ใน Harry Potter, บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft และผู้คนหลากวงการอีกมากมาย
มาให้เด็กๆ ล้อมวงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ชนิดที่ผู้ใหญ่หลายคนที่เติบโตมากับการอ่านหนังสืออาจไม่ทันได้คิด แม้กระทั่งคำพูดอมตะของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่ยกตัวอย่างไปตอนต้นบทความ ก็ถูกตั้งคำถามจนเราเกือบนั่งไม่ติด
แต่ความตั้งใจของ จิมมี่ เลี่ยว ไม่ได้ต้องการกล่าวหาว่า การอ่านหนังสือเป็นสิ่งไม่ดี และโลกนี้ไม่จำเป็นต้องมีหนังสืออีกต่อไป เขาเพียงแค่รู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมนักที่เด็กๆ ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือจะถูกตัดสินว่าเป็นคนไม่ดี
เขาเป็นเพียงแค่คนที่มีความถนัดและความชอบที่แตกต่างออกไป ยังมีเรื่องราวอีกมากมายรอให้ค้นหา ในโลกที่ขยายพรมแดนกว้างออกไปทุกที
ลึกๆ แล้วเราเชื่อว่า เป็นตัวของ จิมมี่ เลี่ยว เองด้วยซ้ำที่เจ็บปวดยิ่งกว่าใคร เมื่อต้องเขียนข้อความตามความจริงแสนเศร้าที่ว่า คนอ่านหนังสือน้อยลงทุกวัน ในฐานะคนที่ชีวิตส่วนใหญ่ถูกหล่อหลอมมากับการอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก
และเขาก็ยังเลือกตั้งคำถามนี้ด้วยการตีพิมพ์ออกมาในรูปแบบ ‘หนังสือ’ ที่ตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของสิ่งนี้เอาไว้ในนั้น เพราะเขาก็ยังเชื่อว่า หนังสือจะยังมีคุณค่าเสมอ อย่างน้อยที่สุดก็ในความทรงจำของคนที่ได้อ่านและเก็บรักษามันเอาไว้
ช่วงหนึ่งที่เราชอบมากๆ ในหนังสือ To Read or Not to Read, That is My Question คือหน้าที่ จิมมี่ เลี่ยว เขียนความรู้สึกลึกๆ เอาไว้ในหนังสือว่า “ขอบคุณคนเขียนหนังสือ ขอบคุณคนทำหนังสือ ขอบคุณคนพิมพ์หนังสือ ขอบคุณคนขายหนังสือ และขอบคุณคนอ่านหนังสือ”
ที่ย้ำว่า เขาจะยังเขียนหนังสือต่อไป ด้วยความรักที่มีต่อหนังสือเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน เช่นเดียวกับที่เราจะยังอ่านหนังสือต่อไป เพราะไม่ได้ถูก ‘บังคับ’ ให้อ่าน แต่เราอ่านเพราะรักในทุกๆ ภาพวาดและตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในนั้น
ที่แปรเปลี่ยนภาพวาดและตัวอักษรให้กลายเป็นความทรงจำที่มีค่าอยู่ในหัวใจ แม้ในวันที่โลกนี้จะไม่มี ‘หนังสือ’ อีกต่อไปก็ตาม
ภาพ: godaypoets
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล