‘ฮ่องกง’ เกาะเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ สีสัน และการผสมผสานทางวัฒนธรรม ได้กลายเป็นภาพข่าวไปทั่วโลกอีกครั้งจากเหตุชุมนุมครั้งใหญ่เพื่อคัดค้านการผ่านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนด้วยผู้คนจำนวนนับล้าน
ขณะเดียวกันเมื่อเหลียวมองย้อนนึกถึง ‘ฮ่องกง’ เราพบว่าหลายภาพ หลายฉาก หลายเรื่องราวผ่านภาพยนตร์นั้นเป็น ‘รักแรก’ ที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำความรู้จักกับเกาะเล็กๆ ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนแห่งนี้
ในวันที่ผู้คนจำนวนมากบนเกาะแห่งความหวังกำลังต่อสู้เพื่อสิ่งที่พวกเขาเชื่อ THE STANDARD POP อยากพาย้อนกลับไปเล่าถึงภาพแรกและอีกหลายภาพในความทรงจำตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเพื่อเป็นกำลังใจต่อชาวฮ่องกง ด้วยความเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเสน่ห์และความสงบสุขของเกาะแห่งนี้จะกลับคืนมาอีกครั้ง
1. เถียน มี มี่ 3,650 วันรักเธอคนเดียว (Comrades: Almost a Love Story, 1996)
ถ้าบอกว่า เถียน มี มี่ คือหนึ่งในภาพยนตร์รักที่ยอดเยี่ยมตลอดกาลของฮ่องกงก็คงไม่ผิด เพราะภาพยนตร์พาผู้ชมไปสัมผัสถึงความอบอุ่น ซาบซึ้ง ตรึงใจ อันเกิดจากส่วนผสมที่ยอดเยี่ยมของบทภาพยนตร์ การแสดงที่ดี และขาดไม่ได้เลยคือ เถียน มี มี่ เพลงประกอบที่ไพเราะผ่านน้ำเสียงของ เติ้งลี่จวิน
ขณะเดียวกันชีวิตของ หลี่เสี่ยวจิน (รับบทโดย หลี่หมิง) และหลี่เฉียว (รับบทโดย จางม่านอวี้) ที่หนีความข้นแค้นจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อมาแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ที่ฮ่องกง ซึ่งในเวลานั้นยังคงเป็นเขตอาณานิคมของอังกฤษ ด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น นั่นก็เป็นภาพสะท้อนถึงภาพชีวิตและสังคมของคนหนุ่มสาวในเวลานั้นได้ดีด้วยเช่นกัน
และเกาะเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยความมั่งคั่งแห่งนี้เองที่มิตรภาพ ณ ดินแดนแห่งความหวังค่อยๆ ก่อตัวจนกลายเป็นความรัก ก่อนที่โชคชะตาจะมอบบททดสอบที่ทำให้ทุกคู่ต้องร้างลาห่างไกล ทั้งที่ในหัวยังคงคิดถึงกันอยู่เสมอ
กระทั่งเมื่อกาลเวลาผ่านไปนาน 3,650 วัน หรือราว 10 ปี หลี่เสี่ยวจินและหลี่เฉียวก็ได้กลับมาเจอกันอีกครั้งบนดินแดนแห่งความหวังอีกแห่ง แดนดินที่มีเทพีเสรีภาพตั้งตระหง่านรอต้อนรับผู้คนจากทั่วโลก ไม่ต่างจากเกาะเล็กๆ ที่เขาและเธอเคยฝากความหวังและมีความทรงจำแสนอบอุ่นร่วมกัน
2. กู๋หว่าไจ๋ มังกรฟัดโลก (Young and Dangerous, 1996)
ภาพยนตร์แนวแก๊งสเตอร์เรื่องดังแห่งยุค ถือเป็นเรื่องแรกๆ ของวงการภาพยนตร์ฮ่องกงในเวลานั้นที่ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูน ก่อนจะกลายเป็นภาพยนตร์ระดับโคตรฮิตจนถูกสร้างตามมาอีกหลายภาค
เนื้อเรื่องเริ่มต้นจากการพาย้อนไปในฮ่องกง ปี 1985 ด้วยมีกลุ่มเด็กหนุ่มซึ่งชีวิตเติบโตมาในสภาพครอบครัวอันยากจน แถมเศรษฐกิจยังตกต่ำ นำโดย เฉินห้าวหนาน ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางกลุ่มเพื่อน โดยมี ‘ไก่ป่า’ เป็นเพื่อนรักที่สนิทที่สุด
เมื่อยิ่งเติบโต พวกเขาก็ค่อยๆ สร้างเสริมประสบการณ์ต่อยตี ก่ออาชญากรรม กระทั่งกลายเป็นกลุ่มนักเลงคลื่นลูกใหม่ที่โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เข้าเป็นสมาชิก ‘แก๊งหงซิง’ ซึ่งเป็นกลุ่มมาเฟียใหญ่อันดับต้นๆ ของฮ่องกง
เส้นเรื่องหลักที่นำพาคนดูให้รู้สึกอยากติดตามไปจนถึงขั้นผูกพันกับตัวละคร ผูกโยงกับการเติบโตในเส้นทางสายนักเลงที่มีทั้งมิตรภาพ ความรัก เล่ห์เหลี่ยม หักหลัง แก้แค้น และช่วงชิงความเป็นใหญ่ในยุทธจักรนักเลง ขณะเดียวกันภาพยนตร์ก็เป็นภาพสะท้อนวิถีชีวิตและสภาพสังคมอีกด้านของฮ่องกง เกาะขนาดเล็กๆ ที่มีประชากรหนาแน่นและเหลื่อมล้ำด้านฐานะมากที่สุดแห่งของโลกได้อย่างตื่นตา ผ่านโลเคชันต่างๆ ของเรื่อง ทั้งตึกรามบ้านช่อง ย่านการค้า แหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง อพาร์ตเมนต์ขนาดเล็กที่ผู้คนอยู่กันอย่างแออัด
นอกจากนี้ Young and Dangerous ยังถือเป็นอีกบทบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่เผยให้เห็นถึงวิถีการใช้ชีวิตของคนฮ่องกง ก่อนที่อังกฤษจะส่งคืนฮ่องกงให้เป็นส่วนหนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ในปี 1997 หรืออีก 1 ปีถัดมา
3. Ten Years (2015)
พูดได้อย่างเต็มปากว่า Ten Years คือภาพยนตร์การเมืองที่สะท้อนภาพและความรู้สึกหวาดกลัวของคนฮ่องกงที่มีต่อพลังอำนาจของรัฐบาลจีนที่กำลังแทรกซึมและครอบงำสังคมของคนฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่อังกฤษส่งมอบเกาะคืนให้กับทางการจีนในปี 1997
โดยประกอบไปด้วยภาพยนตร์สั้น 5 เรื่อง แต่ละเรื่องจะสะท้อนมุมมองของผู้กำกับรุ่นใหม่ 5 คนที่มีต่อสภาพสังคมและการเมืองของฮ่องกงในอีก 10 ปีข้างหน้า และทันทีที่ Ten Years เข้าฉายก็ได้รับการยอมรับจากผู้คนในฮ่องกงต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และมันก็ยิ่งทรงพลังมากขึ้นไปอีก เมื่อ Ten Years ได้รับเลือกจากคณะกรรมการให้เป็นผู้คว้ารางวัลสำคัญ ‘ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ Hong Kong Film Awards ครั้งที่ 35 ก่อนที่ไอเดียของภาพยนตร์จะถูกต่อยอดแนวคิดเดียวกันนี้สู่ผู้กำกับภาพยนตร์ในอีกหลายประเทศทั่วเอเชีย เช่น Ten Years Thailand, Ten Years Japan และ Ten Years Taiwan ฯลฯ
4. Yellowing (2016)
“บางครั้งคำพูดก็ไม่สามารถอธิบายทุกอย่างได้ แต่ภาพสามารถแสดงให้เห็นได้ว่าการอารยะขัดขืนที่แท้นั้นหมายความเช่นไร” นี่คือสารที่ เฉินจื่อหวน ผู้กำกับและผู้บันทึกภาพเคยแสดงทัศนะต่อสื่อต่างประเทศ โดยภาพยนตร์สารคดีฉายภาพเหตุการณ์ ‘ปฏิวัติร่ม’ (Umbrella Revolution) ในฮ่องกงได้อย่างเจ็บลึกรอบด้าน ขณะเดียวกันสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Yellowing หลังจากภาพยนตร์ถูกกีดกันไม่ให้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ก็ยิ่งกลายเป็นภาพสะท้อนถึงความจริงอันทรงพลังว่า ณ เวลานี้อิทธิพลของรัฐบาลจีนนั้นค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในเกาะเล็กๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยมีอิสระในการแสดงออกมากขึ้นเรื่อยๆ
5. วิ่งสู้ฟัด (Police Story, 1985)
จากสตันท์แมนผู้เติบโตมาในกองถ่ายภาพยนตร์ของ บรูซ ลี ล้มลุกคลุกคลาน เรียนรู้ เติบโต แจ้งเกิด กระทั่งค้นพบแนวทางภาพยนตร์แอ็กชันคอเมดี้แบบกำกับเอง เขียนบทเอง ออกแบบคิวบู๊เอง แสดงเอง แถมเล่นจริง เจ็บจริง ไม่ใช้สลิง ไม่ใช้ตัวแสดงแทน ซึ่งยากมากๆ หากใครคิดจะเลียนแบบ
วิ่งสู้ฟัด เข้าฉายในปี 1985 และเต็มไปด้วยฉากแอ็กชันที่สมจริง ทว่าแตกต่างจากภาพยนตร์แอ็กชันเรื่องอื่นๆ เพราะเฉินหลงผสมผสานอารมณ์ขันเข้ากับการต่อสู้ที่โดดเด่นและฉากเสี่ยงตายน่าตื่นตา
สำคัญที่สุด เฉินหลงได้สร้างคาแรกเตอร์ ‘แอ็กชันฮีโร่’ ให้จับต้องง่าย บทบาทของเขาในภาพยนตร์มักจะไม่ได้เก่งจนโอเวอร์ แต่เฉินหลงมักจะปรากฏในมาดคนตัวเล็กๆ ต่อยไป เจ็บไป และนั่นส่งให้ผู้ชมรู้สึกอยากจะเอาใจช่วยเขาไปตลอดเรื่อง เช่นเดียวกับภารกิจ ‘คุ้มครองพยาน’ ของเฉินเจียจี๋ หรือกุ๊กกู๋ นายตำรวจฮ่องกงใน วิ่งสู้ฟัด ที่เต็มไปด้วยคิวบู๊และฉากสตันท์ที่แปลกใหม่และตื่นตาจนภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างสูง และนั่นส่งให้ชื่อของ แจ็คกี้ ชาน นักแสดงหนุ่มจากฮ่องกง กลายเป็นแอ็กชันฮีโร่คนใหม่ที่โลกต้องรู้จัก
6. โหด เลว ดี (A Better Tomorrow, 1986)
ความดีงามของ โหด เลว ดี ที่ทำให้โดดเด่นออกจากภาพยนตร์แอ็กชันมากมายที่ไหลบ่าอยู่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮ่องกงเวลานั้นคือการที่ผู้กำกับอย่าง จอห์น วู เลือกใส่เรื่องราวดราม่าเข้มข้นที่ผสมเข้ากับฉากแอ็กชันอย่างลงตัว และที่สำคัญ นี่คืองานแจ้งเกิดของ โจวเหวินฟะ
ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวของสองเพื่อนรักอย่าง อาเห่า (ตี้หลุง) และเสี่ยวหม่า (โจว เหวินฟะ) ที่ร่วมเป็นร่วมตายจนมีชื่อเสียงในวงการนักเลง ขณะเดียวกันเงินที่ได้จากการทำงานในโลกสีเทา อาเห่าก็นำไปส่งเสียน้องชาย อาเฉีย (เลสลี่ จาง) จนกระทั่งจบจากโรงเรียนตำรวจ แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาคิดจะวางมือจากวงการ ดูเหมือนเรื่องราวจะไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะกลายเป็นว่าตำรวจน้ำดีอย่างอาเฉียกลับมุ่งมั่นที่จะจับกุมพี่ชายของเขาด้วยตัวเองให้จงได้
โหด เลว ดี ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งรายได้และคำวิจารณ์ สำคัญที่สุดคือมันถูกยกย่องให้เป็นภาพยนตร์แอ็กชันเฉือนคมที่ดีที่สุด ก่อนการมาถึงของ Infernal Affairs ในปี 2002
7. สองคนสองคม (Infernal Affairs, 2002)
เรื่องราวเฉือนคมระหว่าง ‘คน’ ของวงการตำรวจและ ‘คน’ ของโลกแห่งอาชญากร เมื่อ หานเซิน จอมเก๋าแห่งวงการมาเฟีย ได้ขัดเกลาเด็กหนุ่มฝีมือดีเพื่อส่งเข้าไปร่ำเรียนในโรงเรียนตำรวจ กระทั่งจบออกมาเป็นหนอนบ่อนไส้แทรกซึมอยู่ในกรมตำรวจฮ่องกงจำนวนมาก และหนึ่งในนั้นคือ หมิง (หลิวเต๋อหัว) ตำรวจหนุ่มอนาคตไกลที่ครบเครื่องทั้งไหวพริบและเล่ห์เหลี่ยม
ขณะเดียวกันที่กรมตำรวจ สารวัตรหวง ก็คิดแผนนี้ออกเช่นเดียวกัน เขาหลอก เหยิน (เหลียงเฉาเหว่ย) นักเรียนตำรวจหนุ่มฝีมือดีของรุ่นเพื่อเข้าไปแทรกซึมเป็นสายลับอยู่ในวงการมาเฟีย จากจุดเริ่มต้นนี้เองที่นำมาซึ่งเรื่องราวหักเหลี่ยมเฉือนคมที่นักวิจารณ์และคนทั่วโลกยกย่องว่าเป็นภาพยนตร์มาเฟียฮ่องกงที่ดีสุดของวงการภาพยนตร์ฮ่องกงในรอบ 20 ปี นับจาก โหด เลว ดี (A Better Tomorrow)
ด้วยเรื่องราวอันโดดเด่นและดีเสียจนผู้กำกับระดับตำนานอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี ต้องนำมันกลับมารีเมกใหม่อีกครั้งในฉบับฮอลลีวูดในชื่อ The Departed (2006) โดยภาพยนตร์ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ และไปไกลถึงขั้นคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, ตัดต่อยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม บนเวทีออสการ์ ครั้งที่ 79
8. ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ (A Moment of Romance, 1990)
ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ หรือ A Moment of Romance เข้าฉายครั้งแรกที่ฮ่องกงในปี 1990 ในสถานะภาพยนตร์แอ็กชันโรแมนติกทุนต่ำที่เป็นม้านอกสายตา แต่เพราะภาพยนตร์เต็มไปด้วยองค์ประกอบอันยอดเยี่ยม ทั้งบทภาพยนตร์ที่ซาบซึ้ง สะเทือนใจ นางเอกใสซื่อ พระเอกหน้าใหม่ที่มาพร้อมลุคแบดบอย แจ็กเก็ตยีนส์ แว่นเรย์แบน ควบมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ 250 ซีซี และเพลงประกอบภาพยนตร์ที่เพราะจับจิตจนเกิดกระแสปากต่อปากไปทั่วเอเชีย สุดท้ายกลายเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จทั้งเงินและเสียงวิจารณ์ไปทั่วเอเชีย และแน่นอนว่ามันฮิตระเบิดในไทย!
หลังผ่านความสำเร็จ ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ ถูกยกย่องจากวงการภาพยนตร์โลกให้เป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของภาพยนตร์แนวแก๊งสเตอร์ (Heroic Gangster) ที่ถูกผลิตตามออกมาอีกมากมายนับแต่นั้น ขณะเดียวกันมันก็เป็นภาพยนตร์แจ้งเกิดอย่างเต็มตัวของสองพระนางของเรื่อง โดยเฉพาะ หลิวเต๋อหัว ที่กลายเป็นซูเปอร์สตาร์แถวหน้าของเอเชีย มากไปกว่านั้น ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ ยังได้กลายเป็นภาพลักษณ์ของฮ่องกงในสายตาใครหลายคนเวลาเอ่ยถึงเกาะเล็กๆ นี้อีกด้วย
9. คนตัดคน (God of Gamblers, 1989)
ท่ามกลางภาพยนตร์ฮ่องกงจำนวนมากที่กำลังครองพื้นที่อยู่ในโรงภาพยนตร์ สิ่งที่ คนตัดคน ได้ก่อร่างสร้างขึ้นคือภาพยนตร์มาเฟียที่แตกต่าง เพราะมันผสมผสานพล็อตใหม่อย่างแนวคิดเรื่องการพนัน พร้อมๆ กับได้สร้างตัวละคร ‘โคตรเซียนเกาจิ้ง’ มือไพ่และนักการพนันที่ต่อมากลายเป็นตำนานแห่งโลกภาพยนตร์ ด้วยพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่และองค์ประกอบของเรื่องที่ยอดเยี่ยม ทั้งหมดส่งให้ คนตัดคน ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของภาพยนตร์แนวเจ้าพ่อ-นักพนันตามออกมาอีกเป็นจำนวนมากหลังจากนั้น สำคัญที่สุด โคตรเซียนเกาจิ้งได้กลายหนึ่งในคาแรกเตอร์ของสุดยอดนักแสดงอย่าง โจวเหวินฟะ ที่คนจำติดตามาจนถึงทุกวันนี้
10. ผู้หญิงผมทอง ฟัดหัวใจให้โลกตะลึง (Chungking Express, 1994)
หนึ่งในผลงานที่โด่งดังและถูกจดจำมากที่สุดของ หว่องกาไว ผู้กำกับสไตล์จัดที่คอภาพยนตร์ทั่วโลกหลงรัก การทำงานกับ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพคู่ใจ นั่นส่งให้ทั้งคู่ฉายภาพลักษณ์ของฮ่องกงในมุมมองที่แตกต่างจากผู้กำกับคนอื่นๆ โดยสิ้นเชิง
เช่นเดียวกับใน Chungking Express หว่องกาไววางโครงสร้างของเรื่องไว้เพียงหลวมๆ จากนั้นก็นำเสนอเรื่องราวความเป็นมนุษย์ฮ่องกงตัวเล็กๆ ซึ่งเติบโตขึ้นจากส่วนผสมทางวัฒนธรรมที่แปลกแยก แตกต่าง และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวลงไปในงาน โดยแบ่งเรื่องราวออกเป็นสองพาร์ต ซึ่งแต่ละพาร์ตไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ต่อกัน ผู้ชมจะได้ทำความรู้จักกับตัวละครทั้งหมดโดยที่แทบไม่มีรู้จักชื่อ ทุกคนล้วนผ่านมาพบกันและต่างก็เดินจากไป ซึ่งก็เปรียบเสมือนชีวิตและความสัมพันธ์ที่เร่งรีบและต้องดิ้นรนของผู้คนมากมายในฮ่องกงที่หลายคนแวะเวียนมาพานพบและจากลากันไปยังที่ใดสักแห่งบนโลกใบนี้
11. In the Mood for Love (2000)
ถือเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซของ หว่องกาไว อย่างแท้จริง การทำงานร่วมกับ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ผู้กำกับภาพคู่ใจ ในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ยกระดับงานด้านภาพ แต่มันยังเป็นงานที่ยกระดับทุกองค์ประกอบทางภาพยนตร์ของคนทั้งคู่ไปสู่คลาสที่คนทั่วโลกต้องยกย่องยอมรับ
ภาพยนตร์เล่าถึงการย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านเช่าของหนึ่งชายและหนึ่งหญิง คุณนายเฉิน เพิ่งจากเซี่ยงไฮ้และมาถึงฮ่องกง ขณะที่ คุณโจว นักหนังสือพิมพ์ ก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในห้องเช่าติดกัน และแม้ทั้งคู่มีครอบครัวแล้ว แต่ต่างคนต่างก็กำลังสงสัยว่าคู่สามีและภรรยาของตนเองอาจกำลังแอบนอกใจพวกเขาอยู่
ระหว่างที่ชีวิตกำลังดำเนินไปอย่างซ้ำซากจำเจ นอกจากตกที่นั่งเดียวกันแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งคู่ก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้นพร้อมกับความน่าอึดอัด เพื่อหลบซ่อนให้พ้นจากสายตาของสังคมเล็กๆ ภายในห้องเช่าที่เป็นภาพสะท้อนถึงวิถีชีวิตและบริบททางวัฒนธรรมของสังคมจีนได้ด้วยเช่นกัน
In the Mood for Love สะท้อนภาพของฮ่องกงในปี 1962 ได้อย่างยอดเยี่ยมผ่านองค์ประกอบมากมายในภาพยนตร์ กี่เพ้าทุกชุดของคุณนายเฉินล้วนงามสง่า ขับแรงเสน่หา บทเพลงที่ไหลคลอไปพร้อมเรื่องราว อาหารการกิน บรรยากาศของผู้คนภายในห้องเช่า และอพาร์ตเมนต์ที่สะท้อนสภาพสังคมฮ่องกงในยุค 60 ได้อย่างงดงาม โรแมนติก ขณะเดียวกันมันก็เปี่ยมไปด้วยความเหงา เศร้า กับความสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่เหมือนจะพัฒนา แต่ก็เป็นไปอย่างน่าอึดอัด
12. A Simple Life (2011)
ภาพยนตร์ดัดแปลงขึ้นจากเรื่องจริงของคนรับใช้ที่ทำงานให้กับครอบครัวร่ำรวยครอบครัวหนึ่งยาวนานกว่า 60 ปี ซึ่งเป็นบริบททางสังคมที่ยังสามารถพบเห็นได้ในครอบครัวชาวจีนและฮ่องกง
โดยเล่าเรื่องราวแสนเรียบง่าย ลึกซึ้ง น้อยแต่มากของ คุณป้าชันชุนเถา หรืออาเถา ซึ่งทำงานในครอบครัวเหลียงผู้มีอันจะกินในฮ่องกงมาตั้งแต่เธออายุได้ 10 ปี จนปัจจุบันถึงแม้จะกลายเป็นคุณป้าวัย 60 ปี แต่เธอก็ยังคงอยู่ดูแล โรเจอร์ ทายาทเพียงคนเดียวของตระกูลเหลียงด้วยความรักและผูกพัน
ขณะเดียวกันด้วยอายุที่มากขึ้นพร้อมปัญหาเรื่องสุขภาพ ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้อาเถาไม่สามารถดูแลนายน้อยที่เธอรัก และดูเหมือนมันจะค่อยๆ สร้างระยะห่างและช่องว่างให้กับทั้งคู่ ด้านโรเจอร์เอง หลังจากที่มีโอกาสได้เป็นฝ่ายคอยดูแลอาเถา เขาเองก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความผูกพันในชีวิตที่มีต่อหญิงรับใช้วัยไม้ใกล้ฝั่งด้วยเช่นกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์