กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ออกแถลงการณ์บนเว็บไซต์ เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการคุกคาม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และยุติการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายพรรคการเมืองที่ต่อต้านทหารในสภานิติบัญญัติ
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ธนาธรระงับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีที่ธนาธรถือหุ้นวี-ลัค มีเดีย ซึ่งเป็นบริษัทสื่อ ก่อนที่เขาจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และถูกร้องเรียนว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในเวลาต่อมา
ชาร์ลส์ ซานติอาโก ประธานกลุ่ม APHR และสมาชิกรัฐสภามาเลเซีย ระบุในแถลงการณ์ว่า “การที่ทางการไทยดำเนินคดีอาญาที่กุขึ้นกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และบุคคลอื่นๆ ที่ต่อต้านทหาร ถือเป็นความพยายามทำลายผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลทหาร” พร้อมเรียกร้องให้ถอนทุกข้อกล่าวหาที่มีต่อสมาชิกรัฐสภา นักข่าว นักเคลื่อนไหว และคนอื่นๆ ที่แสดงความคิดเห็นอย่างสันติโดยทันที
แถลงการณ์ระบุว่าสมาชิกรัฐสภาในภูมิภาคอาเซียนต่างมีความกังวลว่ารัฐบาลทหารได้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ซึ่งครอบคลุมถึง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และการตั้งข้อหาปลุกปั่นเพื่อปิดปากนักวิจารณ์ หลังจากที่กองทัพรัฐประหารยึดอำนาจในปี 2014 โดยคดีปลุกปั่นก่อความไม่สงบถูกนำเข้ามาพิจารณาในศาลทหาร ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล
เท็ดดี้ บากุยแลต สมาชิกกลุ่ม APHR และสมาชิกรัฐสภาฟิลิปปินส์ กล่าวว่า “ภายใต้บริบทของคดีฟ้องร้องธนาธรจำนวนมากที่ถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมืองนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไทยถูกจับตาว่าจะพยายามปิดปากผู้ที่วิจารณ์รัฐบาลทหารอีกครั้งหรือไม่ ซึ่งสำหรับคนไทยที่ยึดมั่นในกระบวนการประชาธิปไตยของประเทศแล้ว ทางการไทยจะต้องแสดงให้เห็นว่าพวกเขาเคารพต่อผลการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านพ้นไป นั่นคือการอนุญาตให้ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามามีส่วนร่วมในสภา ไม่ว่าจะชอบความเห็นของพวกเขาหรือไม่ก็ตาม”
ขณะที่ อีวา ซุนดารี สมาชิกรัฐสภาอินโดนีเซียและหนึ่งในกรรมการ APHR แสดงความเห็นว่า “สมาชิกรัฐสภาสามารถแสดงบทบาทสำคัญในการปกป้องและธำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาไม่ถูกขัดขวางหรือจำกัดขอบเขต มันเป็นเรื่องยุ่งยากที่รัฐบาลทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พยายามบ่อนทำลายนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วยการข่มขู่ คุกคาม และตั้งข้อหาคดีอาญากับพวกเขา”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: