แสงอาทิตย์ยามบ่ายส่องสว่างลงมายังผืนหญ้าของสนามฟุตบอลแห่งหนึ่ง บนพื้นหญ้านั้นมีเยาวชนจากหลากหลายพื้นที่กำลังฝึกทักษะฟุตบอล เพื่อความหวังในการต่อยอดไปสู่ความฝันของการเป็นนักฟุตบอลอาชีพในอนาคต
อุณหภูมิที่ร้อนแรงแบบนี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับคนไทย แต่สำหรับพวกเขาที่เดินทางไกลจากสโมสรเอฟเวอร์ตันแห่งเกาะอังกฤษเพื่อฝึกสอนเยาวชนเหล่านี้อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นชินนัก
บทสนทนานี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2012 เป็นปีที่หลายฝ่ายให้การยอมรับว่าผู้ที่อยู่ในจุดสูงสุดของวงการฟุตบอลยุโรปคือสโมสรบาร์เซโลนา และทีมที่ยืนอยู่ในตำแหน่งแชมป์โลกคือสเปน ด้วยทีมที่คว้าแชมป์ได้เกือบทุกรายการที่พวกเขาลงสนาม และเอาชนะมันด้วยสไตล์การเล่นที่เป็นเอกลักษณ์และน่าหลงใหล
คุณคิดว่าทำไมบาร์เซโลนาถึงแข็งแกร่งได้ขนาดนั้น
เด็กน้อยผู้ที่แทบไม่มีความรู้ด้านฟุตบอล ซึ่งรับหน้าที่เป็นล่ามในการช่วยแปลภาษาให้กับโค้ชเอฟเวอร์ตันกล่าวถามขึ้นระหว่างที่ทั้งสองหลบมาพักที่อัฒจันทร์ของสนามฟุตบอล
“พวกเขาทำเหมือนกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในยุค 1999 น่ะสิ” โค้ชชาวอังกฤษตอบ
“คุณไล่ดูรายชื่อนักเตะของบาร์เซโลนา รวมถึงโค้ชด้วย เกือบทุกคนมาจากระบบเยาวชน ซึ่งก้าวผ่านขึ้นมาแต่ละขั้นจนถึงทีมใหญ่แบบเกือบจะพร้อมกันทั้งหมด และนั่นเป็นการสร้างความเข้าใจกันทั้งทีมแบบที่หาได้ยากมาก มันแทบจะเหมือนทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชุดทริปเปิลแชมป์ ปี 1999 เลยนะ หากเราไล่ดูชื่อชุดนั้นจะเห็นได้ว่าพวกเขาขึ้นมาพร้อมๆ กันเหมือนกัน”
มาถึงปี 2019 เราได้เห็นวัฏจักรของเวลาทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง เมื่อยุคสมัยของบาร์เซโลนาได้ผ่านพ้นไปเหมือนกับคลื่นลูกเก่าที่ไหลกลับลงสู่ทะเลระหว่างที่ถูกคลื่นลูกใหม่กลบทับ แต่สำหรับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ พวกเขากำลังเข้าสู่วันครบรอบ 20 ปีของเหตุการณ์ทริปเปิลแชมป์ในปี 1999 ซึ่งหากดูสถานการณ์ของทีมแล้ว เราเห็นได้ชัดว่าคลื่นลูกใหม่ของทีมดูจะห่างไกลจากฝั่งพอสมควร
แต่สถานการณ์ของความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสิ่งใดก็ตามที่ผ่านบททดสอบของกาลเวลา เช่นเดียวกับสถานการณ์ของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในวันที่พวกเขาวางรากฐานไปสู่ความสำเร็จในปี 1999
3 ฤดูกาลแห่งความว่างเปล่า การเดิมพันกับ เซอร์ อเล็กซ์ และการมอบโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ จุดเริ่มต้นของทริปเปิลแชมป์ ปี 1999
การจะเริ่มต้นพูดถึงตำนานของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ชุด 1999 หรือประวัติศาสตร์ของทีมชุดตำนานของสโมสร จะมีชื่อที่คุ้นเคยทั้ง ไรอัน กิกส์, เดวิด แบ็คแฮม, โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ แต่บุคคลที่มีส่วนสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งคงหนีไม่พ้น เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้นำพาทีมสู่ความสำเร็จตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
วันที่เซอร์ อเล็กซ์ ก้าวเข้ามาคุมทีมในปี 1986 สโมสรไม่ได้เห็นแชมป์ลีกสูงสุดมาเป็นเวลาเกือบสิบปีนับตั้งแต่ปี 1975 ซึ่งในช่วงเวลา 3 ฤดูกาลแรกของเซอร์ อเล็กซ์ เขาก็ยังไม่สามารถพาทีมคว้าแชมป์ได้สักรายการเดียว
ศรัทธาของแฟนบอลที่แม้ว่าจะเห็นการเริ่มต้นความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการบริหารสโมสร ระบบแมวมอง และระเบียบวินัยของนักเตะ แต่ด้วยผลงานของทีมที่ยังไม่สามารถก้าวถึงตำแหน่งแชมป์ลีกสูงสุด แฟนบอลและสื่อมวลชนต่างก็เริ่มต้นตั้งคำถามถึงความสามารถของเซอร์ อเล็กซ์
จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าเซอร์ อเล็กซ์ กำลังจะถูกปลดจากตำแหน่งในวันนั้นจริงหรือไม่ หลายฝ่ายเชื่อว่าเขากำลังจะถูกเขี่ยออกจากทีม ขณะที่บางฝ่ายก็เชื่อว่าเก้าอี้ของเขาไม่เคยได้รับแรงกดดันจากทีม ขณะที่เซอร์ อเล็กซ์ เองก็ยืนยันว่าบอร์ดบริหารให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่
แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันคือความสำคัญของชัยชนะที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีเหนือทีมน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ในศึกเอฟเอคัพ รอบที่ 3 ปี 1990
ก่อนเสียงนกหวีดเกมดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้น หลายคนเชื่อว่าหากปีศาจแดงถูกเขี่ยออกจากการแข่งขันเอฟเอคัพ อนาคตของเซอร์ อเล็กซ์ ในฐานะผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็คงไม่ต่างกัน และโอกาสที่มันจะเกิดขึ้นมีสูงมาก
แต่สุดท้ายลูกทีมของเฟอร์กี้ก็เอาชนะไปได้ 1-0 จากลูกยิงของ มาร์ค โรบินส์ ก่อนที่จะนำพาทีมเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศกับคริสตัล พาเลซ เกมแรกพวกเขาเสมอกัน 3-3 หลังจากช่วงต่อเวลาพิเศษ โดยในปีนั้นยังไม่มีการยิงจุดโทษเพื่อตัดสินแชมป์เอฟเอคัพ แต่ลูกทีมของเฟอร์กี้ก็เอาชนะในเกมรีแมตช์นัดชิงฯ ไป 1-0 คว้าแชมป์เอฟเอคัพ ปี 1990 ไปครอง และนับเป็นแชมป์แรกกับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของเซอร์ อเล็กซ์
ในฤดูกาลต่อมา ปี 1990-91 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ยูฟ่า คัพ วินเนอร์ส คัพ บรรพบุรุษของยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ด้วยการเอาชนะบาร์เซโลนาไป 2-1 และก้าวขึ้นมาจบอันดับที่ 6 ของตารางลีกสูงสุดของอังกฤษ ปีนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของ ไรอัน กิกส์ ปีกดาวรุ่งที่ลงสนามกับทีมชุดใหญ่เป็นครั้งแรกในฤดูกาลนี้ไปทั้งหมด 2 เกม ตามมาด้วย ปีเตอร์ ชไมเคิล ผู้รักษาประตูที่เข้ามาร่วมผลักดันทีมขึ้นไปถึงรองแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษในฤดูกาลสุดท้ายภายใต้ชื่อเก่า โดยมีคะแนนห่างจากแชมป์ลีดส์ ยูไนเต็ด เพียงแค่ 4 คะแนนเท่านั้น
1992 ศักราชใหม่ของลีกสูงสุดของอังกฤษภายใต้ชื่อพรีเมียร์ลีก กับแชมป์ลีกครั้งแรกในรอบ 26 ปีของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
ปี 1992 เป็นฤดูกาลแรกที่เริ่มต้นใช้ชื่อพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เข้ามาแทนดิวิชัน 1 ของการแข่งขันฟุตบอลลีกสูงสุดในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นหมายเลขที่มีความหมายสำหรับความสำเร็จของสโมสรในช่วงเวลาต่อมา
ปี 1992 เป็นปีที่ ไรอัน กิกส์ ได้รับรางวัลนักฟุตบอลเยาวชนยอดเยี่ยมของสมาคมนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ (PFA) โดยเป็นส่วนหนึ่งของทีมเยาวชนชุดแชมป์เอฟเอ ยูธ คัพ ปี 1992 ซึ่งทีมชุดนั้นเองที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น The Class of 92 ที่เติบโตขึ้นมาเป็นขุมกำลังสำคัญของทีมในเวลาต่อมา
ปี 1992 นี้ยังเป็นปีที่ลีดส์ ยูไนเต็ด ยื่นข้อเสนอให้กับ เดนิส เออร์วิน แต่เซอร์ อเล็กซ์ ได้ปฏิเสธอย่างรวดเร็ว และยื่นข้อเสนอกลับไปที่ศูนย์หน้าของลีดส์ ยูไนเต็ด ที่มีชื่อว่า เอริก คันโตนา ก่อนจะปิดดีลได้สำเร็จด้วยเม็ดเงิน 1.2 ล้านปอนด์
ฤดูกาล 1992-1993 นี้เองที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปลดล็อกแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษได้เป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปี ก่อนจะนำพาถ้วยรางวัลกับชื่อลีกใหม่นี้มาผูกติดกับชื่อของสโมสรหลายครั้งต่อมา
และด้วยความต้องการที่จะคงความเป็นหนึ่งในเกาะอังกฤษไว้ให้ได้ เซอร์ อเล็กซ์ ก็สามารถปิดดีลคว้าตัว รอย คีน อีกหนึ่งตำนานของสโมสรมาจากน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ด้วยค่าตัว 3.75 ล้านปอนด์ เสริมขุมกำลังหลักให้พร้อมสำหรับการแข่งขันที่ดุเดือดขึ้นทุกขณะ
จากความสำเร็จทั้งแชมป์แรกในสนามและการคว้าตัวนักเตะคนสำคัญได้ในตลาดซื้อขาย ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ป้องกันแชมป์ลีกได้สำเร็จ โดยมี เอริก คันโตนา ที่ยิงไปคนเดียว 25 ประตูจากทุกรายการ พาทีมจบอันดับที่ 1 ทิ้งห่างแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส อันดับที่ 2 ถึง 8 คะแนน นอกจากนี้ยังเป็นการคว้าดับเบิลแชมป์ครั้งแรกของสโมสรด้วยการเอาชนะเชลซีในนัดชิงฯ เอฟเอคัพไป 4-0
“คุณไม่มีวันที่จะชนะอะไรได้จากเด็กพวกนี้หรอก” การผลัดใบครั้งสำคัญของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
แม้ว่าทีมกำลังเข้าสู่เส้นทางที่ดีสำหรับการเริ่มต้นสร้างประวัติศาสตร์ไปพร้อมๆ กับพรีเมียร์ลีก แต่ฤดูกาลต่อมาแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็พบกับปัญหาใหม่ที่ไม่เคยมีใครพบเจอมาก่อน ด้วยการที่นักเตะหลัก เอริก คันโตนา ถูกแบนถึง 8 เดือนจากเหตุการณ์ทำร้ายแฟนบอล ก่อนที่ทั้งฤดูกาลจะจบด้วยการเสียแชมป์ลีกให้กับแบล็กเบิร์น โรเวอร์ส และเสียแชมป์เอฟเอคัพให้กับเอฟเวอร์ตัน
ความล้มเหลวครั้งแรกในรอบหลายปีที่สโมสรจบฤดูกาลด้วยมือเปล่า ทำให้เซอร์ อเล็กซ์ ต้องตัดสินใจเปลี่ยนแปลงทีมอย่างรวดเร็วด้วยการขายนักเตะหลักอย่าง พอล อินซ์, มาร์ก ฮิวส์ และอังเดร แคนเชลสกีส์ พ้นจากทีม และดันเยาวชนของทีมขึ้นมาเป็นนักเตะหลัก
รายชื่อนั้นประกอบไปด้วย เดวิด เบ็คแฮม, พอล สโคลส์ และแกรี เนวิล ที่ในเวลานั้นถูกวิจารณ์อย่างหนักจาก อลัน แฮนเซน นักวิเคราะห์ฟุตบอลชาวสกอตแลนด์ ในรายการ Match of the day หลังจากที่ออกสตาร์ทฤดูกาลด้วยการพ่ายให้กับแอสตัน วิลล่า ไป 1-3 ไว้ว่า
“พวกเขามีปัญหาแน่ แต่อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ตอนนี้นักเตะอำลาสนามไป 3 คน เคล็ดลับที่ดีคือการซื้อนักเตะตอนที่ทีมของคุณแข็งแกร่ง
“คุณไม่มีวันที่จะชนะอะไรได้จากเด็กพวกนี้หรอก”
ประโยคนี้กลายเป็นประโยคที่โด่งดังจนในปัจจุบันยังมีคนนำมาสกรีนบนเสื้อขาย เพื่อรำลึกถึงนักเตะเยาวชนของทีมที่เอาชนะคำสบประมาทนี้ได้
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พร้อมกับเยาวชนของทีม และการหวนคืนสนามของ เอริก คันโตนา พาทีมคว้าดับเบิลแชมป์ได้สำเร็จทั้งแชมป์ลีกและเอฟเอคัพ
และในปี 1996-97 นี้เองที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ก้าวเข้าสู่โรงละครแห่งความฝันจากโมลด์ด้วยค่าตัว 1.5 ล้านปอนด์ พร้อมกับทำผลงานไว้ 19 ประตูในทุกรายการ ก่อนที่คันโตนาจะประกาศเกษียณจากวงการฟุตบอลด้วยวัยเพียง 30 ปี
ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องคว้าตัว เท็ดดี้ เชอร์ริงแฮม จากท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ด้วยค่าตัว 3.5 ล้านปอนด์ และปลอกแขนกัปตันก็ตกไปอยู่ที่แขนของ รอย คีน แม้ว่าฤดูกาล 1997-98 จะเป็นอีกหนึ่งฤดูกาลที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จบฤดูกาลด้วยมือเปล่า แต่พวกเขาก็เดินหน้าเสริมทัพด้วยการนำเอา ยาป สตัม เซ็นเตอร์แบ็กชาวดัตช์ เข้ามาสู่ทีมด้วยค่าตัว 10.75 ล้านปอนด์ พร้อมกับ ดไวต์ ยอร์ก จากแอสตัน วิลล่า ทำให้ทีมชุดที่รอสร้างประวัติศาสตร์สมบูรณ์ทุกตำแหน่งก่อนฤดูกาล 1998-99
1999 ประวัติศาสตร์ผ่านคำบอกเล่าของฤดูกาลที่พวกเขามีโอกาสกลายเป็นศูนย์ทุกวินาที
ประโยคหนึ่งที่โด่งดังข้ามกาลเวลาสำหรับเหตุการณ์ที่บาร์เซโลนา ปี 1999 คือ “คุณอยู่ที่ไหนตอนนัดชิงฯ ยูฟ่า ปี 1999” เพราะเหตุการณ์ในเกมนั้นเป็นเหตุการณ์ที่หลายคนยกย่องให้เป็นหนึ่งในการพลิกสถานการณ์ที่ตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
แต่หากเรากรอเทปไฮไลต์การแข่งขันกลับไป 6 สัปดาห์ก่อนที่เหตุการณ์ในค่ำคืนนั้นจะเกิดขึ้น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็อยู่ในสถานการณ์ที่มีโอกาสจบฤดูกาลแบบมือเปล่าเช่นกัน
1999 รอบรองชนะเลิศเอฟเอคัพ จุดเปลี่ยนสำคัญในสโมสร
การเดิมพันแชมป์เอฟเอคัพเริ่มต้นขึ้นในรอบรองชนะเลิศศึกเอฟเอคัพกับคู่อริตลอดกาลอย่างอาร์เซนอลที่วิลล่าพาร์ก
สถานการณ์ในเกมนั้น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องเหลือผู้เล่นเพียง 10 คน หลังจาก รอย คีน โดนใบแดงไล่ออกจากสนามระหว่างที่สองทีมเสมอกันอยู่ 1-1
ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บนาทีที่ 2 อาร์เซนอลได้จุดโทษ เดนนิส เบิร์กแคมป์ ดาวยิงระดับตำนานของอาร์เซนอลก้าวขึ้นมารับหน้าที่สังหารจุดโทษ หน้าที่ซึ่งเขาสามารถทำมันได้สำเร็จตลอด 6 ครั้งที่ผ่านมา
“ตอนที่เราเสียจุดโทษ ผมนึกว่าเราเหลืออีกประมาณ 10 นาที”
ปีเตอร์ ชไมเคิล ย้อนอดีตถึงวันที่เขาต้องเผชิญหน้ากับเบิร์กแคมป์
“นั่นคือภาพสะท้อนของทั้งเกมที่ผ่านมา ทั้งสองทีมต่อสู้กันอย่างดุเดือด ผลคือทั้งสองเสมอกัน และสุดท้ายในการแข่งขันระดับสูงสุด มันจะมีเพียงแค่เส้นบางๆ ของโชคชะตาที่ตัดแบ่งชัยชนะและความพ่ายแพ้ของทั้งสองทีมออกจากกัน”
ชไมเคิลซึ่งในเวลานั้นไม่สามารถนั่งศึกษาเทปผู้ยิงประตูได้เหมือน เบน ฟอสเตอร์ ผู้รักษาประตูแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ศึกษาทิศทางการยิงของแข้งท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ผ่านไอพอด ก่อนเซฟการดวลจุดโทษ พาทีมคว้าแชมป์ลีกคัพในปี 2009 แต่สุดท้ายชไมเคิลก็พุ่งไปยังด้านซ้าย ซึ่งเป็นการเดาที่ถูกต้อง
“ผมไม่ได้ศึกษาอะไรมาเลย จังหวะเซฟนั้นเกิดจากดวงล้วนๆ ผมดีใจที่เราไม่มีไอพอดในตอนนั้น ใครจะไปรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราใช้ไอพอดในวันนั้น”
จากจังหวะเซฟไม่นาน ไรอัน กิกส์ ก็ตัดบอลได้จากครึ่งสนาม ก่อนจะลากบอลไปจนถึงหน้าประตู และยิงประตูที่กลายเป็นประตูยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลของศึกเอฟเอคัพ และส่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เข้ารอบชิงฯ ได้สำเร็จ
“เกมนั้นคือจุดเปลี่ยนสำคัญในสโมสร” เดวิด เฟเวอ นักกายภาพบำบัดของทีมปีศาจแดงในปี 1999 เล่าถึงความสำคัญของเกมนั้น
“2 เดือนก่อนหน้านั้น ดไวต์ ยอร์ก บอกว่าถ้าเราชนะอีก 25 นัด เราจะเป็นทริปเปิลแชมป์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ตลกสำหรับทุกคนในเวลานั้น แต่หลังจากที่เราชนะอาร์เซนอลทั้งที่เหลือนักเตะเพียง 10 คนเป็นกำลังใจที่สำคัญมาก เรากลับเข้ามาและรู้สึกว่ามันเป็นไปได้แล้วตอนนี้ และนั่นคือตอนแรกที่เราเริ่มต้นเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นจริงๆ”
หลังจากชัยชนะเมื่อวันที่ 14 เมษายน 1999 พวกเขาเหลืออีก 10 เกม ซึ่งต้องชนะทุกนัดเพื่อจะสร้างประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ
1999 แชมป์พรีเมียร์ลีกที่ต้องแลกกับกัปตันทีม
แชมป์แรกของฤดูกาล 1999 ของปีศาจแดงคือพรีเมียร์ลีกเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม หลังจากเกมสุดท้ายที่พวกเขาพลิกกลับมาเอาชนะท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ได้ 2-1 แต่ดราม่าที่แท้จริงเกิดขึ้นในค่ำคืนต่อมา
รอย คีน กัปตันทีมออกมาเฉลิมฉลองแชมป์แรกกับเพื่อนร่วมทีม ก่อนจะเกิดปัญหาความวุ่นวายขึ้นที่บาร์ในเมืองแมนเชสเตอร์ และจบลงที่สถานีตำรวจ
เซอร์ อเล็กซ์ เดินทางมาถึงสถานีตำรวจ นั่งข้างกัปตันทีมระหว่างการให้ปากคำกับตำรวจ ก่อนจะพูดคุยกับกัปตันทีม และแบนเขาทันทีจากนัดชิงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก รวมถึงตัวเขาเองได้รับบาดเจ็บตั้งแต่ช่วงต้นเกมนัดชิงฯ เอฟเอคัพ ทำให้ฤดูกาลทริปเปิลของ รอย คีน อาจจะไม่เป็นที่น่าจดจำนักสำหรับเขา
นอกจากนี้ ยาป สตัม ปราการหลังคนสำคัญของทีมซึ่งมีปัญหาอาการบาดเจ็บที่แฮมสตริงก่อนเกมนัดชิงฯ กับนิวคาสเซิล วันที่ 22 พฤษภาคม อยากจะฝืนลงสนามให้กับทีม แต่สุดท้าย เดวิด เฟเวอ ก็ปฏิเสธที่จะให้เขาเสี่ยงลงสนาม
“เขาผิดหวังมาก แต่มันเป็นความเสี่ยงที่สูงเกินไป ผมต้องอธิบายศาสตร์ของกายภาพบำบัดต่างๆ และความอันตรายให้กับเขา ซึ่งถ้ามันเกิดการฉีกขาดมากขึ้นกว่าเดิม สตัมจะไม่ใช่แค่หมดโอกาสลงสนามในนัดชิงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก แต่เขาจะไม่ฟิตพร้อมสำหรับเกมในต้นฤดูกาลหน้าด้วย ซึ่งมันเป็นการตัดสินใจอย่างตรงไปตรงมา”
สุดท้ายสตัมก็ลงสนามมาในช่วง 12 นาทีสุดท้าย ในเกมที่พวกเขาเอาชนะนิวคาสเซิลไป 2-0 จากลูกยิงของ เท็ดดี้ เชอร์ริงแฮม และพอล สโคลส์
1999 ค่ำคืนก่อนนัดชิงยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
ไม่มีการเฉลิมฉลองใดๆ เกิดขึ้นหลังจากดับเบิลแชมป์ของพวกเขา เพราะเซอร์ อเล็กซ์ เข้าใจดีว่าความรู้สึกนี้คือสิ่งที่พวกเขาได้สัมผัสมาก่อนแล้ว ดังนั้นคำสั่งของเขาจึงระบุชัดเจนว่าหากใครจะเดินทางไปบาร์เซโลนา พวกเขาต้องเข้านอนก่อนตีหนึ่งครึ่ง
แทนที่สโมสรจะเดินทางกลับขึ้นเหนือจากลอนดอน พวกเขาเปลี่ยนเป้าหมายไปที่ศูนย์กีฬาแห่งชาติ Bisham Abbey ในเบิร์กเชียร์ ที่ซึ่งทีมงานโภชนาการอาหารและพ่อครัวเดินทางไปสมทบ รวมถึงทีมยังใช้เวลานี้ศึกษาไฮไลต์การแข่งขันความยาว 40 นาทีที่พวกเขาพบกับบาเยิร์น มิวนิก ในรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และเสมอกันไปทั้งสองเกม ก่อนจะออกเดินทางไปยังบาร์เซโลนาในวันต่อมา
การฝึกซ้อมคืนก่อนเกมเต็มไปด้วยความสนุกและตื่นเต้น เนื่องจากพวกเขาได้ใช้ห้องแต่งตัวของทีมเหย้า ซึ่งในล็อกเกอร์ของนักเตะบาร์เซโลนาแต่ละคนจะมีภาพของนักเตะคนนั้นๆ อยู่ นักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต่างก็ตื่นเต้นว่าใครได้ใช้ล็อกเกอร์ของใคร ก่อนที่ทุกคนจะกลับโรงแรมและเข้านอน
1999 ค่ำคืนที่คัมป์นู
เกมเริ่มต้นไปได้เพียง 6 นาทีก็ดูเหมือนกับว่าทุกความฝันของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้จบลง เมื่อบาเยิร์น มิวนิก ขึ้นนำก่อนตั้งแต่ต้นเกม สถานการณ์แชมป์เหมือนมุ่งไปทางฝั่งเยอรมนี แม้กระทั่งถ้วยรางวัลยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกที่ถูกยกออกมาตั้งข้างสนามยังผูกริบบิ้นเป็นสีของบาเยิร์น มิวนิก
แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงทดเวลาบาดเจ็บ นั่นคือปาฏิหาริย์ที่กลายเป็นที่กล่าวขานมาถึงทุกวันนี้ ลูกเตะมุมของ เดวิด เบ็คแฮม ไปเข้าทาง เท็ดดี้ เชอร์ริงแฮม ยิงตีเสมอ 1-1 ในนาทีที่ 91
ไม่ถึง 2 นาทีต่อมา เดวิด เบ็คแฮม ก็ทำในสิ่งที่เขาถนัดที่สุดอีกครั้ง และเปิดลูกเตะมุมไปเข้าทาง เท็ดดี้ เชอร์ริงแฮม แต่ครั้งนี้บอลลอยไปถึงเท็ดดี้ ก่อนจะเปลี่ยนทิศทางไปหา โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ซึ่งยิงประตูชัยพาทีมคว้าทริปเปิลแชมป์ไปครองอย่างไม่น่าเชื่อ
“สมองของผมงงไปหมด ผมรู้ว่าเราฉลอง รู้ว่าเราได้ประตู แต่เพราะผมเห็นมันจากไฮไลต์ย้อนหลัง ผมจำเหตุการณ์อะไรจากค่ำคืนนั้นไม่ได้เลย” ปีเตอร์ ชไมเคิล
“ผมจำตอนเราฉลองได้ ตอนที่ผมสไลด์ไปและมีร่างกายของเพื่อนร่วมทีมทับผมอยู่ ผมจำความคิดตอนนั้นได้ว่าตัวสำรองทั้งทีมวิ่งมาหาผมหมดเลย พวกเขามาเร็วขนาดนี้ได้ยังไง!” โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์
การเฉลิมฉลองชัยในค่ำคืนนั้นยาวนานและต่อเนื่องไปเกือบตลอดทั้งคืน นักเตะเข้าไปในห้องแต่งตัว และจับ อัลเบิร์ต มอร์แกน ผู้ดูแลชุดแข่งของทีมโยนใส่อ่างอาบน้ำ ปาร์ตี้ค่ำคืนนั้นเริ่มต้นตั้งแต่เวลา 3.30 น. ยาวไปถึงเช้า เพราะไม่มีใครนอน พวกเขาฉลองเสร็จแล้วขึ้นเครื่องกลับเลย
สปิริตของทีมชุดทริปเปิลแชมป์
โอเล่ กุนนาร์ โชลชาร์ กุนซือปัจจุบันของทีม เล่าย้อนไปถึงความรู้สึกของทีมในวันนั้นว่า
“มันเป็นสปิริตของทีมที่ยอดเยี่ยม มันเริ่มต้นมาจากผู้จัดการทีม เขาได้อัดฉีดพลังความกระหายและความถ่อมตัวในเวลาเดียวกัน ความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างหนักและความมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะ เราไม่เคยยอมแพ้ในสนามซ้อม เราผลักดันทุกอย่างร่วมกันเพื่อชัยชนะ
“มันเกิดขึ้นจากการทำงานหนัก จังหวะที่ถูกที่ถูกเวลา และการทำงานมากกว่าปกติ เพื่อเพิ่มโอกาสให้คุณชนะในเกมได้
“มันมีบางสิ่งที่ทำได้ง่ายมาก และง่ายมากที่จะไม่ทำ เราพร้อมที่จะทุ่มเททุกอย่างที่เรามีหรือไม่”
ในช่วงเวลา 6 สัปดาห์จากรอบรองชนะเลิศเอฟเอคัพจนถึงค่ำคืนที่คัมป์นู แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้พิสูจน์แล้วว่าพวกเขาทุ่มสุดตัว
2019 แสงยามบ่ายที่โอลด์แทรฟฟอร์ดในเวลา 20 ปีต่อมา
แสงอาทิตย์ยามบ่ายส่องสว่างลงมายังผืนหญ้าของสนามฟุตบอลโอลด์แทรฟฟอร์ด บนพื้นหญ้านั้นมีชายวัย 40 ปีหลายคนกำลังแสดงทักษะฟุตบอลเพื่อรำลึกถึงความหลังเมื่อ 20 ปีก่อนที่พวกเขาได้ทำตามความฝันในการเป็นนักเตะอาชีพ และประสบความสำเร็จสูงสุดด้วยการคว้าทริปเปิลแชมป์เมื่อปี 1999
อุณหภูมิแบบนี้เป็นสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับเหล่าอดีตนักเตะแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และพวกเขาได้สร้างรอยยิ้มให้กับทุกๆ ชีวิตที่อุทิศตนให้กับการเป็นแฟนคลับของสโมสรแห่งนี้ ทั้งการเปิดบอล การยิงประตูทั้ง 5 ลูกในแมตช์พิเศษที่จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เมื่อ 20 ปีก่อนของทีม
วันนี้มีนักเตะในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เดินทางมาเกือบครบทุกคน รวมถึงเซอร์ อเล็กซ์ ที่นั่งดูจากข้างสนามเหมือนในวันที่เขาเป็นผู้จัดการทีมที่เลือกเอานักเตะอย่าง เดวิด เบ็คแฮม, นิกกี้ บัตต์, พอล สโคลส์ และแกรี เนวิล ขึ้นจากการทีมเยาวชน
ภาพบรรยากาศความประทับใจในวันนี้เต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่ก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวด สำหรับแฟนบอล เมื่อเสียงนกหวีดจบลง และทีมต้องหันกลับมามองนักเตะชุดปัจจุบันที่ดูห่างไกลในแง่ของความสำเร็จเมื่อ 20 ปีก่อน
เวลาที่ผ่านพ้นไป 20 ปีได้เปลี่ยนแปลงสโมสรไปมาก ทั้งสภาพแวดล้อม การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้นทุกวัน สมการความสำเร็จที่แต่ละทีมเคยมีถูกท้าทายและลดทอนไปตามคู่แข่งหน้าใหม่ที่มีความพร้อม ทั้งเม็ดเงินลงทุน การบริหารจัดการที่เป็นระบบ รวมถึงกำลังใจที่พร้อมจะลงสนามเพื่อชัยชนะทุกเกม จนเราได้เห็นการลุ้มแชมป์พรีเมียร์ลีกอย่างดุเดือดในฤดูกาลที่ผ่านมา
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กลายเป็นหัวข้อที่รายการทีวีพูดถึงอีกครั้ง แต่ในด้านของความเป็นห่วง นักเตะในอดีตออกมาแสดงความกังวลอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะหาต้นเหตุของปัญหาภายในสโมสร เหมือนที่ รอย คีน ตำนานของทีม ออกมากล่าวว่าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องกำจัดวัชพืชภายในสโมสร
การก่อสร้างทีมสู่ความสำเร็จในฟุตบอลสมัยใหม่นั้นเป็นเรื่องที่ยากและละเอียดอ่อน จากที่เราเห็น เรอัล มาดริด ทีมแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 3 สมัยล่าสุดยังต้องเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับบาร์เซโลนา ทีมที่ยึดมั่นในรูปแบบการเล่นและดีเอ็นเอของสโมสร รวมถึงการมีนักเตะที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลกคนหนึ่งอย่าง ลิโอเนล เมสซี ก็ยังต้องหาทางปรับสมดุลและมองหาสมการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
แต่จากประวัติศาสตร์ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยุค 1990 จะเห็นได้ชัดว่าสิ่งหนึ่งที่ทีมชุดนั้นมีคือเวลาและการลงทุน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความบังเอิญที่ลงตัวจากเยาวชน Class of 1992 ที่ก้าวขึ้นมาสู่ความสำเร็จของทีมชุดใหญ่ พร้อมๆ กับการบริหารจัดการอย่างเป็นระเบียบของเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
ความยากในการนำเอาสมการความสำเร็จในอดีตมาใช้สำหรับฟุตบอลในปัจจุบันคือสภาพแวดล้อมของการแข่งขันเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะโอกาสของนักเตะเยาวชนที่จะแจ้งเกิดในทีมใหญ่ เนื่องจากฟุตบอลในปัจจุบันกลายเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องพึ่งการลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล ส่งผลให้ความคาดหวังในผลตอบแทนของการลงทุนสั้นลง
ความสำเร็จคือทุกอย่าง บวกกับความคาดหวังของแฟนบอลที่สูงขึ้น ทำให้เวลาและโอกาสกลายเป็นสิ่งที่หาได้ยากขึ้น โดยเฉพาะสำหรับนักเตะเยาวชนของทีมใหญ่ๆ ในยุโรป ทำให้การจะได้เห็นทีมแบบ Class of 92 ในสโมสรชั้นนำของยุโรปเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ
แต่สิ่งหนึ่งที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สามารถทำได้ในเวลานี้คือการที่ โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ผู้จัดการทีมคนปัจจุบัน จำเป็นต้องอัดฉีดพลังความกระหายและความถ่อมตัวในเวลาเดียวกัน ความมุ่งมั่นที่จะทำงานอย่างหนักและความมุ่งมั่นเพื่อชัยชนะ เราไม่เคยยอมแพ้ในสนามซ้อม เราผลักดันทุกอย่างร่วมกันเพื่อชัยชนะสู่นักเตะรุ่นต่อไปของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด บวกกับสิ่งที่เขาและนักเตะควรได้รับคือเวลา โอกาส และการสนับสนุนจากทั้งบอร์ดบริหารและบุคคลที่สำคัญที่สุดคือแฟนบอล
เพราะเวลาคือการก่อสร้างใหม่ของสโมสร และความสำเร็จของทีมในระยะยาวมักเกิดขึ้นจากความสม่ำเสมอ ไม่ว่าดีเอ็นเอความสำเร็จในอนาคตของสโมสรจะออกมาในรูปแบบใด แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการเริ่มต้นสร้างมันขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่อง เหมือนกับที่ แมตต์ บัสบี ผู้จัดการทีมฟุตบอล ตำนานของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยกล่าวไว้ว่า
“หากคุณต้องการผลไม้ที่หอมหวานที่สุดในวงการฟุตบอล คุณก็ต้องลงมือปลูกมันเอง”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: