แถลงการณ์ขององค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organisation – ISRO) ระบุว่าเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (14 ส.ค.) ปฏิบัติการส่งจันทรายาน-2 หรือยานสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียจากวงโคจรสุดท้ายสำเร็จด้วยดี
“ปฏิบัติการส่งจันทรายาน-2 จากวงโคจรสุดท้ายสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเมื่อเวลา 2.21 น. (14 ส.ค.) ตามเวลาท้องถิ่นของอินเดีย ระหว่างปฏิบัติการมีการติดเครื่องยนต์เชื้อเพลิงเหลวของยานเป็นระยะเวลา 1,203 วินาที เพื่อส่งจันทรายาน-2 เข้าสู่วิถีโคจรรอบดวงจันทร์” องค์การฯ ระบุในแถลงการณ์
องค์การฯ ระบุว่าก่อนหน้านี้มีการขยายวงโคจรของยานลำนี้อย่างต่อเนื่องทั้งหมด 5 ครั้ง ระหว่างวันที่ 23 กรกฎาคมถึง 6 สิงหาคม
นับตั้งแต่ยิงจันทรายาน-2 จากยานปล่อยดาวเทียม MkIII-M1สู่อวกาศ ระบบต่างๆ ทั้งหมดบนยานสามารถทำงานได้เป็นปกติ และก่อนหน้านี้ในเดือนสิงหาคม จันทรายาน-2 ได้ส่งภาพโลกชุดแรกกลับมายังโลก
แถลงการณ์ระบุด้วยว่าจันทรายาน-2 จะถึงดวงจันทร์ในวันที่ 20 สิงหาคม 2019 และต้องติดเครื่องยนต์เชื้อเพลิงเหลวของยานอีกครั้งเพื่อส่งยานเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ หลังจากนั้นจะต้องดำเนินการปฏิบัติการส่งยานเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์อีก 4 ครั้งเพื่อผลักยานเข้าสู่วงโคจรสุดท้าย โดยเคลื่อนผ่านขั้วเหนือของดวงจันทร์ในระดับความสูงจากพื้นผิวดวงจันทร์ประมาณ 100 กิโลเมตร
หากภารกิจนี้สำเร็จลุล่วง อินเดียจะกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถจอดยานอวกาศบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้ ต่อจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน
ทั้งนี้ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ครั้งนี้ของอินเดียซึ่งมีมูลค่าเกือบ 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4,624 ล้านบาท) มีเป้าหมายในการเก็บข้อมูลน้ำ แร่ธาตุ และการก่อตัวของหินบนพื้นผิวดวงจันทร์
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: สำนักข่าวซินหัว