สำนักข่าว Bloomberg เปิดเผยกรณีข้อพิพาทล่าสุดของเฟซบุ๊ก เมื่อมีการตรวจพบว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 2.4 พันล้านรายแห่งนี้ ได้ว่าจ้างพนักงานนอกบริษัทให้มาตรวจเช็กการถอดข้อความเสียงที่บันทึกจากเสียงสนทนาบนบริการ Messenger ผ่านอุปกรณ์ของผู้ใช้งานแต่ละรายแล้วแปลงเป็นข้อความตัวอักษร
โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ใช้งานที่อนุญาตให้ Messenger สามารถบันทึกข้อความเสียงของพวกเขาเพื่อแปลงเป็นข้อความตัวอักษรได้ อย่างไรก็ดี ล่าสุดเฟซบุ๊กได้ออกมายืนยันกับสำนักข่าวหลายแห่งแล้วว่า พวกเขาได้ยุติการทำงานในขั้นตอนดังกล่าวมาเป็นระยะกว่า 1 สัปดาห์แล้ว
“เช่นเดียวกันกับ Apple และ Google เราได้หยุดกระบวนการตรวจสอบข้อความเสียงโดยมนุษย์ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว”
เป็นที่เชื่อกันว่าสาเหตุที่ทางเฟซบุ๊กต้องจ้างพนักงานคนนอกมาตรวจสอบข้อความเสียงดังกล่าวก็เพื่อเป็นการทดสอบความสามารถของ AI ที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้สามารถทำงานแปลงข้อความเสียงเป็นข้อความตัวอักษรอัตโนมัติ (Live Transcribe) ได้อย่างแม่นยำนั่นเอง
ทั้งนี้หากใครที่มีโอกาสได้ชมภาพยนตร์สารคดี The Great Hack ผ่าน Netflix หรือเคยชมการขึ้นให้การต่อสภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้วก็จะพบว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเคยให้ข้อมูลไว้ชัดเจนว่า บริษัทของพวกเขาไม่เคยแอบดังฟังผู้ใช้งานผ่านไมโครโฟนเพื่อนำข้อมูลไปสร้างประโยชน์ต่อจากการทำโฆษณาแบบ Targeted Advertising เด็ดขาด
อย่างไรก็ดี ในการตอบคำถามกับสภาคองเกรส เฟซบุ๊กเองก็เคยยอมรับว่าพวกเขาจะบันทึกข้อความผ่านไมโครโฟนของผู้ใช้งานผ่านแอปฯ เฉพาะในกรณีที่ได้รับอนุญาตจากผู้ใช้งานแล้วเท่านั้น หรือในระหว่างที่ผู้ใช้งานกำลังใช้ฟีเจอร์บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับฟีเจอร์ด้านเสียง (เช่น Voice Messaging เป็นต้น)
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: