ปรากฏการณ์การประท้วงในฮ่องกงกลายเป็นที่สนใจไปทั่วโลกตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา หลังทางการฮ่องกงพยายามผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการขยายอิทธิพลทางการเมืองของจีน ถึงแม้ในเวลาต่อมาคณะบริหารฮ่องกงจะตัดสินใจระงับการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อลดความเดือดดาลของประชาชน แต่ผู้ประท้วงก็ยังเดินหน้าจัดการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง
การประท้วงล่าสุดจัดขึ้นในวันครบรอบ 22 ปีแห่งการส่งมอบฮ่องกงคืนให้กับจีน ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าชาวฮ่องกงจำนวนมากไม่ต้องการให้จีนเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในเกาะ โดยเฉพาะระบบยุติธรรมที่เข้มแข็งของพวกเขา
ผศ.ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปัจจุบันทำงานวิจัยให้กับสถาบัน German Institute for Global and Area Studies (GIGA) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มองว่าปรากฏการณ์การประท้วงในฮ่องกงสะท้อนแง่มุมที่น่าสนใจหลายเรื่อง
เรื่องแรกเป็นการสะท้อนถึงอาการของความอัดอั้นไม่พอใจของคนฮ่องกงนับล้านที่มีต่อคณะบริหาร ซึ่งที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลจีน ถึงแม้คณะบริหารฮ่องกงจะให้เหตุผลว่าการแก้ไขกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะช่วยให้สามารถนำอาชญากรทั้งหลายมาดำเนินคดีได้ง่ายขึ้น
แต่ความไม่พอใจลึกๆ ของประชาชนมาจากพัฒนาการทางการเมืองหรือความสัมพันธ์ระหว่างคณะบริหารของฮ่องกงกับรัฐบาลจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมานาน
ถ้าเราติดตามข่าวมาตั้งแต่เหตุการณ์ประท้วงที่มีชื่อว่า ‘การปฏิวัติร่ม’ เมื่อปี 2014 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน มันสะท้อนว่าคนในฮ่องกงจำนวนมากไม่ไว้ใจรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่และกลัวว่าจะถูกครอบงำ
ฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1997 หรือเมื่อ 22 ปีที่แล้ว โดยก่อนหน้านั้นฮ่องกงเติบโตมาในฐานะ ‘ซิตี้ สเตท’ (City State) หรือพูดง่ายๆ ก็คือนครรัฐ เป็นรัฐที่ค่อนข้างเจริญ มีความทันสมัย และที่สำคัญคือมีระบบการเมืองที่ค่อนข้างเข้มแข็ง ซึ่งเป็นมรดกมาจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ
เมื่อมองดูบรรดาประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้วจะเห็นได้ว่าประเทศเหล่านั้นมีความภาคภูมิใจในระบบยุติธรรมของตัวเอง ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ตาม สิ่งนี้ทำให้พวกเขามีความรู้สึกว่าเป็น ‘นิติรัฐ’
นิติรัฐคือประเทศหรือรัฐที่ยึดหลักนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถทำอะไรได้ตามพลการหรือตามอำเภอใจ เพราะฉะนั้นหลักนิติธรรมก็เป็นการตรวจสอบอำนาจรัฐในอีกทางหนึ่งนั่นเอง
เมื่อทางการฮ่องกงนำเสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน คนจึงกลัวว่าระบบตุลาการที่เข้มแข็งของพวกเขาจะถูกทำลายลง เพราะเรื่องนี้โยงกับ ‘อัตลักษณ์’ หรือความเป็นชาติของฮ่องกง คนฮ่องกงอยากเห็นว่าตัวเองต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ที่พวกเขารู้สึกว่าไม่มีอารยะเท่าพวกเขา
ดังนั้นเมื่อมองในแง่ของพัฒนาการทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นมรดกประชาธิปไตยหรือระบบตุลาการในฮ่องกงนั้นจึงเป็นความภาคภูมิใจของคนฮ่องกง เพราะฉะนั้นมันคือสัญลักษณ์ของชาติหรือความเป็นตัวตนของชาวฮ่องกง ซึ่งมันก็เชื่อมโยงกันในหลายระดับ
อีกประเด็นน่าสนใจคือมีการตั้งข้อสงสัยว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกผลักมาจากจีนแผ่นดินใหญ่จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการนำเสนอกฎหมายเพื่อเอาใจจีนของ แคร์รี ลัม ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษ หรือคณะรัฐบาลที่มีนโยบายโปรปักกิ่ง
ดร.จันจิรา มองแยกเป็นสองด้านว่าหากร่างกฎหมายนี้ผลักดันโดยฝ่ายจีนแผ่นดินใหญ่จริง ก็ยิ่งตอกย้ำว่าจีนพยายามกลืนชาติ
แต่ถ้าเป็นรัฐบาลฮ่องกงที่เป็นคนผลักดันเอง (ซึ่ง ดร.จันจิรา เชื่อในข้อหลังมากกว่า) ก็ยิ่งสะท้อนว่าระบบการปกครองตั้งแต่หลังปี 1997 เป็นต้นมาไม่ถือเป็นตัวแทนของเสียงประชาชนอย่างแท้จริง
ดังนั้นเวลารัฐบาลฮ่องกงออกนโยบายต่างๆ จึงไม่ได้สะท้อนความรู้สึกรักชาติของคนฮ่องกง ซึ่งหลายครั้งคณะบริหารถูกกล่าวหาว่าขายชาติ
สถานการณ์ในฮ่องกงเวลานี้ค่อนข้างซับซ้อน สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก็คือจริงๆ แล้วความรู้สึกไม่ไว้ใจจีนไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นแต่ในฮ่องกงเท่านั้น แต่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วเอเชีย ยกตัวอย่างกรณีของเรือประมงฟิลิปปินส์ที่ถูกเรือสัญชาติจีนชนจนอับปางในทะเลน่านน้ำฟิลิปปินส์เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
คำถามคือเรือของจีนมาทำอะไรในน่านน้ำของฟิลิปปินส์ เหตุการณ์นี้ทำให้คนฟิลิปปินส์โกรธมาก แต่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตร์เต ผู้นำฟิลิปปินส์ กลับไม่ได้มีท่าทีที่แข็งกร้าวหรือวิพากษ์วิจารณ์จีนอย่างหนักแน่นแต่อย่างใด
เพราะฉะนั้นความไม่ไว้ใจจีนในเอเชียมีค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันก็สะท้อนบรรยากาศการเมืองโลกด้วย เนื่องจากจีนกำลังผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลก ดังนั้นเวลาจีนจะทำอะไรก็ถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ขณะที่ความน่าเชื่อถือของจีนในมุมมองของคนทั่วไปก็มีไม่มากเท่าประเทศฝั่งตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นยุโรปหรือสหรัฐฯ คนส่วนใหญ่จึงไม่รู้ว่าจีนต้องการอะไรกันแน่ เพราะจีนมีรัฐบาลที่ปิด เวลาจีนพูดอะไร คนก็จะไม่เชื่อว่าเป็นความจริง ทุกอย่างดูเป็น Propaganda หรือการโฆษณาชวนเชื่อไปหมด
เมื่อดูภาพรวมในเวทีการเมืองระหว่างประเทศแล้ว ตำแหน่งของจีนในแผนที่โลกยังดูง่อนแง่นอยู่มาก จีนเองก็วิตกว่าเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านจีนในฮ่องกงจะยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของจีนในเวทีโลก ยิ่งไปกว่านั้นก็กังวลด้วยว่าจะไปปลุกกระแสการประท้วงในจีนเองด้วย เพราะคนจีนที่ไม่พอใจรัฐบาลก็มีจำนวนมากพอสมควร โดยเฉพาะรัฐบาลจีนในยุคของสีจิ้นผิง มีการดำเนินนโยบายก้าวล่วงในหลายสิ่งที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่เคยทำ
ก้าวต่อไปของจีน
ดร.จันจิรา เชื่อว่าการผลักดันร่างกฎหมายครั้งนี้เป็นเจตจำนงของคณะบริหารฮ่องกงที่มีจุดประสงค์เพื่อเอาใจจีน โดยเหตุผลที่มองเช่นนั้นเพราะมีข้อวิเคราะห์ว่าจีนอาจถอด แคร์รี ลัม ออกจากตำแหน่ง ถึงแม้รัฐบาลจีนจะประกาศสนับสนุน แคร์รี ลัม อยู่เพื่อช่วยรักษาหน้าให้กับเธอ แต่ภายในน่าจะมีการพูดคุยกันว่าจะเอาลงจากตำแหน่ง เพราะมองว่าเป็นก้าวที่ผิดพลาดของเธอ
ที่ผ่านมาอาจมีหลายสิ่งที่ แคร์รี ลัม ทำโดยที่ไม่ได้มาจากคำสั่งของรัฐบาลจีน หนึ่งในนั้นคือการสลายการชุมนุม หรือการกล่าวหาผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้ก่อการจลาจล ทั้งๆ ที่ผู้ประท้วงส่วนใหญ่ใช้แนวทางสันติวิธี แต่เป็นตำรวจต่างหากที่ใช้ความรุนแรง
ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เครดิตหรือภาพลักษณ์ของจีนในสายตาฮ่องกงยิ่งแย่กว่าเดิม ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนอาจไม่พอใจกับความเคลื่อนไหวของคณะบริหารฮ่องกงครั้งนี้ เพราะนโยบายหรือท่าทีหลายอย่างที่แสดงออกในช่วงหลังถูกตีความว่าจีนพยายามครอบงำฮ่องกง
ขณะเดียวกันคณะบริหารฮ่องกงก็มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมสูงมาก เนื่องจากกระบวนการเลือกตั้งในฮ่องกงถูกบิดเบือนไปโดยรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะฉะนั้นคณะบริหารที่ได้มาจึงต้องโปรจีนแผ่นดินใหญ่อย่างแน่นอน ปัญหาก็เลยสะสมมาตั้งแต่ระบบการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาของ แคร์รี ลัม จึงเป็นผลพวงของระบบการเลือกตั้งมากกว่าจะเป็นคำสั่งโดยตรงของรัฐบาลจีน
แนวโน้มประท้วงอาจยืดเยื้อ ขึ้นอยู่กับคณะบริหาร
ดร.จันจิรา มองว่าโอกาสที่ชาวฮ่องกงจะจัดการชุมนุมประท้วงต่อเนื่องมีสูง แต่ถ้า แคร์รี ลัม ยอมลาออกและมีการประกาศอย่างชัดเจนว่าจะฉีกร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนทิ้ง ผู้ประท้วงก็อาจยอมถอย
แต่สิ่งที่ทำให้การประท้วงครั้งนี้มีสเกลที่ใหญ่ขนาดนี้ได้ก็เพราะมันเป็นประเด็น Single Issue ที่เจาะจงร่างกฎหมายเจ้าปัญหาฉบับเดียว ไม่ได้ครอบคลุมถึงการเรียกร้องแยกตัวเป็นเอกราชจากจีน เพราะถ้ามีประเด็นนี้เกี่ยวข้องด้วยก็น่าจะเป็นปัญหา เพราะคนจำนวนมากก็อาจไม่แชร์จุดยืนด้วย
พอเป็นเรื่องใหญ่เรื่องเดียวและเชื่อมโยงกลับไปถึงความรู้สึกหวงแหนอัตลักษณ์และมรดกทางการเมืองที่คนฮ่องกงภูมิใจกันก็ทำให้เกิดพลังมวลชน เพราะพวกเขามองว่านี่คือระบบตุลาการของเราที่เข้มแข็ง ทำไมต้องยอมให้ระบบตุลาการของจีนที่บิดเบี้ยวมาครอบงำได้
เพราะฉะนั้นถ้ากฎหมายถูกปัดตกไปและมีคำมั่นสัญญาว่าจะไม่นำร่างกฎหมายฉบับนี้กลับขึ้นมาพิจารณาในสภานิติบัญญัติอีก ก็น่าจะทำให้กระแสการประท้วงแผ่วลง
อย่างไรก็ตาม อาจมีคนบางกลุ่มที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นพวกที่ไม่ต้องการจีนเลย หรือพรรคการเมืองที่ต้องการประกาศเอกราชจากจีน คนเหล่านี้อาจจะมีการเคลื่อนไหวประท้วงอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่คิดว่าจะสามารถรวมพลังมวลชนได้มากเท่ากับตอนที่คณะบริหารฮ่องกงพยายามผลักดันร่างกฎหมายในสภานิติบัญญัติเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์