×

สมโภชน์ พลังงานบริสุทธิ์ อีลอน มัสก์เมืองไทย กับแนวคิดพาธุรกิจพลังงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

24.05.2019
  • LOADING...
Somphot Ahunai

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นธุรกิจพลังงานทางเลือกด้วยแนวคิดที่ว่า ประเทศไทยต้องหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง และมีนวัตกรรม + เทคโนโลยีเป็นของตัวเอง
  • จากปาล์มและไบโอดีเซล ต่อยอดสู่พลังงานทางเลือก ธุรกิจแบตเตอรี่ รถยนต์ และเรือพลังงานไฟฟ้า ไปจนถึงพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในอนาคตแบบ P2P ขึ้นมาเอง
  • แนวคิดง่ายๆ ของการบุกเบิกโอเอซิสด้านพลังงานทางเลือกคือ ต้องเป็นมากกว่าแค่ผู้ผลิต แต่ต้องทำธุรกิจให้ได้ครบวงจรทั้งระบบ รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ พัฒนาและปรับตัวอยู่เสมอ

หลายปีที่ผ่านมา ‘พลังงานสะอาด’ พลังงานทางเลือกกลายเป็นเรื่องในความสนใจที่ทุกประเทศทั่วโลกหยิบขึ้นมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่เพราะผลพวงจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสการเป็นผู้นำธุรกิจที่จะมีมูลค่ามหาศาลในอนาคต

 

จากจุดเริ่มต้นของการมองเห็นปัญหาของประเทศไทยว่าเป็นได้แค่ผู้ซื้อเทคโนโลยีมากกว่าผลิตขึ้นมาเอง ติดกับดักรายได้ปานกลาง แรงงานแก่ตัว สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (Energy Absolute: EA) จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยควรจะต้องเริ่มสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นของตัวเอง

 

“การซื้อมาขายไปไม่ได้ช่วยให้สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมา

 

“ยุคต่อไปของประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ยุคนวัตกรรม ถ้าไม่มีนวัตกรรมก็จะไม่มีทางอยู่รอดในโลกที่มีการแข่งขันสูง ไทยไม่ได้มีทรัพยากรเหมือนเก่า สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนไปคือต้องสร้างนวัตกรรมของตัวเองขึ้นมา เพื่อต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจ”

 

Somphot Ahunai

 

สมโภชน์เล่าให้เห็นภาพใหญ่บนเวทีงานสัมมนา Game Changer Part II ที่จัดขึ้นโดยประชาชาติธุรกิจว่า พลังงานบริสุทธิ์เริ่มกิจการขึ้นเมื่อปี 2551 ด้วยธุรกิจไบโอดีเซล เพราะสมัยนั้นประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมให้นำวัตถุดิบภายในประเทศมาใช้แทนการนำเข้า ปาล์มและไบโอดีเซลจึงกลายเป็นทั้งคำตอบและจุดเริ่มต้นในธุรกิจพลังงานของ EA ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

 

ในปี 2554 EA ขยายพอร์ตโฟลิโอของตัวเองด้วยการเข้าไปบุกตลาดฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ ตามมาด้วยในปี 2558 ที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจฟาร์มพลังงานลม เริ่มสะสมจิ๊กซอว์ธุรกิจพลังงานทางเลือกของตัวเองขึ้นมาทีละเล็กละน้อย

 

ปัจจุบัน EA ได้ต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร เล่นใหญ่จากไบโอดีเซลด้วยกระบวนการทางโอลีโอเคมี (Oleochemicals) พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมา 2 อย่าง ประกอบด้วย

 

  • กรีนดีเซล: น้ำมันดีเซลสังเคราะห์ที่เกิดจากพืช ซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนน้ำมันดีเซล 100% จึงไม่มีข้อจำกัดในการนำไปใช้กับยวดยานพาหนะต่างๆ และได้ไปจดลิขสิทธิ์ทั่วโลกแล้ว โดย EA ถือเป็นผู้ผลิตรายที่ 3 เท่านั้นที่สามารถพัฒนาดีเซลประเภทนี้ขึ้นมาได้ (กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานที่ผลิตน้ำมันได้ 130 ตัน/วัน คาดว่าจะเสร็จสิ้นปีนี้)

 

  • PCM (Phase-change material): สารเก็บความร้อน ซึ่ง EA เป็นบริษัทแรกในโลกที่สามารถผลิตสารชนิดนี้ขึ้นมาจากพืช คุณสมบัติคือสามารถดูดความร้อนในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง แล้วคายออกมาใช้งานต่อเมื่อจำเป็น ประโยชน์ที่จะถูกนำไปใช้คือ ตอนนี้ในประเทศญี่ปุ่นได้นำไปใช้กับวัสดุก่อสร้างเพื่อลดการใช้พลังงานในครัวเรือนแล้ว

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือ สมมติตอนกลางวันอากาศร้อน PCM จะดูดความร้อนทั้งหมดเข้าไป แล้วคายออกมาเป็นฮีตเตอร์ในตอนกลางคืนแทน

 

“พลังงานในโลกอนาคตกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เราเริ่มมีพลังงานทดแทนใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น” สมโภชน์บอกชัด พร้อมย้ำว่า ในอนาคตจะมีการพูดถึง ‘Decarbonized’ และ ‘Decentralized’ มากขึ้น

 

คำแรก Decarbonized คือกระบวนการผลิตพลังงานสะอาดขึ้นมาโดยเลี่ยงการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยที่สุด ส่วน Decentralized หมายถึงการกระจายพลังงานทางเลือกด้วยวิธีใหม่ๆ เมื่อรวมกันแล้วจึงนำไปสู่ ‘Smart Energy System’ ระบบจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพและฉลาด เพราะเห็นถึงจังหวะขยับที่สำคัญของอุตสาหกรรมและธุรกิจพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ยุทธศาสตร์ของ EA คือ มองให้ออกว่าอะไรกำลังจะเปลี่ยน พวกเขาควรจะเข้าไปยืนอยู่ ณ จุดใด ที่จะทำให้บริษัทเติบโตทางธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน และแล้วคำตอบที่สมโภชน์และ EA ได้รับก็คือ ‘แบตเตอรี่’ เพราะความแตกต่างระหว่างพลังงานฟอสซิลแบบเดิมๆ และพลังงานทางเลือก คือพลังงานทางเลือกมาจากธรรมชาติ ผู้ผลิตจึงไม่สามารถควบคุมปัจจัยภัยนอกเพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงานในเวลาที่ต้องการจะใช้

 

แบตเตอรี่จึงเปรียบได้ดั่งเกมเชนเจอร์สำคัญในธุรกิจพลังงานทางเลือกของ EA โดยที่พวกเขาได้เริ่มพัฒนาโรงงานแบตเตอรีขนาด 1 GWh ขึ้นมา พร้อมตั้งเป้าไว้ว่า ในอนาคตข้างหน้าจะต้องขยายขึ้นไปเป็นขนาด 50 GWh ให้ได้ภายในปี 2021 ซึ่งถ้าสำเร็จก็จะกลายเป็นหนึ่งในโรงงานแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกทันที

 

แล้วการเป็นผู้นำในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ของ EA จะขยายไปสู่การดำเนินธุรกิจอะไรได้อีก?

 

  • Energy Storage: เพื่อลดต้นทุนการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า เนื่องจากประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการซื้อพลังงานไฟฟ้าที่สูงมาก ทั้งๆ ที่เราไม่ได้มีช่วงเวลาพีกของการใช้พลังงานต่อเนื่องทั้ง 24 ชั่วโมง การเข้ามาของ Energy Storage จะช่วยให้ประเทศประหยัดได้ด้วยการกักเก็บพลังงานในช่วงเวลาที่ค่าไฟมีราคาถูก แล้วนำออกมาจ่ายในช่วงพีกไทม์

 

Somphot Ahunai

 

  • รถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV: EA เริ่มพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าฝีมือคนไทย ภายใต้แบรนด์ MINE Mobility มาตั้งแต่ปี 2018 และคาดการณ์กันว่าภายในปี 2019 นี้เราน่าจะได้เห็นรถ EV ของพวกเขาออกวิ่งตามถนนกันแล้ว

 

  • เรือเฟอร์รีไฟฟ้า E-Ferry: เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ, แหล่งน้ำ และเสียง เพราเรือมีประสิทธิภาพการใช้งานพลังงานต่ำกว่าพาหนะอื่นๆ เมื่อเปลี่ยนเรือปกติเป็นเรือไฟฟ้าได้ จึงมีประสิทธิภาพการทำงานที่สูงกว่า

 

ตั้งเป้าพัฒนาพร้อมให้บริการจริงในปีนี้จำนวน 20 ลำ ในระยะทาง 20 กิโลเมตร จากท่าน้ำนนทบุรีไปยังท่าน้ำวัดราชสิงขร ลำหนึ่งสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้สูงถึง 200 คน ใช้แบตเตอรี่เพียง 800 KWh ก่อนจะผลิตอีก 34 ลำในปี 2020 รวมเป็น 54 ลำ ด้วยงบลงทุน 1 พันล้านบาทเท่านั้น

 

Somphot Ahunai

 

  • สถานีชาร์จประจุไฟฟ้า EA Anywhere: ติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า 1,000 แห่ง (600 สถานีในกรุงเทพฯ และปริมณฑล) เพื่อให้ครอบคลุมในทุกๆ ระยะทาง 5 กิโลเมตร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานที่อยากจะเปลี่ยนจากรถเชื้อเพลิงฟอสซิลไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ภายใต้การทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ศูนย์การค้า โครงการอสังหาฯ ทั่วประเทศ

 

  • Multidimensional Energy Trading Platform: แพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานในอนาคต ซึ่งต่างจากผู้พัฒนาเจ้าอื่นๆ ตรงที่เป็นระบบ P2P ซื้อขายระหว่างบุคคลกันเองได้ ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ จะช่วยให้เห็นข้อมูลการอุปโภค ดีมานด์-ซัพพลาย พลังงานไฟฟ้าของประเทศได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจัดการวางแผนการใช้พลังงานไฟฟ้า บริหารงานโรงไฟฟ้า   

 

“การเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้มันเปลี่ยนไปเร็วมาก ถ้าคิดเหมือนเดิมก็จะไม่ทัน มองจาก Inside Out เริ่มจากข้างในประเทศกลับออกไปข้างนอกไม่ได้แล้ว แต่ต้องเป็น Outside In มองให้เห็นจากข้างนอกกลับเข้ามาข้างใน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจ”

 

นี่คือโอกาสที่สมโภชน์และ EA มองเห็น พร้อมสร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเอง โอกาสสู่การบุกเบิกโอเอซิสด้านพลังงานทางเลือกที่มากกว่าแค่การเป็นผู้ผลิต แต่ต้องทำธุรกิจให้ได้ครบวงจรทั้งระบบ รู้เท่าทันโลกาภิวัตน์ พัฒนาและปรับตัวเสมอ ที่สำคัญตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีขึ้นมาด้วยความสามารถและพละกำลังของตัวเอง ไม่ใช่การซื้อมาขายไปแบบในอดีต

 

“อย่ากลัวว่ามันจะเป็นสิ่งใหม่ คุณต้องกล้าทำอะไรที่ใหม่ ถ้าอยากว่ายน้ำเป็น คุณต้องโดดลงไป ไม่ใช่ยืนดูแล้วพูดว่าจะว่ายน้ำเป็น”

 

Somphot Ahunai

 

ภาพประกอบ: Sradarit

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising