×

สงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ศึกชิงมหาอำนาจที่มากกว่าความขัดแย้งทางการค้า

27.05.2019
  • LOADING...
สงครามการค้า

HIGHLIGHTS

15 Mins. Read
  • สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน เป็นความขัดแย้งที่มีขอบเขตกว้างกว่าเรื่องการค้า แต่ครอบคลุมทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี นักวิชาการบางคนเรียกความขัดแย้งครั้งนี้ว่า ‘สงครามแห่งความอยู่รอดทางเทคโนโลยี’
  • ปัจจัยแห่งความขัดแย้งที่สำคัญกว่าการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็คือ จีนมีการใช้มาตรการในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง โดยจีนถูกกล่าวหาจากสหรัฐอเมริกาว่าขโมยทรัพย์สินทางปัญญา มีการบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี การละเมิดสิทธิทางปัญญา การใช้มาตรการอุดหนุนทางการค้า ปิดกั้นการลงทุนในด้านการค้าและบริการกับบริษัทในต่างประเทศ ฯลฯ
  • สหรัฐอเมริกาและจีนต่างก็ตระหนักว่าหากการทำสงครามครั้งนี้ยืดเยื้อก็จะเข้าสู่ ‘ทฤษฎีเกมลบ’ (Negative-sum Game) ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการหลีกเลี่ยง ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าถึงจุดหนึ่งสหรัฐอเมริกาและจีนต่างจำเป็นต้องหาข้อยุติเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาดังกล่าว

ความจริงของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในขณะนี้ ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นเรื่องของ ‘สงครามการค้า’ ความจริงเป็นความขัดแย้งที่มีขอบเขตของมิติที่กว้างกว่าเรื่องการค้า

 

แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมิติด้าน ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ (Geopolitics) ซึ่งครอบคลุมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความมั่นคง เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี โดยนักวิชาการบางคนเรียกความขัดแย้งครั้งนี้ว่า ‘สงครามแห่งความอยู่รอดทางเทคโนโลยี’ (Existential Technological War)

 

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นอกจากต้องการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการค้ากับจีนแล้ว ยังต้องการดำเนินมาตรการในการป้องปรามไม่ให้จีนพัฒนาแสนยานุภาพทางด้านเทคโนโลยีมาแข่งขันกับสหรัฐอเมริกา โดยถือว่าจีนเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงและกระทบกับสถานภาพของความเป็นเจ้าโลก

 

สงครามการค้า

 

อาจกล่าวได้ว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนมี 2 ประเด็นด้วยกัน

 

ประเด็นแรกเป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการขาดดุลการค้า

 

ประเด็นที่สองคือความขัดแย้งในลักษณะภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวคือเป็นการป้องปรามของสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะหยุดยั้งหรือชะลอการพัฒนาแสนยานุภาพของจีนในทางเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา

 

ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในเรื่องดุลการค้านั้น สืบเนื่องจากสาเหตุการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องกับประเทศต่างๆ โดยมีมูลค่าการขาดดุลรวมสูงกว่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้มีการขาดดุลกับจีนเพียงประเทศเดียวถึง 3.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่าครึ่งหนึ่งของการขาดดุลทั้งหมด ดังนั้นประเทศจีนจึงเป็นเป้าหมายหลักในการที่สหรัฐอเมริกาจะหาทางแก้ไขการขาดดุลทางการค้าของตน

 

ปัจจัยแห่งความขัดแย้งที่สำคัญกว่าการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็คือ จีนมีการใช้มาตรการในการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในด้านไอที ไบโอเทค และหุ่นยนต์ โดยจีนถูกกล่าวหาจากสหรัฐอเมริกาว่าขโมยทรัพย์สินทางปัญญา มีการบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี การละเมิดสิทธิทางปัญญา การใช้มาตรการอุดหนุนทางการค้า ปิดกั้นการลงทุนในด้านการค้าและบริการกับบริษัทในต่างประเทศ รวมถึงปิดกั้นการเข้าถึงเทคโนโลยีคลาวด์ และอื่นๆ

 

การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ดังกล่าวนี้เป็นเครื่องมือทางการเมืองสำคัญที่นอกจากจีนจะแย่งตลาดการค้าจากต่างประเทศแล้วยังพัฒนาแสนยานุภาพทางด้านอาวุธและกองทัพ ซึ่งเท่ากับเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อสหรัฐอเมริกาและต่อโลกด้วย

 

ดังนั้นสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของทรัมป์จึงดำเนินมาตรการที่จะเล่นงานจีน เพื่อบั่นทอนขีดความสามารถของจีนในการพัฒนาเทคโนโลยี

 

ประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนจึงผูกโยงสองประเด็นเข้าด้วยกัน

 

 

ทรัมป์ได้พยายามที่จะโยงประเด็นปัญหาแผนการแก้ไขดุลการค้ากับปัญหาเทคโนโลยีให้มีความผูกพัน เพื่อเป็นแรงกดดันให้จีนแก้ปัญหาทั้งสองประเด็นในเวลาเดียวกัน

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนมาปะทุขึ้นในช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา และสีจิ้นผิงเป็นประธานาธิบดีของจีน บริบทของเงื่อนเวลาที่เกิดขึ้นผนวกกับการเข้ามาเป็นผู้นำของทั้งสองคนคือทรัมป์กับสีจิ้นผิงย่อมมีส่วนสัมพันธ์กัน และถือเป็นปัจจัยที่จะอธิบายถึงความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา

 

สงครามการค้า

 

ความอับอายต่อประวัติศาสตร์ สู่เป้าหมาย ‘มหาอำนาจของโลก’ ของสีจิ้นผิง

สีจิ้นผิงได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีของจีนในปี 2013 และมีความใฝ่ฝันถึงอุดมการณ์ที่จะพัฒนาให้จีนยิ่งใหญ่เป็นอภิมหาอำนาจดุจเดียวกับสหรัฐอเมริกา

 

สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับสีจิ้นผิงก็คือจีนในอดีตต้องตกเป็นเบี้ยล่างของตะวันตกนับตั้งแต่สงครามฝิ่นในปี 1839 ที่แพ้อังกฤษ ทั้งๆ ที่ในอดีตจีนเคยเป็นมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกมาก่อน และจีนยังมาแพ้ครั้งที่สองต่อญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ 1930 โดยเฉพาะการพ่ายแพ้ที่นานกิง ซึ่งมีคนจีนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้กว่าล้านคน ยิ่งกว่านั้นจีนยังถูกตะวันตกดูถูกดูแคลนเสมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง

 

ความรู้สึกอับอายต่อประวัติศาสตร์จึงกลายมาเป็นแรงกดดันด้านชาตินิยมที่จะต้องจดจำเพื่อหาทางล้างแค้นทางประวัติศาสตร์ เพื่อพัฒนาให้จีนสามารถกลับมาเป็นมหาอำนาจ

 

เหมาเจ๋อตุง

 

ในปี 1949 ประธานาธิบดีเหมาเจ๋อตุงประสบความสำเร็จจากการยึดผืนแผ่นดินใหญ่ไว้ เท่ากับว่าได้กอบกู้เอกภาพและเอกราชของจีน และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งประกายที่ผู้นำของจีนคนต่อมาจะนำไปสู่การพัฒนาให้จีนยิ่งใหญ่เป็นมหาอำนาจสู้กับตะวันตกได้ และเป็นการล้างแค้นทางประวัติศาสตร์แห่งความละอายใจ

 

เหมาเจ๋อตุงได้สร้างอนุสาวรีย์เป็นรูปเสาโอเบลิสก์ (Obelisk) ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน โดยภายในนั้นมีการเขียนภาษาจีนเพื่อเตือนคนจีนทั้งประเทศว่า 勿忘国耻 ซึ่งแปลว่า อย่าลืมความละอายใจของเรา  

 

เครื่องเตือนใจดังกล่าวนี้ถือเป็นค่านิยมที่คนจีนทุกรุ่นจะต้องจดจำเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศให้ยิ่งใหญ่เพื่อต่อกรกับตะวันตกให้ได้

 

ในยุคของเติ้งเสี่ยวผิง ประเทศจีนเริ่มมีการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจภายใต้นโยบายสี่ทันสมัย โดยมีการพัฒนาทุนนิยมและเปิดประเทศ

 

จุดนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนมาโดยตลอด

 

สงครามการค้า

 

ระยะเวลาตั้งแต่ปี 1990-2012 จีนมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% และเศรษฐกิจก็ขยายตัวจนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา

 

นอกจากนั้นจีดีพีต่อหัวของจีนได้แซงหน้าประเทศไทยเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยขณะนี้อยู่ในระดับ 6 พันเหรียญสหรัฐต่อคน จีนภายใต้ยุคเติ้งเสี่ยวผิงที่ดำเนินมาจนถึงยุคของสีจิ้นผิงได้พัฒนาตนเองจากประเทศจนๆ และมีความล้าหลัง กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ และมีการพัฒนาความทันสมัยในด้านต่างๆ รวมทั้งด้านเทคโนโลยี

 

ในยุคของเติ้งเสี่ยวผิงจนถึงสีจิ้นผิง แม้จีนจะยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่ได้แสดงออกถึงแนวนโยบายที่ท้าทายสหรัฐอเมริกา ส่วนสหรัฐอเมริกาเองก็มิได้มองจีนในลักษณะของศัตรูหรือคู่อริ แต่มองเป็นหุ้นส่วนทางด้านการค้าและการเมือง

 

นโยบายต่างประเทศที่สหรัฐอเมริกาดำเนินกับจีนก่อนถึงยุคสีจิ้นผิงเรียกว่า ‘การผูกพันอย่างสร้างสรรค์’ (Constructive Engagement) ทั้งนี้ผู้นำของสหรัฐอเมริกามองว่าถ้าจีนพัฒนามาถึงจุดหนึ่ง จีนจะกลายเป็นประเทศประชาธิปไตยเสรีนิยม มีการเคารพสิทธิมนุษยชน มีการเปิดเสรีทางการค้าและบริการ และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมตะวันตกที่ไม่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐอเมริกา

 

และในยุคดังกล่าวนี้ ท่าทีของจีนก็จะดำเนินมาตรการในลักษณะที่ยึดตามแนวทางของเติ้งเสี่ยวผิงที่ว่า ‘ซ่อนความเข้มแข็งและรอจังหวะเวลาที่เหมาะสม’ (Hide your strength, bide your time.) กล่าวคือไม่กระโตกกระตากให้โลกภายนอกเกิดความยำเกรงหรือไม่ไว้ใจจีน

 

นโยบายต่างประเทศของจีนจึงไม่มีท่าทีเป็นภัยคุกคามต่อต่างประเทศและตะวันตก อาจจะมีบ้างก็ในกรณีสั่งสอนเวียดนามในปี 1979 หรือการปะทะกันประปรายในด้านพรมแดนกับอินเดีย

 

สงครามการค้า

 

บริบทดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาและตะวันตกเปิดทางให้จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ มีการเข้าไปลงทุน เปิดโอกาสให้คนจีนได้มาเรียนรู้เทคโนโลยีในประเทศของตน มีการลงทุนระหว่างตะวันตกและจีน มิได้มีปฏิกิริยาทักท้วงต่อการที่จีนเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ และยังเปิดโอกาสให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 ด้วย

 

ในปี 2013 สีจิ้นผิงมีแนวความคิดที่จะพัฒนาความยิ่งใหญ่ของประเทศเพื่อเทียบเคียงกับมหาอำนาจในตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งสีจิ้นผิงประเมินถึงศักยภาพของจีนที่จะพัฒนาแสนยานุภาพทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ความมั่นคง โดยเน้นที่การพัฒนาเทคโนโลยี

 

แนวคิดของสีจิ้นผิงจะปรากฏอยู่ในสิ่งที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ ‘ความฝันของจีน’ (China Dream) โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญๆ ประการแรกคือ สร้างความแข็งแกร่งและเอกภาพให้กับพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานความแข็งแกร่งของประเทศ

 

ซึ่งนั่นหมายถึงการยังคงเน้นระบบการปกครองโดยมีศูนย์รวมอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์และยังมีองค์ประกอบของสังคมนิยม ซึ่งเป็นสิ่งที่ตะวันตกเคยคาดหวังในสิ่งที่ตรงกันข้าม โดยคาดว่าเมื่อจีนมีเศรษฐกิจดีขึ้น ระบบการปกครองจะเข้าสู่ประชาธิปไตยเสรีนิยม มีการขยายตัวของทุนนิยม และเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น

 

ประการที่สองคือเน้นการปราบปรามคอร์รัปชัน ถึงกับใช้ประโยคว่า “เล่นงานทั้งเสือและแมลงวัน” กล่าวคือจับทั้งตัวใหญ่และตัวเล็ก

 

ประการที่สาม พัฒนาความเชื่อมโยงในทุกมิติกับต่างประเทศ โดยเน้นนโยบายที่เรียกว่า ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (Belt and Road Initiative)

 

ประการที่สี่ จะพัฒนาประเทศจีนเป็น 3 วงใหญ่ วงแรกคือ Greater China ซึ่งประกอบด้วยจีน ฮ่องกง และไต้หวัน วงที่สองเป็นเขตอิทธิพลของจีน ประกอบด้วยประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และวงที่สามคือพันธมิตร หมายถึงประเทศอื่นๆ

 

การขยายอิทธิพลและแสนยานุภาพของจีนเป็นไปในลักษณะที่จะเผชิญกับการท้าทายของมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา

 

ในปี 2009 ประเทศจีนได้ส่งแผนที่เกี่ยวกับขอบเขตทะเลจีนใต้ให้กับองค์การสหประชาชาติ แผนที่ดังกล่าวนั้นมีชื่อว่า Nine-Dash Line ซึ่งครอบครองเนื้อที่ในทะเลจีนใต้กว่า 80% ถือเป็นส่วนหนึ่งของจีน ซึ่งก็ทำให้ประเทศต่างๆ ที่มีดินแดนส่วนหนึ่งในทะเลจีนใต้เริ่มไม่พอใจ และเริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านจีน ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม รวมทั้งอินโดนีเซีย ซึ่งไม่ได้มีเขตแดนอยู่ในทะเลจีนใต้

 

 

ในสมัยประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ปี 2013 จีนได้ขยายอาณาเขตเพิ่มหนึ่งจุดไปทางตะวันออกใกล้กับไต้หวัน ซึ่งเท่ากับขยายเป็น Ten-Dash Line ซึ่งความจริงจุดใหม่ที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้อยู่ในทะเลจีนใต้ การขยายอาณาจักรทางทะเลเริ่มทำให้ประเทศอาเซียนที่มีอาณาเขตติดกับจีนซึ่งประกอบด้วยเวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ไม่พอใจและคัดค้าน

 

ยิ่งกว่านั้นประเทศจีนยังมีการถมทะเลขึ้นมาเป็นเกาะและเรียกร้องอธิปไตยบนเกาะดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบกับอธิปไตยของประเทศที่อยู่ในทะเลจีนใต้ จนฟิลิปปินส์ถึงกับมีการฟ้องร้องต่อองค์การสหประชาชาติให้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการ และแม้ว่าคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการจะออกมาในทำนองว่าจีนไม่มีสิทธิ์ในอธิปไตยในทะเลจีนใต้ดังกล่าวก็ตาม แต่จีนก็ไม่ได้สนใจ

 

ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังได้พัฒนาศักยภาพทางกองเรือเพื่อดูแลท้องทะเล โดยเฉพาะทะเลจีนใต้ มาตรการต่างๆ จึงส่งผลทำให้ญี่ปุ่นและตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เริ่มที่จะมองจีนในฐานะภัยคุกคามทางความมั่นคง

 

ในปี 2013 รัฐบาลจีนได้มีการประกาศเขตแดนทางอากาศที่เรียกว่า Air Defense Identification Zone (ADIZ) ซึ่งเป็นขอบเขตทางอากาศที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน

 

การขีดขอบเขตดังกล่าวนั้น บางส่วนก็ไปทับซ้อนกับเขตแดนทางอากาศเหนือเกาะเซ็งกะกุของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเกาะที่เกิดข้อพิพาททางอธิปไตยระหว่างญี่ปุ่นกับจีน โดยจีนเรียกเกาะดังกล่าวว่าเตียวหยู เนื่องจากสหรัฐอเมริกามีสนธิสัญญาความขัดแย้งกับญี่ปุ่น การขีดวงทางอากาศของจีนจึงถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามของจีนที่มีต่อญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา

 

ในปี 2017 รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายว่าด้วย Cyber Security ซึ่งเท่ากับเป็นการพัฒนาจีนให้กลายเป็นมหาอำนาจทาง Cyber Security อีกทางหนึ่ง

 

นอกเหนือจากการใช้มาตรการดังกล่าวในการควบคุมและรักษาความมั่นคงภายในประเทศ 3 มาตรการ ไม่ว่าจะเป็นทางทะเล ทางอากาศ ทางไซเบอร์ ผนวกกับการพัฒนา Belt and Road Initiative ตลอดจนการขยายฐานทัพแห่งแรกของจีนที่จิบุตี ประเทศในแอฟริกาตะวันออก รวมทั้งการขยายบทบาทของจีนทางการเมืองการทหาร จึงเป็นส่วนหนึ่งของการตีความของตะวันตกว่าเป็นการแสดงออกของแนวนโยบายในการขยายแสนยานุภาพทั้งในมิติการค้า เศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง เพื่อที่จะเป็นการล้างแค้นทางประวัติศาสตร์แห่งความละอายใจที่ผ่านมา เพื่อปรับตัวให้จีนสามารถรักษาสถานภาพแห่งความยิ่งใหญ่ดั่งในอดีตที่รู้จักกันว่า ‘จงกั๋ว’ หรืออาณาจักรศูนย์กลางแห่งโลก

 

องค์ประกอบที่เป็นตัวขับเคลื่อนแสนยานุภาพดังกล่าวคือการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง และส่วนหนึ่งของแนวยุทธศาสตร์ ‘ความฝันของจีน’ โดยสีจิ้นผิง คือนโยบายที่เรียกว่า Made in China 2025  

 

กล่าวคือสีจิ้นผิงมองว่าในปี 2025 จีนจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไอที ไบโอเทค หุ่นยนต์ และอื่นๆ ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ นอกเหนือจากด้านเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม วิธีการที่จะได้มาซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ จีนก็ใช้วิธีการบังคับให้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การอุดหนุนทางการค้า การส่งคนไปเรียนในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ได้เทคโนโลยีใหม่ๆ มีการลงทุนแล้วก็ดึงเอาบุคลากรที่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วย

 

มาตรการต่างๆ เหล่านี้เองจึงเป็นที่มาของความไม่พอใจและทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ซึ่งมิได้จำกัดอยู่ในมิติทางการค้าเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมมิติทางเทคโนโลยี และเชื่อมโยงกับมิติทางการเมืองและความมั่นคง ซึ่งเรียกว่ามิติทางภูมิรัฐศาสตร์  

 

สงครามการค้ากับกับดักทูซิดิดิส (Thucydides)

การเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกามาเป็นทรัมป์ในปี 2016 ก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นสงครามการค้าและสงครามแห่งความอยู่รอดทางเทคโนโลยี (Existential Technological War)

 

ทั้งนี้ทรัมป์มีอุดมการณ์ขวาจัดและไม่พอใจจีนมานานแล้ว ทั้งยังประเมินว่าสหรัฐอเมริกายังมีแสนยานุภาพเป็นอันดับหนึ่งของโลกในทางเศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยี อำนาจต่อรองดังกล่าวที่ทรัมป์ประเมินว่าเหนือกว่าจีนจึงกลายเป็นเครื่องมือบีบจีนเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งด้านดุลการค้าและในด้านที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและความมั่นคง

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทรัมป์ยังถูกห้อมล้อมด้วยรัฐมนตรีและที่ปรึกษาประเภทขวาจัดและไม่พอใจประเทศจีน

 

บุคคลดังกล่าวก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ, ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ จอห์น อาร์. โบลตัน, ประธานผู้แทนการค้า USTR ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการเจรจากับจีน โรเบิร์ต ไลธีเซอร์ และที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจอีกคนหนึ่งคือ ปีเตอร์ นาวาร์โร

 

บุคคลเหล่านี้จึงมีส่วนสำคัญในแนวนโยบายบีบจีนในลักษณะรุนแรง บางคนถึงกับพูดว่าการได้บีบจีนให้อ่อนแอลงโดยแลกกับผลกระทบทางลบด้านเศรษฐกิจในระดับหนึ่งก็นับว่าคุ้ม

 

สหรัฐอเมริกาสามารถลดภัยคุกคามได้ในระดับหนึ่ง และด้วยแนวคิดดังกล่าวนี้เอง ใน 2 ปีที่ผ่านมาภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ สหรัฐอเมริกาเปลี่ยนแปลงสถานภาพของรัสเซียและจีนจาก ‘หุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์’ (Strategic Partnership) มาเป็น ‘คู่แข่งเชิงกลยุทธ์’ (Strategic Competitor) กล่าวคือเริ่มมองรัสเซียและจีนว่าเป็นภัยคุกคามอย่างเป็นทางการ

 

ความจริงสงครามในการแย่งชิงความเป็นใหญ่ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในครั้งนี้ นักวิชาการ เกรแฮม อัลลิสัน ได้เคยเขียนไว้ในหนังสือที่เขาแต่งขึ้น โดยตั้งคำถามว่าสหรัฐอเมริกาและจีนจะสามารถหลีกเลี่ยงกับดักทูซิดิดิส (Thucydides) ได้หรือไม่

 

ทูซิดิดิสเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกเมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว ซึ่งได้วิเคราะห์สงครามนครรัฐสปาร์ตากับนครรัฐเอเธนส์ และข้อสรุปก็คือสงครามดังกล่าวนั้นเกิดจากการที่ผู้มีพลังอันดับหนึ่ง ซึ่งในที่นี้หมายถึงนครรัฐสปาร์ตา เมื่อเห็นคู่ท้าชิงเบอร์สองซึ่งมีศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งหมายถึงนครรัฐเอเธนส์ โดยสงครามลักษณะนี้จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าผู้มีอำนาจเบอร์หนึ่งเห็นว่าจะมีเบอร์สองมาแข่ง

 

อัลลิสันจึงได้ศึกษาสงครามที่เกิดขึ้นในโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และพบว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดสงคราม 3-4 กรณีใน 10 กรณี นักวิชาการท่านนี้จึงตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐอเมริกา ณ ขณะนี้เป็นเบอร์หนึ่งที่กำลังถูกเบอร์สองคือจีนท้าทาย จะหลีกเลี่ยงกับดักทูซิดิดิสได้หรือไม่ และจะหลีกเลี่ยงสงครามได้หรือไม่

 

สงครามการค้าและภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนถือเป็นภาพฉายของสิ่งที่เรียกว่ากับดักทูซิดิดิส กล่าวคือเบอร์หนึ่งอย่างสหรัฐอเมริกาต้องหาทางป้องปรามเบอร์สองอย่างจีนไม่ให้ขึ้นมาแข่งกับตนนั่นเอง

 

สงครามการค้า

 

ย้อนรอยสงครามการค้า ศึกชิงมหาอำนาจที่จีนเสียเปรียบ

ทรัมป์ได้เริ่มกระบวนการในการแก้ไขปัญหาดุลการค้ากับทั่วโลก โดยเฉพาะกับจีน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2018 มีการเก็บภาษีนำเข้าทั่วโลกจากสินค้านำเข้า 2 ตัวคือ แผงเซลล์แสงอาทิตย์และเครื่องซักผ้า

 

ในเดือนมีนาคม สหรัฐอเมริกามีการเรียกเก็บภาษีสินค้าที่นำเข้าจากทั่วโลกคือเหล็กและอะลูมิเนียม โดยขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก 25% ขึ้นภาษีนำเข้าอะลูมิเนียม 10%

 

ในเดือนมิถุนายน สหรัฐอเมริกามีมาตรการเล่นงานประเทศจีน โดยมีการขึ้นภาษีสินค้าประเภทต่างๆ เป็นพันชนิดในกรอบของการนำเข้ามูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้แยกมาเป็น 2 ขั้นตอน โดยขั้นตอนที่หนึ่งจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าในกรอบมูลค่า 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และถ้าจีนยังไม่ยอมตกลง สหรัฐอเมริกาจะขยายกรอบวงเงินในการเก็บภาษีนำเข้าเป็น 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งประกาศในเดือนสิงหาคม

 

ส่วนรัฐบาลจีนก็ตอบโต้สหรัฐอเมริกาด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าในกรอบการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกา 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับที่ถูกสหรัฐอเมริกาเล่นงาน

 

ในวันที่ 24 กันยายน สหรัฐอเมริกาได้ประกาศเก็บภาษีในระดับ 10% ของสินค้ากว่า 5 พันประเภท ซึ่งอยู่ในกรอบมูลค่าการนำเข้าจากจีน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และประกาศว่าถ้าจีนยังไม่ยอมหาข้อยุติ จะเพิ่มภาษีนำเข้าเป็น 25% ในวันที่ 1 มกราคม 2019 และถ้ายังไม่ยอมหาข้อยุติก็จะมีการเก็บภาษีนำเข้าในกรอบนำเข้าอีก 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

 

ปรากฏว่าจีนมีการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาในอัตรา 5% และ 10% ในมูลค่าการนำเข้า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาเล่นงานจีนด้วยการขึ้นภาษีการนำเข้าในกรอบมูลค่าการนำเข้ารวม 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (50,000+200,000) ฝ่ายจีนตอบโต้ในกรอบวงเงินการนำเข้าเพียง 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ (50,000+60,000)

 

ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มส่อเค้าอ่อนตัวลง ตลาดหุ้นในสหรัฐอเมริกามีความผันผวนหนัก ทรัมป์จึงได้ปรับท่าทีอ่อนตัวลงโดยการโทรศัพท์ไปหาสีจิ้นผิงเพื่อหาข้อตกลงยุติปัญหาร่วมกัน

 

ในช่วงของการประชุมสุดยอด G20 ต้นเดือนธันวาคม ปี 2018 ที่อาร์เจนตินา ผลของการประชุมดังกล่าวทำให้ทั้งสองประเทศร่วมหาทางเจรจาและยุติปัญหาให้จบภายใน 3 เดือน คือภายในวันที่ 1 มีนาคม 2019

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าเงื่อนเวลา 3 เดือนดังกล่าวน้ีกำหนดโดยทรัมป์ และในขณะที่มีการเจรจาอยู่นั้น สหรัฐอเมริกาก็จะไม่ขึ้นภาษีนำเข้าในกรอบวงเงินนำเข้า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ จาก 10% เป็น 25% ตามที่เคยขู่ไว้ แต่ได้ขู่ต่อว่าถ้าไม่จบภายใน 3 เดือน สหรัฐอเมริกาจะขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25%

 

การเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกามีความก้าวหน้าไปค่อนข้างมาก ดังนั้นแม้จะยังไม่จบในวันที่ 1 มีนาคม 2019 ก็ตาม ทรัมป์ยังผ่อนปรนไม่ขึ้นภาษีการนำเข้าเป็น 25% ตามที่ขู่ไว้

 

ในช่วงระหว่างเดือนเมษายนและต้นเดือนพฤษภาคม ทีมเจรจาของทั้งสองฝ่ายคือสหรัฐอเมริกาและจีนก็ใกล้ถึงข้อยุติมากขึ้น ทรัมป์ถึงกับออกข่าวในทำนองว่าอาจมีการลงนามข้อตกลงกับสีจิ้นผิงในเวลาอันใกล้

 

แต่สิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายตกใจและแปลกใจก็คือทรัมป์ได้ประกาศว่า ตั้งแต่เที่ยงวันของวันที่ 10 พฤษภาคมเป็นต้นไป สหรัฐอเมริกาจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าเป็น 25% ในกรอบมูลค่านำเข้า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ตามที่มีการขู่ไว้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

 

การที่ทรัมป์เล่นงานจีนด้วยการขึ้นภาษีเป็น 25% ครั้งล่าสุดนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ทรัมป์เห็นว่าทางฝ่ายจีนไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงทางวาจาเดิมที่ว่าจีนจะออกกฎหมายในเรื่องการเคารพสิทธิทางปัญญา จะไม่มีการบังคับทางด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และจะแก้ไขประเด็นเรื่องของการอุดหนุน โดยเปลี่ยนมาเป็นการแก้ไขกฎระเบียบ ซึ่งทางสหรัฐอเมริกามองว่ามีผลในทางปฏิบัติน้อยกว่าการออกในรูปกฎหมาย

 

ประกอบกับในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาได้ฟื้นตัวขึ้นมา โดยขยายตัว 0.8 ซึ่งคิดทั้งปีคือ 3.2%

 

ในขณะเดียวกัน ท่าทีของทรัมป์ก็ได้รับการยอมรับทั้งจากคนอเมริกัน พรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ซึ่งทรัมป์เห็นว่าการยืนยันท่าทีแข็งกร้าวดังกล่าวเป็น ‘กำไรทางการเมือง’ (Political Gain) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเขาในการเลือกตั้งปี 2020

 

อีกทั้งมองว่าแม้เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวได้ 6.4% แต่ก็เป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 30 ปี นอกจากนั้นการขยายตัวของจีนยังเป็นผลจากการใช้มาตรการกระตุ้นทางการเงินและการคลังอย่างเข้มข้น ซึ่งจะเพิ่มประเด็นปัญหาให้กับจีนในด้านของหนี้สาธารณะและหนี้เอกชน ซึ่งขณะนี้สูงถึง 260% ของจีดีพี

 

 

ในช่วงไม่กี่วันต่อมา ทรัมป์ก็เล่นงานจีนด้วยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและขึ้นบัญชีดำกับบริษัท Huawei ซึ่งทำให้บริษัทของสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะ Google หยุดให้บริการแอนดรอยด์กับ Huawei และ Qualcomm ก็หยุดขายสารกึ่งตัวนำให้กับ Huawei

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 วันต่อมาทรัมป์ก็ประกาศชะลอการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน และประกาศในทำนองว่ากรณี Huawei เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา

 

นอกจากนั้นสหรัฐอเมริกายังมีการเล่นงานบริษัทที่ผลิตโดรนและเครื่องมือที่ใช้ในการควบคุมประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มอุยกูร์ โดยกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

ท่ามกลางแรงกดดันที่มีมาเป็นระลอกของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อจีนภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ จะเห็นว่าจีนมีการตอบโต้ในขอบเขตที่จำกัด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะคลังแสงของมาตรการในการตอบโต้กับสหรัฐอเมริกามีน้อย และแต่ละมาตรการ ถ้าจะเล่นงานก็จะมีผลกระทบต่อจีนด้วย เช่น ถ้าจะเล่นงานด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ตลาดการเงินก็จะปั่นป่วน และถ้าค่าเงินดอลลาร์ลดลง เงินสำรองดอลลาร์ของจีนก็จะลดค่าในการแลกเปลี่ยนลงด้วย

 

อีกทั้งจีนไม่สามารถหาตลาดทางการเงินที่มีขนาดใหญ่ที่จะมารองรับการลงทุนจากสภาพคล่องที่จีนมีอยู่มากมาย อีกทั้งผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จีนซื้อไว้ก็มีระดับสูงกว่าพันธบัตรของประเทศอื่น คือผลตอบแทนสูงกว่า 2% ในขณะที่พันธบัตรของญี่ปุ่นและเยอรมนีมีผลตอบแทนติดลบด้วยซ้ำ

 

ถ้าจีนเล่นงานตอบโต้สหรัฐอเมริกาโดยการปิดกั้นหรือชะลอการลงทุน จีนซึ่งมีอัตราการเติบโตต่ำอยู่แล้ว แถมยังมีปัญหาเรื่องการส่งออก จึงต้องพึ่งพาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ และสหรัฐอเมริกาก็มีบทบาทสำคัญในการลงทุนในจีนในฐานะที่เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งจีนยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากตะวันตก

 

ทางออกอีกทางหนึ่งที่จีนจะตอบโต้กับสหรัฐอเมริกาได้ก็คือการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าในกรอบวงเงิน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้เพราะปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกที่สหรัฐอเมริกาส่งไปจีนคือ 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อจีนตอบโต้ไปแล้ว 1.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้นจึงเหลือมูลค่าการนำเข้าที่จีนตอบโต้ได้เพียง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง

 

อย่างไรก็ตาม การตอบโต้หนึ่งในนั้นก็คือการปลุกเร้าชาตินิยม ซึ่งส่งผลให้มีการซื้อสินค้าจากสหรัฐอเมริกาน้อยลง เช่น ไอโฟน และถือเป็นมาตรการในการเพิ่มต้นทุนให้กับสหรัฐอเมริกา

 

อีกประการหนึ่ง จีนก็กำลังสื่อสารในทำนองว่าถ้ามีการเล่นงานหนักกว่านี้ จีนจะตอบโต้ในเรื่องของการส่งออกแร่หายาก (Rare earth) ซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ของตะวันตกแน่นอน การเล่นงานในลักษณะนี้จะทำให้สงครามบานปลายขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมกระทบกับตะวันตก แต่ก็จะกระทบกับจีนในระดับที่รุนแรงขึ้นด้วย การตอบโต้ของจีนที่มีต่อสหรัฐอเมริกาจึงอยู่ในลักษณะจำกัด ซึ่งถือเป็นการรับมือมากกว่า

 

สงครามการค้า

 

สงครามยืดเยื้อ ทั้งสองฝ่ายมีแต่เสียกับเสีย

สงครามการค้าและสงครามแห่งความอยู่รอดของทั้งสองฝ่ายนี้ ถ้ายืดเยื้อและรุนแรงไปอีกระดับหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งจีน สหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ ทั่วโลก

 

ขณะนี้สหรัฐอเมริกาก็มีต้นทุนที่เกิดจากการทำสงครามครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของธุรกิจจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจทางด้านไอที ชาวไร่ชาวนาที่ส่งออกก็ถูกกระทบ สินค้าอุปโภคบริโภคราคาสูงขึ้น แม้เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังดูเข้มแข็งอยู่ในไตรมาสแรกก็ตาม

 

เป็นที่คาดกันว่าการยืดเยื้อของสงครามจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวลดลง และคงจะเห็นเด่นชัดยิ่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

 

สหรัฐอเมริกาและจีนต่างก็ตระหนักว่าการทำสงครามครั้งนี้ ถ้ายืดเยื้อจะเข้าสู่ ‘ทฤษฎีเกมลบ’ (Negative-sum Game) ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องการหลีกเลี่ยง

 

ดังนั้นอาจจะสรุปได้ว่าถึงจุดหนึ่งสหรัฐอเมริกาและจีนต่างจำเป็นที่จะต้องหาข้อยุติเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาดังกล่าว สิ่งที่สหรัฐอเมริกาทำกับจีน สหรัฐอเมริกาตระหนักได้ว่าไม่สามารถที่จะทำให้ตนเป็นผู้ชนะฝ่ายเดียว และจีนเป็นผู้แพ้ตามทฤษฎีเกมศูนย์ (Zero-sum Game)

 

ดังนั้นสิ่งที่สหรัฐอเมริกากำลังกดดันจีนอยู่นั้นเพื่อที่จะไปสู่จุดวิน-วิน โดยสหรัฐอเมริกาได้วินมากกว่าจีน เพราะอำนาจต่อรองสูงกว่า แรงกดดันที่สหรัฐอเมริกาทำอยู่ขณะนี้จึงอาศัยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เป็นต่อเพื่อที่จะได้มาซึ่งวินที่มากกว่านั่นเอง

 

จะเห็นได้ว่าภายใต้แรงกดดันของสงคราม ทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนต่างก็พยายามหาทางไปสู่การเจรจา และถ้าเร็วหน่อย การพบกันระหว่างทรัมป์กับสีจิ้นผิงในการประชุมสุดยอด G20 ปลายเดือนมิถุนายนนี้ ณ โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น อาจจะได้แนวทางหรือหลักการที่จะนำไปสู่ข้อยุติในช่วงครึ่งปีหลัง

 

แต่ถ้าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกายังเป็นต่อโดยที่จีนยังไม่ยอม สถานการณ์อาจยืดเยื้อไปสู่ปีหน้า

 

โดยสรุป ข้อขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่สงครามการค้า แต่เป็นสงครามแห่งความอยู่รอดทางเทคโนโลยี หรือสงครามที่ครอบคลุมมิติเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง หรือที่เรียกรวมกันว่า ‘สงครามภูมิรัฐศาสตร์’ นั่นเอง

 

ภาพเปิด: tuckktuck

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X