×

เหมวิช วาฤทธิ์ เด็กไทยวัย 13 ปี ผู้พัฒนาโปรแกรมและเครื่องช่วยฟัง ผ่านเข้ารอบ 20 คนสุดท้ายโครงการ Google Science Fair

โดย THE STANDARD TEAM
11.06.2019
  • LOADING...
Google Science Fair

ฮับ-เหมวิช วาฤทธิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนวารีเชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยด้วยการผ่านเข้ารอบ 20 คนสุดท้ายของโครงการ Google Science Fair ครั้งที่ 23 ได้สำเร็จ ด้วยการพัฒนาเครื่องช่วยพูดสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน EarZ และโปรแกรมพัฒนาการพูดสำหรับผู้ที่สูญเสียการได้ยิน EZ-Speak

 

เหมวิชกล่าวว่าแรงบันดาลใจของตนเกิดจากการทดสอบเครื่องช่วยฟังด้วยการให้อาสาสมัครทดลองใส่ แล้วให้ครูปิดไมโครโฟนและปิดปากไว้เพื่อไม่ให้อาสาสมัครผู้พิการทางการได้ยินอ่านปากออก หลังจากนั้นครูจึงให้อาสาสมัครพูดซ้ำตามคำที่คุณครูพูด เมื่อคุณครูพูดใส่ไมค์ คนหูหนวกก็สามารถพูดกลับมาได้ตรงและชัดเจนทุกคำ ทุกประโยค

 

“จากการที่ได้ทดสอบเครื่องแล้วพบว่าผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินแต่ละคนจะมีระดับพลังเสียงที่ต่ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้เขาไม่กล้าที่จะสื่อสารกับคนอื่นๆ ประกอบกับตัวผมเองก็เรียนหลักสูตรการร้องเพลงมาจากเบิร์กลีย์ จึงทำให้รู้วิธีการเปล่งเสียงและร้องเพลงด้วยกระบังลม ทำให้ผมเกิดแนวคิดใหม่ว่าจะเอาวิธีการใช้กระบังลมในการเปล่งเสียงและซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการช่วยฟังมาผนวกเข้าด้วยกันเพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินได้เรียนรู้และพัฒนาการออกเสียง มันอาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันของเขาได้ ก็เลยเริ่มทำซอฟต์แวร์ขึ้นมาแล้วไปทดสอบ

 

“ปรากฏว่าผลลัพธ์ที่ผู้มีปัญหาทางการได้ยินได้เริ่มเรียนรู้จากซอฟต์แวร์ประมาณ 25% เขาก็เริ่มมีพัฒนาการทางระดับการเปล่งเสียงที่ดีขึ้น ถือเป็นพัฒนาการที่ก้าวหน้ามาก ทำให้เขาพูดชัดขึ้น เปล่งเสียงดังขึ้น หายใจเป็นปกติและหายใจยาวได้ ส่วนตัวผมดีใจมากที่ได้พัฒนาซอฟต์แวร์นี้ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

 

ข้อมูลจาก Google Science Fair ระบุว่าเดิมทีเหมวิชมีงานอดิเรกในการเล่นกีตาร์ ร้องเพลง และแต่งเพลงเป็นหลัก โดยในเดือนมกราคม ปี 2017 เขาได้ค้นพบแนวคิดเรื่องการนำเสียงผ่านกระดูก (Bone conduction) จากการเล่นกีตาร์ ก่อนจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนาเครื่องช่วยพูดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตกับผู้ที่สูญเสียการได้ยินนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

นอกจากนี้เขายังชื่นชอบการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย และเคยสร้างของเล่นช่วยผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น UNBLINDER และ Formular One จากหุ่นยนต์ LEGO NXT Robot ในปี 2014 โดยมีนักวิทยาศาสตร์และนวัตกรระดับโลกอย่าง สตีฟ จ็อบส์, บิล เกตส์ และไบรอัน เมย์ เป็นแรงบันดาลใจ

 

“ในอนาคตผมอยากจะศึกษาต่อในด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผมอยากจะพัฒนานวัตกรรมที่ผสมผสานวิทยาศาสตร์และดนตรีเพื่อสร้างเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ช่วยให้ผู้พิการทางการได้ยินสามารถได้ยินเสียงและพูดได้มากขึ้นกว่าเดิม

 

“การชนะ Google Science Fair 2018 จะมีความหมายต่อผมมากๆ ผมหวังว่าจะนำเงินรางวัลไปเป็นทุนการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมต่อในอนาคต ความฝันของผมคืออยากพัฒนาให้ EarZ และ EZ-Speak เป็นเครื่องมือที่มีราคาถูกลง เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ทุกข์ทรมานจากการสูญเสียสภาวะการได้ยินและมีรายได้น้อย”

 

เหมวิชจะนำเสนอโครงการเครื่องช่วยพูดสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน EZ-Speak ในรอบ 20 คนสุดท้ายของ Google Science Fair ในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยแม้จะไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่าก่อนหน้านี้เคยมีผู้เข้าแข่งขันจากไทยผ่านเข้ามาถึงรอบนี้ได้หรือไม่ แต่จากการแข่งขัน Google Science Fair ตลอด 23 ครั้งที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้ชนะจากประเทศไทยมาก่อน

 

มาร่วมกันลุ้นส่งแรงใจเชียร์และสนับสนุน เหมวิช วาฤทธิ์ ให้คว้ารางวัลชนะเลิศของ Google Science Fair กันได้ในเร็วๆ นี้ โดยรางวัลใหญ่สุดคือทุนการศึกษา 50,000 เหรียญสหรัฐ หรือราว 1,565,000 บาท

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X