เป็นประจำทุกปีที่แพลตฟอร์มอย่าง LINE จะเปิดตัวบริการใหม่ๆ พร้อมอัปเดตความเคลื่อนไหวและเทรนด์ที่น่าสนใจขององค์กรผ่านงาน ‘LINE CONFERENCE’
ปัจจุบัน LINE กลายเป็นมากกว่าแชตแอปพลิเคชันไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีบริการอื่นๆ ที่หลากหลายครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตรวมเอาไว้อยู่บนแพลตฟอร์มเดียว ซึ่ง ณ วันนี้ LINE มีผู้ใช้งานในญี่ปุ่นกว่า 80 ล้านราย และผู้ใช้งานในประเทศอื่นๆ รวมมากกว่า 200 ล้านราย
THE STANDARD มีโอกาสเดินทางไปร่วมงาน LINE CONFERENCE 2019 ที่จัดขึ้นถึงประเทศญี่ปุ่น ส่วนงานปีนี้มีอะไรที่คุณต้องรู้บ้าง เราสรุปไฮไลต์น่าสนใจ หยิบเอาหมัดเด็ดบริการใหม่ๆ ที่ LINE เปิดตัวในปีนี้มาไว้ให้แล้ว
Life on LINE เมื่อออนไลน์และออฟไลน์ต้องเชื่อมกันแบบไร้รอยต่อ
วิสัยทัศน์ใหม่ที่ LINE ประกาศใช้ในปีนี้คือ ‘Life on LINE’ หรือ LINE สำหรับทุกไลฟ์สไตล์ หมายถึงการที่ LINE เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนในโลกออฟไลน์เต็มตัว ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บนโลกออนไลน์อีกต่อไป
LINE บอกว่าไอเดียนี้เปรียบเสมือนการพัฒนาแพลตฟอร์มของพวกเขาให้กลายเป็นโครงสร้างขั้นพื้นฐานของการใช้ชีวิต (Life Infrastructure) ช่วยยกระดับนวัตกรรมด้านไลฟ์สไตล์เพื่อส่งเสริมชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานในทุกๆ ด้านแบบ 24/7 ซึ่งจะโฟกัสผ่าน 3 กลยุทธ์ หลักประกอบด้วย ออฟไลน์ (Offline) ฟินเทค (Fintech) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
แนวทางและความตั้งใจของ LINE คือการเอาโลกดิจิทัลและโลกออฟไลน์ที่เราใช้ชีวิตอยู่มาผนวกรวมเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ ผ่านแนวคิด ‘OMO’ หรือ Online Merges with Offline ไม่ใช่ O2O แบบที่เราเคยได้ยิน ความต่างคือ LINE บอกว่า แนวทางนี้จะเป็นการขยายแอปฯ LINE ให้กลายเป็น Hub ศูนย์กลางของโลกทั้ง 2 ใบ เพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้ใช้งานทุกคน
การประกาศเปิดตัวบริการต่างๆ ในงานวันนี้จะครอบคลุมใน 7 แพลตฟอร์มหลัก ได้แก่ Communication, Content (Portal และ Entertainment), Mobile Payment, Financial, Commerce, Marketing Solution และ AI / Search
‘LINE Mini App’ ศูนย์รวมบริการ-ร้านค้าแบบที่เดียวจบ
- แพลตฟอร์มบริการใหม่ที่สร้างขึ้นบนแอปฯ ของ LINE เพื่อแก้เพนพอยต์ความยุ่งยากการใช้งานบริการบนโลกออนไลน์แบบเดิมๆ จากเมื่อก่อนที่เราเคยต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันของผู้ให้บริการต่างๆ เพื่อใช้บริการ แล้วต้องแยกเข้าหน้าเว็บไซต์อีกทีเพื่อค้นหาข้อมูลของบริการนั้นๆ
- LINE Mini App จะรวมทุกอย่างเอาไว้ทั้งหมดแบบที่เดียวจบบนแพลตฟอร์มของ LINE เพื่อช่วยให้การค้นหาข้อมูลต่างๆ สำหรับใช้บริการทำได้ง่ายขึ้น ไร้รอยต่อ พร้อมเปิดให้บริษัท แบรนด์ และผู้ให้บริการต่างๆ สามารถเข้ามาสร้างหน้าเพจและข้อมูลบริการของตัวเองบน LINE Mini App ได้ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลเมนูและราคา, การจองบริการ, โปรโมชัน CRM บัตรสะสมแต้มต่างๆ เป็นต้น
- เช่น สมมติคุณเป็นเจ้าของธุรกิจร้านซักแห้ง แล้วอยากจะทำโปรแกรม Reward ลูกค้า รวมถึงเพิ่มช่องทางการชำระค่าบริการ ก็สามารถทำบน LINE Mini App ได้ทันที แถมยังใช้ช่องทาง OA ไว้แจ้งเตือนลูกค้าเพื่ออัปเดตสถานะของการให้บริการได้อีกด้วย
- หรือถ้าเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่น ร้านขายเสื้อผ้า ก็สามารถใช้งานแพลตฟอร์มนี้ทำธุรกิจติดต่อกับลูกค้าได้ทันที ไม่ต้องไปลงทุนทำหน้าเว็บหรือแอปฯ ใหม่ขึ้นมา
กำหนดการเปิดตัว: Soft Launch (ช่วง ก.ย.-ธ.ค. 2019 / Fall 2019) และ Full Launch (ช่วง มี.ค.-มิ.ย. 2020 / Spring 2020)
หมายเหตุ: รอประกาศจาก LINE ประเทศไทยอย่างเป็นทางการว่าจะให้บริการในไทยหรือไม่
Open Chat อัปเกรดกรุ๊ปแชต ดูแชตย้อนหลังได้แม้เพิ่งเข้ากรุ๊ป จุสมาชิก 5,000 คน
LINE Communication Platform
- การใช้งานกรุ๊ปแชตวันนี้ยังมีข้อจำกัดมากมายมหาศาล ทั้งจำนวนสมาชิกที่จำกัดสูงสุดได้ไม่เกิน 500 คน, เข้าร่วมกรุ๊ปแชตช้าแล้วตามบทสนทนาก่อนหน้าไม่ทัน หรือแม้แต่การเปลี่ยนข้อมูล-ชื่อโปรไฟล์ผู้ใช้งานไม่ได้
- เพื่อแก้ปัญหาการใช้งานที่เกิดขึ้น LINE ได้เปิดตัวฟีเจอร์ Open Chat มุ่งพัฒนาความสามารถของกรุ๊ปแชต ส่งต่อประสบการณ์การใช้งานให้ดีกว่าเดิมให้ผู้ใช้ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่
- 1. Multi Profiles ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนข้อมูลโปรไฟล์ทั้งรูปและชื่อในแต่ละกรุ๊ปย่อยได้
- 2. Admin Function ให้หัวหน้ากรุ๊ปแชตสามารถควบคุมกรุ๊ปการสนทนาต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง เลือกได้ว่าจะให้หรือไม่ให้ใครเข้าร่วมกรุ๊ปไลน์ แถมส่งข้อความเตือนสมาชิกแต่ละคนแบบส่วนตัวได้ด้วย
- 3. Three Room Types ตั้งค่าการเข้ากรุ๊ปไลน์ได้ 3 รูปแบบ ทั้งแบบเปิดสาธารณะทั่วไป (Open) ผ่านการแชร์ URL หรือ QR Code, แบบที่เจ้าของกรุ๊ปมีสิทธิ์เลือกสมาชิกกรุ๊ปได้ด้วยตัวเอง (Owner Approved) และแบบต้องกรอกรหัสเพื่อเข้ากรุ๊ป (Roomcode)
- แล้วต่อไปนี้แม้จะกด Join ร่วมกรุ๊ปช้าแค่ไหนก็จะไม่ตกข่าวอีกต่อไป เพราะเราสามารถไล่เช็กประวัติการสนทนาย้อนหลังได้ทันที
- ประยุกต์เป็นเครื่องมือสื่อสารของชุมชนในโลกออฟไลน์ได้ด้วย เช่น กรุ๊ปแชตของคนดูคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีต่างๆ เพื่อแชร์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กันและกันแบบเรียลไทม์
- กรุ๊ปแบบใหม่จะรองรับสมาชิกได้สูงสุดถึง 5,000 คน จากเดิมที่เคยรองรับได้แค่ 500 คน
กำหนดการเปิดตัว: ช่วง มิ.ย.-ก.ย. (Summer 2019)
หมายเหตุ: รอประกาศจาก LINE ประเทศไทยอย่างเป็นทางการว่าจะให้บริการในไทยหรือไม่
LINE NEWS จับมือ Tokyo News นำไฮไลต์กีฬาออกอากาศ เปิดพื้นที่ต้อนรับครีเอเตอร์
LINE Content Platform
- LINE NEWS คือแพลตฟอร์มอ่านข่าวของ LINE ญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จมากๆ (เปรียบเทียบในไทยคือ LINE TODAY) ปัจจุบันมีผู้ใช้งานในญี่ปุ่นมากกว่า 65 ล้านราย ภายใต้การทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์สื่อกว่า 900 แห่ง ที่พร้อมเสิร์ฟคอนเทนต์มากถึง 7,000 เรื่องต่อวัน โดยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา LINE NEWS เพิ่งทำสถิติมียอดคลิกเข้าชมสูงถึง 10,000 ล้านเพจวิวได้สำเร็จ
- ประกาศเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับสถานีโทรทัศน์ TV Tokyo อย่างเป็นทางการพร้อมนำไฮไลต์กีฬามาออนแอร์แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ไม่พลาดทุกช่วงโมเมนต์ที่สำคัญ (ให้บริการเฉพาะในญี่ปุ่น)
- เปิดพื้นที่ของตัวเองให้กลุ่มครีเอเตอร์มากความสามารถในญี่ปุ่นเข้ามาร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์วิดีโอตอนสั้นออนแอร์แบบเอ็กซ์คลูซีฟบนแพลตฟอร์ม
กำหนดการเปิดตัว: 26 มิถุนายน 2019 (เฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น)
LINE Entertainment Platform ใช้สติกเกอร์แบบไม่อั้น ไลฟ์ขายของก็มา
- เผยความคืบหน้าของเกมอมตะยุค 90 ‘Dr. Mario World’ ที่ LINE นำมาปัดฝุ่นสร้างใหม่อีกครั้ง ภายใต้ความร่วมมือกับ Nintendo และ NHN Entertainment โดยเตรียมจะเปิดให้ผู้ใช้งานทั่วโลกดาวน์โหลดมาเล่นกันได้ 10 กรกฎาคมนี้
- LINE Creators Market เปิดตัวบริการใช้งานสติกเกอร์ที่สร้างโดยครีเอเตอร์กว่า 3 ล้านชุดแบบบุฟเฟต์ ‘LINE Stickers Premium’ สนนค่าบริการอยู่ที่ 240 เยนต่อเดือน (หรือประมาณ 70 บาทต่อเดือน) สำหรับผู้ใช้งานที่เป็นนักเรียนนักศึกษาลด 50% เปิดตัว กรกฎาคม 2019
- LINE LIVE ปัจจุบันเป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์การใช้งานยอดนิยมที่ LINE บอกว่ามันกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สร้างอาชีพใหม่ที่เรียกว่า LINE LIVERs ขึ้นมา เปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์โด่งดัง มีชื่อเสียง ด้วยเหตุนี้ LINE จึงเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ Premium Channel เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถติดตาม LIVERs ที่ชื่นชอบได้แบบเอ็กซ์คลูซีฟ โดยเสียค่าบริการรายเดือน เปิดตัว กรกฎาคม 2019
- อีกฟีเจอร์ที่เปิดตัวไล่เลี่ยกันคือ LIVE Commerce ที่พัฒนาขึ้นมาเอาใจพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์และขาช้อปทั้งหลาย ให้ไลฟ์สดขายของบน LINE ได้ทันที เปิดตัวในปี 2020
- LINE MUSIC (เฉพาะญี่ปุ่น) ปรับอินเทอร์เฟซ UI การใช้งาน โดยเพิ่มทั้ง Light Mode และ Dark Mode เข้ามา, นำ AI เข้ามาช่วยยกระดับการฟังเพลง ช่วยจัดการเพลย์ลิสต์, ดูมิวสิกวิดีโอได้ และเพิ่มบริการแบบฟรีเมียมเข้ามา (ใช้งานฟรีภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด) เปิดตัวภายในปีนี้
หมายเหตุ: รอประกาศจาก LINE ประเทศไทยอย่างเป็นทางการว่าบริการใดบ้างนอกเหนือจาก Dr. Mario World ที่จะเข้ามาให้บริการในไทย
LINE Mobile Payment Platform จับมือ Visa สู่อนาคตการเงินไร้เงินสด
- LINE Pay เป็นกระเป๋าสตางค์ e-Wallet ของ LINE ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 48 ล้านคนในญี่ปุ่น ไต้หวัน และไทย
- ความสำเร็จในการเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมกับ Starbucks ญี่ปุ่น หลังเปิดให้บริการบัตร LINE Starbucks Card เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานบัตรนี้มากกว่า 1 ล้านรายแล้ว ซึ่ง LINE สัญญาว่าจะเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือกับ Starbucks ญี่ปุ่นต่อไปเพื่อให้บริการที่ดีที่สุดกับผู้ใช้งาน
- Visa, Orico และ LINE Pay ประกาศออกบัตร LINE Pay Visa Credit Card เพื่อใช้งานบนแพลตฟอร์มของ LINE Pay ญี่ปุ่น แถมเตรียมออกลายบัตรแบบพิเศษต้อนรับมหกรรมการแข่งขันกีฬา Tokyo 2020 Olympics ด้วย มุ่งสู่จุดหมายการสร้างสังคมไร้เงินสดเต็มกำลัง
หมายเหตุ: บริการส่วนใหญ่ที่ประกาศในครั้งนี้ของ LINE Pay ใช้งานได้เฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น
LINE Financial Platform จับตา ‘กสิกร ไลน์’ ต้นปี 2020 มาแน่!
- ‘ฟินเทค’ คือหนึ่งใน 3 ส่วนหลักที่ LINE ให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ในการพัฒนาแพลตฟอร์มผ่านวิสัยทัศน์ Life on LINE เพราะ LINE กำลังมุ่งหน้าเข้าสู่การเป็นผู้ให้บริการ ‘ธนาคาร’ เต็มตัว ซึ่งเป้าหมายใหญ่สุดคือการขึ้นเป็นผู้นำฟินเทคในเอเชียให้ได้
- LINE Securities บริการการลงทุนรูปแบบใหม่ที่ LINE Financial และบริษัท Nomura Holdings ร่วมทุนกันตั้งบริษัท ‘LINE Securities Corporation’ ขึ้นมา เพื่อช่วยให้นักลงทุนหน้าใหม่ในญี่ปุ่นเรียนรู้การซื้อหุ้น พร้อมลงทุนใน 100 บริษัทชั้นนำของประเทศ เปิดตัวช่วง ก.ย.-ธ.ค. 2019 / Fall 2019 (เฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น)
- LINE Pocket Money บริการให้กู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ใช้งานในญี่ปุ่น เปิดตัวช่วง มิ.ย.-ก.ย. / Summer 2019 (เฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น)
- LINE Smartphone Bank เตรียมขยายไปเป็นผู้ให้บริการด้านการธนาคารเต็มตัวใน 4 ประเทศหลัก ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งมีการประกาศแล้วว่าในช่วงต้นปี 2020 ผู้ใช้งานไทยอย่างเราน่าจะได้เห็นบริการภายใต้บริษัทร่วมทุน ‘บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด’ ทยอยเปิดตัวออกมาแน่นอน!
LINE Commerce Platform ชู LINE Man ยืนหนึ่งบริการหลากหลาย ผู้ใช้งานทะลุ 1.74 ล้านราย
- Odekake NOW บริการค้นหาข้อมูลและจองร้านอาหารและกิจกรรมใกล้เคียงบนแพลตฟอร์ม LINE Travel ช่วยเสริมไลฟ์สไตล์ให้ผู้ใช้งานกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบครบวงจร (เฉพาะที่ญี่ปุ่นเท่านั้น)
- อัปเดตข้อมูลของ LINE Man ที่ให้บริการในไทยอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2017 ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในบริการยอดนิยมของ LINE ประเทศไทย โดยมีผู้ใช้งานอยู่ที่ราวๆ 1.74 ล้านรายต่อเดือน ยืนหนึ่งในแง่ของความหลากหลายบริการต่างๆ มีร้านค้าพาร์ตเนอร์มากกว่า 47,000 แห่ง
LINE Marketing Solution Platform แถบโฆษณาวิดีโอบนหน้าแชต
- Smart Channel Video Ads แถบด้านบนของหน้าแชตบนแอปฯ LINE จะเพิ่มช่องทางการโฆษณาแบบวิดีโอมาให้ จากเดิมที่เคยเป็นแค่แบนเนอร์แนะนำบริการอื่นๆ ของ LINE เปิดตัวช่วง ก.ย.-ธ.ค. 2019 / Fall 2019
- LINE Ads Platform for Publisher แพลตฟอร์มโฆษณาสำหรับกลุ่ม Publisher โดยอิงข้อมูลจาก LINE เพื่อช่วยให้ Personalized โฆษณาข้อมูลข่าวสารต่างๆ ได้ตรงกับความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละรายให้มากที่สุด เปิดตัวช่วง มิ.ย.-ก.ย. / Summer 2019
- LINE Flyer ใบปลิวโฆษณาแบบดิจิทัลที่ผู้ใช้งาน LINE แต่ละคนจะได้รับไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบ สถานที่อยู่อาศัย ช่วงเวลาในแต่ละวันเพื่อนำไปสู่การซื้อสินค้าหรือใช้บริการนั้นๆ เปิดตัวช่วงตุลาคม 2019
หมายเหตุ: รอประกาศจาก LINE ประเทศไทยอย่างเป็นทางการว่าบริการไหนบ้างที่จะเข้ามาให้บริการในไทย
LINE AI / Search นำเทคโนโลยี AI ต่อยอดบริการ พัฒนาธุรกิจเสิร์ชเอนจิน
- LINE บอกว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยี AI มากๆ เพื่อที่จะนำมันมาต่อยอดในการแก้ไขการให้บริการต่างๆ บนแพลตฟอร์มของ LINE
- LINE Car Navigator จับมือกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์อย่าง Toyota นำระบบผู้ช่วยอัจฉริยะ Clova เข้าไปพัฒนาเป็นแอปพลิเคชันระบบนำทาง พร้อมระบบสั่งการด้วยเสียง เปิดตัวช่วงกันยายน 2019
- LINE BRAIN หน่วยงานใหม่ของ LINE ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความสำคัญกับการยกระดับธุรกิจและบริการที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะ เช่น LINE BRAIN CHATBOT, LINE BRAIN OCR และ LINE BRAIN SPEECH TO TEXT (แปลงเสียงเป็นข้อความตัวอักษร)
- เปิดตัวโปรเจกต์ ‘LINE BRAIN DUET’ ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แมชชีนเลิร์นนิง และการแปลงเสียงเป็นข้อความตัวอักษรเพื่อให้บริการคอลเซนเตอร์ AI รับจองบริการร้านอาหาร หวังแก้ปัญหาแรงงานในญี่ปุ่นขาดแคลน
- LINE Search เสิร์ชเอนจินแบบ Intergrated ในแอปฯ ของ LINE ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเสิร์ชข้อมูลได้ตั้งแต่ข้อมูลการสนทนา, ข้อมูล Official Accounts, คอนเทนต์ (LINE NEWS, LINE Manga, LINE MUSIC) และบริการอื่นๆ บนแพลตฟอร์ม LINE
- LINE ASK ME บริการพูดคุยหรือขอคำปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแบบตัวต่อตัว เช่น ดูดวง, สุขภาพจิต, กฎหมายและสุขภาพร่างกาย เป็นต้น เปิดตัวช่วงกันยายน 2019
หมายเหตุ: รอประกาศจาก LINE ประเทศไทยอย่างเป็นทางการว่าบริการไหนบ้างที่จะเข้ามาให้บริการในไทย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า