สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยว่า ปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำโขงลดลงมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยหลักคือ
1. ปริมาณฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ทั้งที่ประเทศจีน ลาว และฝั่งไทย
2. เขื่อนจิ่งหงของจีนปรับลดการระบายน้ำ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ ลงวันที่ 3 ก.ค. 2562 แจ้งเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ในช่วงวันที่ 9-18 ก.ค. 2562 เพื่อดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตพลังน้ำ
สทนช. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 8 จังหวัดริมโขง ได้แก่ เชียงราย เลย นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2562
ปัจจุบันระดับน้ำโขงที่มาจากเขื่อนจิ่นหง ณ สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย อยู่ที่ 2.1 เมตร จากระดับน้ำก่อนจีนปรับลดการระบายอยู่ที่ 2.69 เมตร
3. การทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรีของลาว ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ ได้เริ่มทำการทดสอบในช่วงระหว่างวันที่ 15-29 ก.ค. 2562 จะทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้น และลดลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อวันที่ 9-17 ก.ค. 2562 ทางเขื่อนได้ทำการกักเก็บน้ำบางส่วนเพื่อดำเนินการทดสอบระบบ จึงทำให้ระดับน้ำโขงฝั่งไทยลดลง และหลังจากวันที่ 17 ก.ค. 2562 จึงทำการทดสอบเครื่องปั่นไฟ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมา มีระดับสูงขึ้น 40-50 ซม.
จาก 3 ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้ระดับน้ำโขงลดลง และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่มีระดับน้ำลดลงจากก่อนทดสอบกว่า 1 เมตร
สทนช. จึงได้เร่งประสานอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ของลาว และทำหนังสือด่วนผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว เพื่อให้ลาวพิจารณาชะลอการทดสอบระบบดังกล่าวออกไปประมาณ 2-3 วัน เพื่อรอให้น้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจากเขื่อนจิ่งหงไหลลงมาถึงก่อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ระหว่างวันที่ 18-20 ก.ค. 2562 สถานการณ์ของระดับน้ำโขงจะเข้าสู่ภาวะปกติ
สถานการณ์ของระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมา พบว่า สถานการณ์ทุกสถานีระดับน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และค่าต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ระดับค่าความแตกต่างของระดับน้ำก่อนลดการระบาย กับระดับน้ำที่ต่ำสุดในช่วงลดการระบาย -1.79 เมตร ซึ่งลดต่ำลงในรอบ 28 ปี
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์