×

HER ที่ยากกว่าตัดใจคือตัดหนัง

05.06.2017
  • LOADING...

     สไปก์ จอนซ์ (Spike Jonze) ตัดต่อ HER ร่างแรก ความยาว 150 นาที เขารู้สึกว่ามันไม่เวิร์กแล้วก็ตีบตัน เขาจึงลองให้สตีเฟน โซเดอร์เบิร์ก (Steven Soderbergh) ผู้กำกับ Ocean’s Eleven และล่าสุดกับหนังใหม่ Logan Lucky ลองตัดให้สั้นลงตามใจตัวเอง โซเดอร์เบิร์กหายไป 24 ชั่วโมงและกลับมาพร้อมกับร่างใหม่ความยาว 90 นาที (ตัดซะเหี้ยนเลย) สุดท้ายสไปก์เลยเอาฉบับ 90 นาทีนั้นมาโมใหม่ให้กลายเป็นฉบับ 126 นาทีที่เราได้ดูกัน (โซเดอร์เบิร์กอาจจะคิดว่า นี่มึงถ่ายอะไรเยอะแยะ หนัง 90 นาทีก็จบได้แล้ว)

 

    Photo: Her, Movie 

     การทำหนังเป็นเรื่องการจัดวางคอมโพสิชันระหว่างภาพ เสียง และเวลา ฟังแล้วดูนามธรรมเหลือเกิน อะไรของมึง ‘จัดวางเวลา’ แต่ลองนึกง่ายๆ สมมติว่าเราอยากให้คนดูนั้นซาบซึ้งที่ตัวละครคิดถึงใครสักคน เราอาจจะต้องให้คนดูเห็นภาพท้องฟ้าอันเวิ้งว้างสัก 2 วินาทีก่อน แล้วค่อยตัดมาให้คนดูเห็นภาพนางเอกเหม่อมอง จากนั้นเราอาจจะต้องให้คนดูจ้องหน้าเธอค้างไว้อีก 4 วินาทีก่อนที่นางเอกหลับตา แล้วเราค่อยตัดภาพไปที่มือของนางเอกที่กำลังกำแน่นอีก 2 วินาทีก่อนจะตัดเข้าภาพดำพร้อมกับเพลงบรรเลงช้าๆ คนดูถึงจะร้องไห้ไปกับฉากนี้

     คุณคนดูอาจจะมองไม่เห็นวิธีการลำดับภาพเหล่านี้ขณะดูหนัง แต่นี่คือสิ่งที่พวกเราทำเพื่อสร้างอารมณ์ให้เกิดขึ้นและ incept เข้าไปในตัวพวกคุณ และพวกเราต้องแม่นยำพอที่จะรู้ว่าภาพช็อตนี้ถ้าค้างนานไปอีก 2 วินาที ความเศร้าของซีนนั้นจะลดลงทันที หรือซีนนี้เห็นหน้านางเอกกำลังจะร้องไห้แล้วตัดจบ อาจจะได้ผลทางอารมณ์มากกว่าปล่อยให้นางเอกร้องไห้แล้วค่อยตัดจบ ผมถึงเรียกเล่นๆ ว่าเรากำลังจัดวางคอมโพสิชันของเวลา เราต้องกะเกณฑ์ว่าอะไรพอเหมาะพอดีสำหรับสตอรีและสำหรับคนดู ซึ่งเหล่านี้ทั้งหมดเราจะทำในกระบวนการตัดต่อหนัง

     เนื่องด้วยเป็นงานที่อาศัยสมาธิและจิตใจพอสมควร ดังนั้นใครจิตใจขุ่นมัวมักจะทำไม่ได้ บุคคลที่มีจิตใจขุ่นมัวสุดในการทำหนังก็คือผู้กำกับนั่นเอง คุณอาจจะคิดว่า ไอ้ผู้กำกับนี่ต้องเป็นคนที่ไม่ขุ่นมัวสิ มันอยู่กับหนังมาตั้งแต่แรก แต่ความจริงแล้วไอ้นี่แหละตัวมัวเลย

     เนื่องจากเขาอยู่กับตัวหนังมาตั้งแต่ต้นทางขณะพัฒนาโปรเจกต์ เขาเป็นคนออกกองไปถ่ายทำ และเขาเป็นคนที่กลับมาดูงานนี้อีกครั้งในห้องตัดต่อ ว่าง่ายๆ คือเห็นทุกอย่างในหนังมาจนจิตใจบอบช้ำ เห็นหนังมาแล้วเป็นร้อยๆ รอบ ในหัวจึงไม่สามารถประเมินได้ว่านี่ดีแล้วหรือยัง ช็อตที่เคยดูรอบแรกแล้วฮามาก พอดูรอบที่ร้อยก็เริ่มไม่ขำ พานจะทำให้รู้สึกว่าทำไมช็อตนี้มันน่าเบื่อแบบนี้ ฮาตรงไหน หรือบทกูมันไม่ฮา เอ๊ะ หรือกูมันไม่ดี หรือว่ากูมันโง่ (แม่งเริ่มไปกันใหญ่แล้ว แต่มันเป็นแบบนี้จริงๆ) นอกจากนี้ยังแถมด้วยการมีอคติจากการออกไปถ่ายทำมา เช่น ช็อตนี้กว่าจะถ่ายได้ลำบากมาก นักแสดงต้องโดนตบหน้าจริง 10 กว่าครั้ง แต่ยังไงก็ต้องใช้ช็อตนี้ให้ได้ ถ้านักแสดงไปดูหนังแล้วไม่มีฉากนี้เดี๋ยวกูโดนด่า สิ่งนี้ยิ่งทำให้มองไม่เห็นความจริงว่าที่ชอบช็อตนั้นนี่ ชอบเพราะมันดี หรือชอบเพราะมันได้มายาก

 

Photo: www.slashfilm.com

     ดังนั้นผู้ที่จะมาไถ่บาปและขัดเกลาจิตใจผู้กำกับก็คือคนตัดต่อผู้ไม่รู้อะไรเลย ฟังดูแล้วเหมือนจะไม่ดี แต่จริงๆ แล้วดี เนื่องจากเขาไม่เคยเห็นอะไรมาก่อน เขาจึงตัดสินใจใช้ช็อตต่างๆ อย่างยุติธรรม วัดกันที่คุณภาพของช็อตนั้นๆ ต่อให้นักแสดงจะโดนตบหน้าจริงไป 10 ที แต่ถ้าดูแล้วมันแสดงไม่ดีก็จะตัดออกไปเลยอย่างไร้เยื่อใย (หลายครั้งเขาจะไม่ให้คนตัดต่อมาเยี่ยมกอง เพราะเดี๋ยวเห็นภาพความยากลำบากขณะถ่ายทำจะเกิดความสงสาร ตัดไม่ได้) หรือมุกไหนฮาหรือไม่ฮา คนตัดต่อก็จะช่วยตัดสินให้ได้เสมือนว่าเป็นคนดูตาใสที่ดูรอบแรก และด้วยความที่ตาใสขนาดนี้ คนตัดต่อจะมองเห็นภาพรวมของหนัง จะรู้ว่าอะไรยาวเกินไป อะไรสั้นเกินไป เพราะหนัง 90-120 นาที เป็นเรื่องของภาพรวมขนาดใหญ่ เหมือนเราต้องหล่อเลี้ยงคนดูให้อยู่กับหนังไปได้ตลอดรอดฝั่ง บางช่วงคนดูอาจรู้สึกว่ามันยาวเกินไป ก็ต้องกระชับให้สั้นลง บางช่วงสั้นไปดูไม่รู้เรื่อง ก็ต้องเติมข้อมูลเข้าไป ในขณะที่ผู้กำกับนั้นอาจจะอยากใส่ทุกเนื้อหาที่ตัวเองเตรียมไว้ลงในหนังให้ครบ แต่คนตัดต่อนี่แหละคือคนที่คอยเบรกไว้ว่าใส่เยอะไปแล้ว เดี๋ยวคนดูอ้วก หรือตรงนี้ไม่ต้องเบิ้ลซ้ำก็ได้เพราะคนดูเข้าใจตั้งแต่นาทีที่ 10 ของหนังแล้ว

     การที่จอนซ์ตีบตันและเปลี่ยนมือให้โซเดอร์เบิร์กลองตัดในแบบฉบับของเขาดู จึงอาจจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง แบบว่าช่วยดูหน่อยว่าช็อตไหนสำคัญตัวผิดไป คิดว่าสวยแต่จริงๆ มันไม่ได้สวยมาก อันไหนกลัวคนดูไม่รู้เรื่องเลยเล่าแบบย้ำคิดย้ำทำ โซเดอร์เบิร์กก็จัดให้ด้วยการตัดหนัง 1 ชั่วโมงที่ดูไม่จำเป็นออกไปเลย

     เคยคิดเล่นๆ ว่าที่ต้องมานั่งนอยด์กันอยู่แบบนี้ ก็เพราะเราไม่สามารถจำลองให้สายตาของตัวเองกลายเป็นสายตาของคนดูได้ มันคล้ายๆ กับว่าบางครั้งตัวเราเองไม่รู้ว่าตัวเราเป็นคนยังไง ต่อให้ส่องกระจกก็ยังมองไม่เห็น ต้องวานให้คนอื่นช่วยมอง ช่วยคอมเมนต์ ช่วยวิจารณ์หน่อย เราต้องลองผิดลองถูกแล้วจดจำจังหวะให้ได้ (นามธรรมอีกแล้ว) เพราะนี่คือการจัดวางภาพ เสียง และเวลา

     หลายคนจึงเคยบอกไว้ว่าการทำหนังมันเหมือนการทดลองวิทยาศาสตร์ ผสมสารเคมีแล้วไปทำปฏิกิริยากับความรู้สึกในหัวคน อันเป็นสิ่งที่นามธรรมแบบดับเบิ้ล (เคมีแล้วยังไปเกิดในหัวคนอีก แล้วกูจะเช็กยังไงงง)

     เพราะแบบนี้ เขาถึงบอกว่า Movie is magic.

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising