×

Sea ประเทศไทย บริษัทแม่ Garena AirPay Shopee ชูกลยุทธ์เติบโต 3Es มั่นใจอนาคตอีคอมเมิร์ซยังสดใส

07.08.2019
  • LOADING...
Garena AirPay Shopee

ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 7 ปี บริการของ Sea (ประเทศไทย) ได้เข้ามามีบทบาทกับผู้ใช้งานคนไทยในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเกม (การีนา: Garena), เพย์เมนต์ (แอร์เพย์: AirPay) และอีคอมเมิร์ซ (ช้อปปี้: Shopee) จนวันนี้แต่ละบริการได้ทำให้สตาร์ทอัพยูนิคอร์นจากสิงคโปร์รายนี้ประสบความสำเร็จแบบติดลมบนไปแล้ว (ข้อสังเกตคือแม้ไทยจะเป็นตลาดสุดท้ายที่ Sea ขยายมาทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน แต่ก็ถือเป็นประเทศแรกที่เข้ามาให้บริการครบทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์)

 

จุดเริ่มต้นของ Sea ในไทยต้องย้อนกลับไปในปี 2012 จากดิจิทัลเอ็นเตอร์เทนเมนต์ในชื่อ ‘Garena’ ทำธุรกิจเกมผ่านทั้งแพลตฟอร์มพีซีและสมาร์ทโฟน ก่อนที่ในปี 2014 จะต่อยอดไปสู่แพลตฟอร์มด้านการเงิน AirPay ซึ่งเปรียบเสมือนส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อทุกธุรกิจในบริษัทเข้าด้วยกัน 

 

ในปี 2015 Garena ได้เริ่มให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซซื้อ-ขายของออนไลน์ Shopee ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Garena เป็น Sea (ประเทศไทย) ในอีก 2 ปีให้หลัง สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ไม่ได้เน้นแค่ธุรกิจความบันเทิงอีกต่อไป

 

สำหรับความสำเร็จในปัจจุบันของธุรกิจต่างๆ ในเครือ Sea (ประเทศไทย) สามารถจำแนกได้ดังนี้

 

1. Garena ยอดผู้ใช้งานลงทะเบียน Garena บนพีซีและสมาร์ทโฟนมากกว่า 35 ล้านรายและ 40 ล้านรายตามลำดับ (มีผู้ใช้งาน Active Users ในภูมิภาคอาเซียนมากกว่า 271.6 ล้านราย)

 

2. AirPay ยอดดาวน์โหลดมากกว่า 7.5 ล้านครั้ง, จุดให้บริการครอบคลุม 200,000 จุด

 

3. Shopee ยอดดาวน์โหลดมากกว่า 30 ล้านครั้ง

 

เมื่อมองถึงโอกาสในการขยายธุรกิจและการเติบโตต่อจากนี้ทั้งภูมิภาคอาเซียน มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) เชื่อว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลยังดำเนินไปในทิศทางที่ดีมากๆ โดยรายงานจาก Google และ Temasek คาดว่ามูลค่ายอดขายบริการต่างๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัล (GMV) ในปี 2018 ที่ 72,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 240,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 โดยคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ 233%

 

ขณะที่ในตลาดประเทศไทย มณีรัตน์มองว่าเสน่ห์ที่ทำให้ผู้บริโภคคนไทยแตกต่างจากผู้บริโภคในประเทศอื่นๆ คือความพร้อมในการเปิดรับเทคโนโลยี บริการ และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สังเกตได้จากผลตอบรับธุรกิจเกมของ Garena ในไทยตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา 

 

จากเดิมที่ Garena เคยจัดการแข่งขันและถ่ายทอดสดอีสปอร์ตในปี 2012 แล้วมียอดผู้ชมที่ 750,000 ราย พร้อมเงินรางวัล 800,000 บาท ก็เพิ่มขึ้นเป็น 276 ล้านรายและ 67 ล้านบาทตามลำดับในปี 2018 โดยหนึ่งในบทบาทสำคัญของ Sea (ประเทศไทย) คือผลักดันให้ภาคอีสปอร์ตเติบโตอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ไทยเป็นหนึ่งในฮับด้านอีสปอร์ตของอาเซียน รวมถึงสร้างรายได้ให้ประเทศไทยจาก Sport Tourism

 

ส่วนกลยุทธ์ต่อจากนี้ของ Sea (ประเทศไทย) จะเน้นไปที่ 3Es ได้แก่

 

1. Enlarge ขยายขอบเขตบริการให้กว้างขึ้น เช่น ข้อจำกัดก่อนหน้านี้ของธุรกิจเกมคือเล่นได้เฉพาะบนพีซี คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แต่ปัจจุบันสมาร์ทโฟนทั่วไปก็สามารถเล่นได้แล้ว แถมเกม Free Fire ที่ทาง Sea พัฒนาขึ้นมาเองก็ยังประสบความสำเร็จจนได้รับความนิยมในแถบอเมริกาใต้อีกด้วย

 

2. Enable ทำให้คนเปิดรับใช้บริการใหม่ๆ ต่อเนื่อง เช่น กรณี Shopee ที่ Sea จะพยายามสร้างความมั่นใจในการใช้งานให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังแยกการบริหารงาน 7 ประเทศออกจากกันโดยสิ้นเชิง ทำให้สามารถปล่อยแคมเปญและ Localize ฟีเจอร์ต่างๆ ออกมาให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากที่สุด

 

3. Empower สร้างดิจิทัลสกิลให้กับคนในชุมชน เดินหน้าพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลเข้าสู่อุตสาหกรรมผ่านการร่วมมือกับสถาบันศึกษาในหลักสูตรการศึกษาต่างๆ

 

นอกจากนี้ Sea (ประเทศไทย) ยังจะให้ความสำคัญกับการสร้างเอ็นเกจเมนต์ระหว่างผู้บริโภคกับบริการของ Sea เช่น การเปิดให้แพลตฟอร์ม Shopee สามารถเล่นเกมหรือไลฟ์สดขายสินค้าเพื่อเพิ่มความหลากหลายในเชิงการใช้งาน ดึงคนเข้ามาใช้งานมากขึ้น รวมถึงอยู่ในระหว่างทดลองบริการส่งสินค้าภายในวันเดียวผ่าน Shopee Delivery เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อ-ผู้ขาย

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือแม้จะเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 4 ปี แต่อย่างที่ทราบกันว่าผลประกอบการของ Shopee หรือแม้แต่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นๆ ก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็ให้ความสำคัญกับการทำแคมเปญโปรโมชันกระตุ้นตลาดด้วยกันแทบทั้งนั้น

 

ข้อมูลผลประกอบการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาของ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

  • ปี 2559 รายได้ 56,606 บาท / ขาดทุน 528,606,947 บาท
  • ปี 2560 รายได้ 139,759,404 บาท / ขาดทุน 1,404,204,028 บาท
  • ปี 2561 รายได้ 165,296,143 บาท / ขาดทุน 4,113,962,832 บาท 

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า ปัจจุบัน Shopee ยังอยู่ในเฟสการกระตุ้นตลาดและผู้บริโภคให้เกิดการใช้งานเป็นหลัก เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซเจ้าอื่นๆ เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ก่อน ส่วนจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหนอาจจะต้องตามดูเทรนด์กันอีกที ซึ่งในอนาคตก็มีความเป็นไปได้ว่า Shopee อาจจะมีการปรับโมเดลธุรกิจ รวมถึงเมื่อตลาดอยู่ตัวขึ้นมาเมื่อไรก็มีโอกาสที่ Shopee จะเติบโตได้เช่นกัน

 

“สิ่งที่เรากำลังทำในตอนนี้คือเพิ่มความยืดหยุ่นและเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการดำเนินการและการทำงานของทีมเพื่อให้ Shopee พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้เราก็ยังให้ความสำคัญกับ Customer Journey มากๆ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีเอ็นเกจเมนต์กับเรา นึกถึงเราเสมอ (เมื่อต้องการซื้อ-ขายสินค้า) และเกิดประสบการณ์การใช้งาน Shopee ที่ดีที่สุด”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X