×

ถอดบทเรียนจากสนามแข่ง F1 สู่ห้องทำงานของ CEO จากบริษัทที่ปรึกษานักแข่งรถระดับโลก

12.08.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • Hintsa Performance คือบริษัทที่ปรึกษานักแข่ง F1 ซึ่งดูแล อเล็กซ์ อัลบอน นักแข่งลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ที่กำลังโลดแล่นอยู่ในศึก F1 ภายใต้ทีม Toro Rosso 
  • สิ่งที่ช่วยให้นักแข่งไปได้เร็วขึ้น ประกอบไปด้วยปัจจัยนอกสนามหลายอย่างตั้งแต่ สมาธิที่ดีเยี่ยม ความใส่ใจในรายละเอียด ความสามารถในการทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน และการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว 
  • ปัญหาหลักที่นักแข่ง F1 เจอ คือการปรับสภาพร่างกายเมื่อต้องเดินทางไปทั่วโลก ทั้งเวลากินและนอน ซึ่งต้องมีการเตรียมการวางแผนก่อนขึ้นเครื่องบินทุกครั้ง

ในการแข่งขันกีฬา การฝึกฝนทักษะต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพเป็นเรื่องจำเป็นที่ขาดไม่ได้ แต่สำหรับกีฬาความเร็วสูงอย่างรถแข่งสูตรหนึ่ง หรือ F1 นั้น เราอดสงสัยไม่ได้ว่าทีมงานจะสามารถพัฒนาศักยภาพของนักแข่งให้สามารถขับได้เร็วขึ้น หรือสามารถทำเวลาได้ดีขึ้นได้อย่างไร

 

 

การช่วงชิงไหวชิงพริบ สัญชาตญาณของนักแข่ง การตัดสินใจในช่วงเวลาเสี้ยววินาที และสมาธิอันดีเลิศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการฝึกฝนมาแบบไหน

 

จากข้อสงสัยที่เกิดขึ้น THE STANDARD พูดคุยกับบริษัท Hintsa Performance ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษานักแข่ง F1 รวมถึง อเล็กซ์ อัลบอน นักขับลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ที่กำลังโลดแล่นอยู่ในศึก F1 เป็นปีแรก ซึ่งนอกจากจะให้คำแนะนำกับนักแข่งแล้ว พวกเขายังถอดบทเรียนจากสนามแข่งขันความเร็วสูงมาปรับใช้กับผู้บริหารชั้นนำของโลก ที่ต้องลงสนามแข่งขันในโลกธุรกิจระดับสูงเช่นเดียวกัน 

 

การประเมินศักยภาพนักแข่ง F1 และการดึงเอาความเร็วสูงสุดลงสู่สนามแข่งขัน 

 

 

สิ่งแรกที่ THE STANDARD พยายามค้นหาจากบริษัท Hintsa คือ พวกเขาใช้วิธีไหนในการประเมินศักยภาพของนักแข่ง F1 ซึ่ง Hintsa เผยว่าผลการแข่งขัน หรือเวลาในสนามอาจไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เนื่องจากการเตรียมพร้อมก่อนการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์มีรายละเอียดที่เกี่ยวข้องหลายปัจจัย 

 

“เราจะพูดคุยกับนักแข่งเกี่ยวกับขั้นตอนการเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์ 

 

การเตรียมความพร้อมในที่นี้หมายถึงการฝึกซ้อมร่างกาย โภชนาการอาหาร การเตรียมสภาพจิตใจ การวางแผนต่างๆ เลยไปจนถึงการรับมือกับเจ็ตแล็ก

 

“เมื่อเราพอใจกับการเตรียมพร้อมต่างๆ หลังจากนั้นศักยภาพของนักแข่งก็จะสูงขึ้น โดยเราจะไม่พยายามคาดการณ์ผลการแข่งขัน ทั้งการผ่านเข้ารอบต่อไปหรือตำแหน่งที่จบ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถช่วยให้ผลงานออกมาดีขึ้นได้ และบางครั้งก็ส่งผลกระทบที่ไม่ดีให้กับนักแข่งอีกด้วย

 

“หลังจากจบการแข่งขันในแต่ละสัปดาห์ เราจะกลับมาถอดบทเรียนในแต่ละส่วน เพื่อหาจุดที่เราควรพัฒนา และเราจะเร่งหาทางแก้ไขอย่างสุดความสามารถ”

 

ขณะที่การผลักดันให้นักแข่งสามารถทำความเร็วสูงสุดในสนามนั้น Hintsa ยอมรับว่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ แต่ความจริงแล้วศักยภาพการแข่งขันของ F1 ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครสามารถขับไปได้เร็วที่สุด แต่มันคือการพัฒนาหลากหลายทักษะ และที่สำคัญคือการทำให้ทุกอย่างสอดคล้องกันในช่วงการเตรียมตัวระหว่างสัปดาห์ 

 

“ทักษะที่เราโฟกัสเพื่อความสำเร็จแบ่งออกเป็น สมาธิที่ดีเยี่ยม ความใส่ใจในรายละเอียด ความสามารถในการทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน การตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว 

 

“ทักษะเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่เราโฟกัสในการฝึกซ้อม เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันเหมือนกับที่เราโฟกัสเรื่องความสามารถทางแอโรบิก และการฝึกซ้อมกล้ามเนื้อ การพัฒนาทักษะเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการช่วยให้นักแข่งของเราทำเวลาได้ดีขึ้น”

 

ชีวิตการทำงานของนักแข่ง F1 ที่ต้องเดินทางตลอดปี 

 

 

สำหรับนักแข่ง F1 ที่ต้องเดินทางไปทั่วโลกตลอดทั้งฤดูกาลเพื่อลงแข่งขันด้วยความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการเวลาที่ดี  

 

เราถามถึงเคล็ดลับในการบริหารเวลากินและเวลานอนในแต่ละวันของนักแข่ง F1 ซึ่งที่สุดแล้วก็ค้นพบว่าเป็นตารางการใช้ชีวิตที่มีระเบียบวินัยสูง แต่ในขณะเดียวกันก็น่าทดลองทำตามไม่น้อย หากอยากประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับนักแข่ง F1 ระดับโลก

 

 

 

เริ่มต้นจากอาหาร 3 มื้อในแต่ละวันของอเล็กซ์ อัลบอน ซึ่งทาง Hintsa จะพยายามรักษาสมดุล และความสม่ำเสมอทั้งประเภท และปริมาณของอาหารที่ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในแต่ละวันของนักแข่ง 

 

แต่โดยพื้นฐานอาหารในแต่ละมื้อของอเล็กซ์ อัลบอน จะประกอบไปด้วย 

 

อาหารเช้า

เป้าหมายของอาหารเช้าคือเมนูอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลและไขมันต่ำ 

 

เมนู 

  • ไข่ 3 ฟอง (ไข่คนหรือไข่ดาวน้ำ) ขนมปังไม่ขัดสีหนึ่งแผ่น และอะโวคาโดหนึ่งผล 
  • ข้าวโอ๊ตหนึ่งชาม ผลไม้ และน้ำผึ้ง 

 

อาหารเที่ยง 

สำหรับอาหารเที่ยง คือการเติมพลังหลังจากการฝึกซ้อมทั้งในและนอกสนาม เราเลือกใช้อาหารคุณภาพสูงที่มีปริมานน้ำตาลต่ำและมีโปรตีน ซึ่งเราอาจต้องเพิ่มอาหารโปรตีนหากโปรแกรมฝึกซ้อมในช่วงเช้าเป็นการสร้างความแข็งแกร่ง หรือ การฝึกซ้อมเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และการซ่อมแซมกล้ามเนื้อ 

 

  • เนื้อขาว 1-2 ชิ้น (เนื้อไก่หรือเนื้อไก่งวง)  
  • ข้าว (ข้าวสวยหรือโฮลวีต)
  • ผักหลายชนิดหรือสลัด แล้วแต่ความชื่นชอบของนักแข่ง แต่เรายังคงตั้งเป้าให้มีผักสีเขียวที่ช่วยในการต้านสารอนุมูลอิสระ

 

อาหารเย็น 

สำหรับอาหารเย็นจะมีความคล้ายกับมื้อเที่ยง แต่เราอาจจะเพิ่มคาร์โบไฮเดรต เพื่อเพิ่มไกลโคเจนให้กักเก็บเอาไว้ในเซลล์กล้ามเนื้อให้ได้มากที่สุด สำหรับวันถัดไปของอเล็กซ์ 

 

  • เนื้อขาวหรือปลา 1 ชิ้น 
  • เพิ่มปริมาณข้าวหรือพาสต้า (ข้าวขาวหรือโฮลวีต) 
  • ผักหลายชนิด 

 

 

 

เวลานอนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญสำหรับนักแข่ง โดยเฉพาะกีฬาที่ใช้ความเร็วสูงเนื่องจากสมาธิ ความตื่นตัวต่อเหตุการณ์ และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็นสิ่งสำคัญอย่างแรกเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ยานยนต์ทุกชนิด 

 

แน่นอนว่าสำหรับนักแข่งขัน F1 ทุกอย่างต้องมีความรัดกุมมากขึ้น เนื่องจากความผิดพลาดเพียงแค่เสี้ยววินาที อาจหมายถึงความเสียหายทั้งรถและชีวิตที่คาดเดาไม่ได้

 

สำหรับเวลานอนของอเล็กซ์​ Hinsta เล่าว่าเขาจะใช้เวลานอนอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 9 ชั่วโมง โดย Hintsa ย้ำว่าการนอนเป็นพฤติกรรมที่ต้องฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราสามารถพักผ่อนได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ 

 

“เมื่อเราเตรียมอเล็กซ์ให้พร้อมกับสำหรับการนอน เราจะไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต 45 นาทีก่อนนอน

 

“นี่เป็นเวลาที่เราจะให้สมองปรับลดการทำงาน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนอน และ เป็นการหลีกเลี่ยง Blue Light จากหน้าจอ ที่จะทำให้นอนไม่หลับ

 

“เราจะงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนตั้งแต่ช่วงเวลา 15.00 น. ขณะที่อุณหภูมิห้องจะอยู่ที่ประมาณ 15-17 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงเวลานอนนั้นอเล็กซ์จะเตรียมตัวเข้านอนตั้งแต่เวลา 22.00 น. และจะนอนเวลา 22.30 น.

 

“ส่วนเวลาปลุกตอนเช้าจะไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน ส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 7.00-8.00 น. แต่เราจะเริ่มต้นฝึกซ้อมในช่วงเช้าตั้งแต่ 9.00 น. ส่วนชั่วโมงในการนอนนั้นต้องมากกว่า 9 ชั่วโมงขึ้นไป”

 

สำหรับนักแข่ง F1 ความท้าทายสำหรับการนอนในแต่ละวันไม่ใช่เพียงแค่การทำตามช่วงเวลาที่กำหนด แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการนอนอยู่เป็นประจำเนื่องจากตารางการเดินทางไปทั่วโลก และการรับมือกับไทม์โซนที่แตกต่างกันตลอดทั้งปี 

 

ซึ่งการรับมือกับเวลานอนที่เปลี่ยนแปลงหรือเจ็ตแล็ก ทาง Hintsa ได้เผยเคล็ดลับที่น่าสนใจสำหรับนักเดินทางว่า

 

 

ช่วงเริ่มต้นเมื่อ อเล็กซ์ อัลบอน จะขึ้นเครื่องบิน ทาง Hintsa จะปรับนาฬิกาชีวิตของอเล็กซ์ให้ตรงสำหรับเป้าหมายปลายทาง ตั้งแต่ตอนที่อเล็กซ์ก้าวขึ้นเครื่อง 

 

“เราจะปรับเวลาให้ตรงกับสถานที่ปลายทาง และตลอดการเดินทางบนเครื่องบิน นักแข่งจะกินและนอนตามตารางที่ตรงกับเวลาของสถานที่ปลายทาง 

 

ระหว่างที่ปรับเวลานี้ อเล็กซ์จะใช้คาเฟอีนและแสงแดด เพื่อช่วยในการปรับเวลาที่ต้องตื่น และใช้สารเมลาโทนินช่วยในบางครั้งที่เขาต้องปรับเวลานอน 

 

ตอนที่เครื่องลงจอด แผนการจะขึ้นอยู่กับว่าเราเดินทางไปยังทิศตะวันออกหรือตะวันตก ถ้าตะวันออกเราต้องปรับนาฬิกาไปข้างหน้า และต้องเตรียมตัวนอนเร็วขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นเราต้องเตรียมห้องนอนไว้ในสภาพที่พร้อม ทั้งอุณภูมิ ผ้าม่านกันแสง รวมถึงให้นักแข่งกินเมลาโทนิน และอาบน้ำอุ่น 30 นาทีก่อนนอน และแน่นอนว่าเขาต้องหลีกเลี่ยงแสงสีฟ้าจากอุปกรณ์ต่างๆ ทั้งมือถือและแท็บเล็ต

 

แต่ถ้าเราเดินทางไปทิศตะวันตก และต้องตื่นนานกว่าเดิม เราจะใช้วิธีออกไปเจอกับแสงแดดให้มาก รวมถึงเพิ่มคาเฟอีนและออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้ร่างกายตื่นตัว จนกว่าจะใกล้ถึงเวลานอนตามตาราง 

 

การปรับเวลานอนในการเดินทางไปทิศตะวันออกที่เวลานอนเร็วขึ้น จะง่ายกว่าการปรับเวลานอนในการเดินทางไปทิศตะวันตกที่ต้องเข้านอนช้าลง” 

 

การบริหารจัดการกับความเครียด และการส่งเสริม Work Life Balance คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จทั้งในและนอกสนามของนักแข่ง 

 

 

การแข่งขันกีฬาในระดับสูงนั้นไม่ต่างจากการแข่งขันในสมรภูมิธุรกิจ ซึ่งผู้ที่เตรียมพร้อมรับมือกับความกดดันมหาศาล และความเครียดที่สามารถก่อตัวขึ้นได้ทุกเมื่อ ได้ดีที่สุดคือผู้ชนะที่แท้จริง

 

สำหรับอเล็กซ์เองซึ่งเป็นนักแข่งวัยหนุ่มที่ก้าวเข้ามาสู่ F1 ในปีแรกทาง Hintsa มองว่า สิ่งที่ต้องโฟกัสในการพัฒนาตัวเองนอกเหนือจากการเป็นนักแข่งที่ดีแล้ว อเล็กซ์ ยังต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพอีกด้วย 

 

“เราทำงานหนักทั้งด้านการเตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ 

 

“อย่างแรกเราต้องมั่นใจว่าร่างกายของอเล็กซ์พร้อมสำหรับการแข่งขันสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการเตรียมพร้อมสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง 

 

“ในการพัฒนาสภาพจิตใจ แน่นอนว่ามีหลายปัจจัยและรายละเอียดมากมาย แต่ถ้าจะสรุปสั้นๆ คือ ต้องเตรียมสภาพจิตใจเขาให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ใดๆ ก็ตามที่อาจจะเกิดขึ้น โดยจำลองสถานการณ์ต่างๆ และหาวิธีการรับมือที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ดีหรือไม่ดี 

 

 

“การรับมือกับความเครียดระหว่างการแข่งขันระดับสูง คือสิ่งที่นักแข่ง F1 ที่ประสบความสำเร็จมี มันเป็นทักษะที่เติบโตขึ้นจากความทุ่มเทและประสบการณ์” 

 

หนึ่งในสิ่งที่เราสงสัย คือการเป็นนักกีฬาอาชีพอย่างนักแข่ง F1 ที่ต้องเดินทางอยู่เป็นประจำ จะสามารถมีสิ่งที่เรียกว่า Work Life Balance ได้หรือไม่ ซึ่งทาง Hintsa เผยว่า เรื่องนี้แท้จริงแล้วไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากหัวใจสำคัญของการมี Work Life Balance คือการบริหารจัดการเวลาที่ดี 

 

“เราวางแผนการเดินทาง แผนการฝึกซ้อม และแผนการเตรียมพร้อม เพื่อให้เขามีเวลาว่างในช่วงเวลาระหว่างการแข่งขัน และสามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป สามารถทำในสิ่งที่เขาอยากทำ เช่น ใช้เวลากับครอบครัว เพื่อน และลองเล่นกีฬาชนิดอื่นๆ นอกเหนือจาก F1 นี่เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยรักษาสมดุลของจิตใจนักแข่งตลอดฤดูกาล”

 

‘No Pain, No Gain’ ค่านิยมที่ไม่ได้นำพาสู่ความสำเร็จเสมอไป 

 

 

หลายคนคุ้นเคยกับประโยคเตือนใจอย่าง No Pain, No Gain ที่สอนเราว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ และความสำเร็จทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นมาจากการทำงานหนัก แน่นอนว่าการทำมาก ผลตอบแทนที่ได้มาย่อมมีมาก แต่สำหรับ Hintsa พวกเขามีความเชื่อที่แตกต่างออกไป 

 

คำพูดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในกีฬาประโยคหนึ่งคือ ‘No Pain, No Gain’ ซึ่งแปลว่าต้องทุ่มเททุกอย่างจนถึงขั้นกับเสียอะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการ แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ปรัชญาในการช่วยพัฒนานักแข่งของเรา

 

“เราเลือกที่จะทำงานอย่างฉลาดมากกว่าทำงานหนัก แน่นอนว่าเราจะมีช่วงเวลาหนึ่งของฤดูกาลที่ต้องมีโปรแกรมฝึกซ้อมอย่างหนัก (ช่วงก่อนวินเทอร์เทสและสนามแรก) แต่หลังจากที่ระดับฟิตเนสของนักแข่งไปถึงจุดที่เราต้องการแล้ว ผลงานในสนามแข่งของเขาขึ้นอยู่กับการรักษาสภาพร่างกายที่ดี เราสามารถปรับการฝึกซ้อมเพื่อลดความถี่หรือความหนัก นี่เป็นโอกาสให้นักแข่งรู้สึกสดชื่น และพร้อมสำหรับการแข่งขันในช่วงสุดสัปดาห์มากขึ้น

 

“การฝึกซ้อมอย่างหนักเกินไป หรือไม่เปิดโอกาสให้ร่างกายและจิตใจได้พักผ่อนอย่างเพียงพอตลอดฤดูกาล สุดท้ายก็จะส่งผลเสียต่อนักแข่ง และท้ายที่สุดก็จะมีผลกระทบต่อผลงานในสนามของเขา” 

 

บทเรียนจากสนามแข่งสู่ห้องทำงานของผู้บริหารระดับโลก 

 

 

นอกจากข้อคิดที่ได้จากสนามแข่ง F1 แล้ว Hintsa ยังนำบทเรียนจากนักแข่งที่พวกเขาดูแลไปปรับใช้กับผู้บริหารระดับโลกอีกมากมายด้วย 

 

แม้จะอยู่กันคนละสนาม แต่ทั้งผู้บริหารและนักกีฬาระดับสูงจำเป็นต้องมี คือศักยภาพทางการแข่งขันที่คล้ายคลึงกัน

 

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ THE STANDARD ตัดสินใจติดต่อทาง Hintsa เพื่อขอโอกาสสัมภาษณ์ คือการที่องค์กร Hintsa มีองค์กรที่น่าสนใจในแง่ของการนำเสนอบทเรียนจากสนามแข่งขันกีฬา ไปสู่ห้องของผู้บริหารทั่วโลก Hintsa คืออะไร คือบทเรียนสำคัญที่ผู้บริหารจะสามารถเรียนรู้ และนำมาปรับใช้ได้จากสนามกีฬา และนี่คือคำตอบ

 

“การใช้ชีวิตของผู้บริหารระดับซีอีโอ และนักแข่งสูตรหนึ่งมีส่วนที่คล้ายกันมาก พวกเขาต้องเดินทาง พักในโรงแรม ต้องพัฒนาฝีมือการทำงาน รับมือกับแรงกดดัน มีทักษะในการบริหารเวลา และพร้อมจะเรียนรู้ตลอดเวลา แม้ว่าผู้บริหารจะต้องโฟกัสในส่วนของความแข็งแกร่งของร่างกายน้อยกว่า แต่การบริหารจัดตารางประจำวัน การเลือกกินอาหาร การบริหารการนอน การออกกำลังกายอย่างเป็นประจำ และ ความสัมพันธ์ทั่วไป เป็นสิ่งที่สามารถนำมาปรับใช้งานได้โดยตรง”

 

ภาพ: Red Bull 

ภาพประกอบ: Sradarit

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X