“เราเลือกสถานที่ที่เราชอบ แล้วสถานที่ที่เราชอบก็เลือกเรา” แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ คือช่างภาพชายฝีมือดีที่บันทึกภาพ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากหลากหลายสถานที่ในระหว่างการเดินทางของชีวิต บางสถานที่ผูกพัน และบางสถานที่ก็รู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่าง ‘ระหว่างกัน’
และถ้าคุณเชื่อว่า ภาพถ่ายนั้นสะท้อนถึงตัวตนและวิถีคิดของผู้เก็บบันทึก การได้เดินดูภาพถ่ายของเขาไปพร้อมๆ กับแลกเปลี่ยนทัศนะที่มีต่อภาพถ่ายนั้นๆ ระหว่างกัน ก็ทำให้เราได้เข้าใจถึง ‘มุมมอง’ ของช่างภาพที่มีต่อสถานที่ บรรยากาศ และช่วงเวลา ณ ขณะนั้นด้วยเช่นกัน
นิทรรศการภาพ ‘Sense of Place’ ภาพจัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 16 มิถุนายน 2562 ที่ Leica Gallery Bangkok ชั้น 2 ศูนย์การค้าเกษร วิลเลจ ราชประสงค์ เปิดทำการทุกวันตั้งแต่ 10.00-20.00 น.
The Eyes / Bangkok, Thailand (2017)
รูปนี้จะมองว่ามันเป็นการเมืองก็ได้ หรือจะมองว่ามันเป็นเมืองในอนาคตที่มีความโมเดิร์น ถ้าเราเขยิบองศาลงมา เราจะมองเห็นตึกรามต่างๆ รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่ภาพนี้คือการลดทอนบางอย่าง เพราะคอนเทนต์ที่ผมเลือกคือการจะมองว่า มันคือดวงตาก็ได้ ดวงตาที่เราทุกคนมองเห็นประชาธิปไตย เพียงแต่อาจจะในมุมมองที่ต่างกัน
The Spine / Bangkok, Thailand (2017)
ทุกๆ ประเทศมีกฎหมายของมันอยู่แล้ว แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทยถูกร่าง ถูกปรับเปลี่ยนเยอะไปหน่อย ภาพนี้เลย Represent ที่สื่อไปถึงโครงสร้างร่างกายคน รัฐธรรมนูญของประเทศก็เหมือนกระดูกสันหลังของร่างกาย ถ้ามีความแข็งแรงก็สามารถทำให้ประเทศแข็งแรงและเดินไปในทิศทางที่ดี ถูกจุดหมายได้รวดเร็วขึ้น เช่นกัน ถ้าประเทศป่วย กระเสาะกระแสะ เราก็พังกันทั้งประเทศ
หรืออีกแง่ จะมองว่า ภาพนี้สื่อถึงผ้าม่านที่กำลังคลุมทับตัวอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอยู่ก็ได้ บางคนอาจจะมองว่าประชาธิปไตยคือของเก่าที่ถูกคลุมทับไว้ หรือมองว่าคือของใหม่ที่กำลังจะถูกเปิดขึ้นก็ได้ แล้วแต่คนจะมองเลย
Human Ride I / Washington, D.C., USA (2018)
ผมชอบแกนกลางของภาพนี้ ชอบ Point of View ของมัน สเกลของคนที่บ่งบอกว่า สถาปัตยกรรมหรือเมืองๆ นั้นมีความกว้างใหญ่ไพศาลเพียงใด
ผมนั่งพักอยู่ที่จุดแวะพักชมวิวนี้อยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เห็นว่าตรงนี้มันมีเงาสะท้อนในน้ำที่สวยมาก แล้วจังหวะหนึ่งที่มีคนขี่จักรยานเข้ามาตรงส่วนที่มันควรจะอยู่ มาเติมเต็มภาพ
Soldier of Fortune / Bangkok, Thailand (2018)
สำหรับคนบางคน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิอาจไม่ได้มีความสำคัญสำหรับเขาในแง่ประวัติศาสตร์ แต่มองเป็นที่ต่อรถกลับบ้าน หรือไปในจุดหมายสักแห่ง
เราเลือกภาพอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพราะมันคือหนึ่งในสถานที่ที่เราผ่านบ่อย แล้วการที่เราไปถ่าย เพราะเราต้องการเป็นตัวแทนบางอย่าง เป็นกระบอกเสียงของบางอย่างในสังคม ผ่านสิ่งที่มีอยู่ เพื่อสะท้อนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม
เรามองเรื่อง CCTV เป็นการเกี่ยวเนื่องกับการถูกเฝ้ามอง แถมว่าฉันจับจ้องคุณอยู่นะ ทหารหรือเจ้าหน้าที่รัฐกำลังเฝ้ามองดูประชาชนอยู่ แต่ในวันที่เราพิมพ์ภาพนี้ออกมา เรามองว่า ตอนนี้ประชาชนเองก็กำลังจับจ้องและเฝ้ามองพวกเขาอยู่ด้วยเหมือนกัน
Angel / Paris, France (2019)
ผมไปฝรั่งเศสครั้งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีล่าสุด ไปในช่วงที่ประเทศเขากำลังมีความรุนแรงพอดี ถ้าให้ผมจินตนาการ กิ่งก้านของต้นไม้เหล่านี้ ภาพนี้มองแล้วเรารู้สึกถึงความหวัง เหมือนกำลังเฝ้ารอความหวังอะไรบางอย่างของนางฟ้า แล้วสถานที่นี้คือสถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส มีการกิโยตินอยู่ตรงนี้ ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผมโฟกัสในภาพนี้คือ รายชื่อที่ถูกสลักไว้ตรงฐาน
Black Swan / Nakhon Ratchasima, Thailand (2017)
รูปนี้อยู่ในคอมโพสิชันที่สวย เหมือนจะเป็นภาพลวงตา มองเผินๆ อาจจะไม่เห็นหงส์ เพราะมีความเป็นสีเดียวกับน้ำ แต่สิ่งนี้คือสิ่งที่เราชอบ มีความแอบซ้ำอะไรบางอย่างอยู่ในรูป เราอยากให้คนตั้งใจมอง เพราะถ้ามองผ่านๆ อาจจะไม่เห็นหงส์
Human Ride II / Ahmedabad, India (2018)
สถานที่นี้คือมหาวิทยาลัยในเมืองอาเมดาบัด ประเทศอินเดีย (Indian Institute of Management) เราไปกับกลุ่มรุ่นน้องที่เป็นสถาปนิกทั้งหมด ไปเพื่อดูสถานที่นี้เป็นหลัก เป็นทริปไปดูงานทางสถาปัตย์ฯ ตึกนี้เป็นงานของ หลุยส์ คาห์น สถาปนิกระดับตำนานของโลก ซึ่งเขาไปสร้างงานไว้ที่อินเดียเยอะมาก
ภาพนี้เราถ่ายมาเพราะอยากให้เห็นสเกลคน เหมือนเป็นการนำคนมาตั้งคำถามว่า สถานที่นั้นน่าจะเป็นที่ไหน อาจจะเป็นที่อินเดีย บังกลาเทศ หรือปากีสถาน เมื่อมองจากบุคลิกของจักรยาน บุคลิกของคน
Crane Game / Nagoya, Japan (2017)
ภาพนี้ถ้ามองในเชิงเทคโนโลยี ผมรู้สึกว่า ญี่ปุ่นคือประเทศที่ผลิตเกมเยอะที่สุด ผมก็เลยเอาเรื่องของพวกกาชาปอง เกมคีบตุ๊กตา แต่พอเอามาอยู่ในไซส์ที่เป็นคนจริงๆ มันได้เห็นว่าสเกลหนึ่งต่อหนึ่งมันคืออะไร
A Walk in the Clouds / Nagoya, Japan (2017)
มันเป็นความโชคดีที่เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น เป็นช่วงที่หิมะกำลังตกหนาแน่น เพราะที่ผ่านมาหิมะในเมืองนี้จะตกน้อย เป็นโชคดีอีกที่เราได้ไปในตอนนั้น และเป็นโชคดีอีกที่เครื่องบินลำนี้เป็นสีโทนเดียวกับท้องฟ้าและตัวพื้นที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ จนเหมือนว่าชายในภาพกำลังเดินอยู่บนสวรรค์ นอกจากนี้ในภาพยังมีรายละเอียดที่บอกเล่าถึงเส้นทางการเดิน ซึ่งผมเชื่อว่า น่าจะเป็นกฎบางอย่างของเจ้าหน้าที่สนามบินที่ทำให้เขาต้องเดินอ้อมในลักษณะนี้เพื่ออะไร
Golden Flash / Bangkok, Thailand (2017)
ผมถ่ายรูปภูเขาทองในวันลอยกระทง รูปนี้ผมต้องการสื่อสารเรื่องความเชื่อของคนไทย พูดเรื่องคัลเจอร์ของบ้านเราที่มีมาช้านาน ความทุกๆ ศาสนาล้วนแต่มีความเชื่อของตัวเอง แต่ผมมองว่า คนไทยยังเชื่อในปฏิหาริย์ เชื่อในสัญญาณอะไรบางอย่างที่ส่งมาถึงมนุษย์ ซึ่งด้วยเอฟเฟกต์ของกล้อง เอฟเฟกต์ของเลนส์ ภาพนี้เหมือนกับว่า คำอธิษฐานบางอย่างของมนุษย์ได้รับการตอบรับ
Painting on the Wool / Bangkok, Thailand (2018)
ถ้ายืนมองภาพนี้ตรงๆ ผมรู้สึกว่า มันเป็นภาพลวงตาเหมือนกัน หมายถึงเราอาจจะเห็นแค่ลายผ้า อาจจะไม่เห็นว่ามีคนซ้อนอยู่ข้างใน แต่พอมองภาพนี้จากคนละองศา เราจะเริ่มเห็นเค้าโครงของคน
ผมถ่ายเมื่อวันเกิดปีที่ผ่านมา ซึ่งเพื่อนสนิทของผมแต่งงาน เขาให้ผมไปช่วยบันทึกภาพในรูปแบบของผม เราเลยเลือกรูปนี้มาจัดแสดง เพราะเรารู้ว่างานในวันนั้นเขาหล่อที่สุดในงาน แต่ขณะเดียวกัน ในรูปนี้เราก็ไม่ต้องการให้ใครมามองเห็นเขา แต่มึงคือคนที่อยู่ในรูป แค่นั้นคือพอแล้ว
Peek-A-Boo / Samut Songkhram, Thailand (2018)
ที่มาของภาพนี้ ผมไปถ่ายภาพให้ ททท. ที่ตลาดร่มหุบ จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งตลาดร่มหุบสำหรับผมก็กลายเป็นว่าไม่ติดร่มเลยสักภาพ ผมก็เลยถ่ายสิ่งที่ผมชอบในชีวิตก็คือแมวและกราฟิก ซึ่งภาพนี้เราใช้แฟลชเข้ามาช่วยขับสีสันบางอย่าง ความจริงแล้วช่างภาพฝรั่งเข้ามาบ้านเราเพราะคู่สีบางอย่างที่ต่างประเทศเขาไม่ใช้ เขาก็เลยเข้ามาหาวัตถุดิบต่างๆ ในบ้านเรา ฉะนั้น เราก็ควรภูมิใจในสิ่งที่บ้านเรามี และอีกอย่าง แมวมักเป็นสิ่งสุดท้ายที่ผมจะมองเห็นในภาพนี้ ก็เลยเหมือนเป็นการเล่นซ่อนแอบกับคนมอง
Charoenkrung Express / Bangkok, Thailand (2018)
ผมเป็นหนึ่งคนที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาพยนตร์ของ หว่องกาไว (ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฮ่องกง) คนในยุคเราหนีไม่พ้นสิ่งที่เป็นเทรนด์ ซึ่งถ้าคนที่ไม่อินกับสไตล์นี้ก็อาจจะไม่ชอบ แต่เราดันเป็นคนที่อิน อย่างสมัยเรียน หลายคนชอบแซวว่า เราเป็นคนชอบเสพความเศร้า ชอบทำตัวแบบหว่องๆ แต่เราก็ไม่ได้ไปตอบโต้อะไร แล้วแต่คนจะมองแล้วกัน แล้วพอครั้งหนึ่งเราเคยได้รับอิทธิพลจากตรงนั้นมา เราก็ควรจะรีเทิร์นไปหาในสิ่งที่เราเคยชื่นชอบ
หนังเรื่องที่ผมชอบมากก็คือ Chungking Express ถ้าอย่างนั้นเราจะบอกเล่าถึงกรุงเทพฯ อย่างไรในรูปแบบเรา เพราะจริงๆ ภาพนี้เขาให้เราหันไปมองสิ่งรอบข้างในขณะที่รถติด มันก็จะเจอฟีลแบบนี้แหละ เพียงแต่เราไม่ค่อยได้หยิบกล้องขึ้นมาถ่าย อีกอย่าง Express หมายถึงความรวดเร็ว สะดวกสบาย แต่สิ่งที่ขัดแย้งกับความจริงที่เกิดขึ้นกับสภาพเมืองในปัจจุบันนี้ก็คือรถติดฉิบหาย ผมก็เลยมองว่า นี่คือเจริญกรุงเอ็กซ์เพรสของเรา
แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์
ช่างภาพชายฝีมือดีที่มีมุมมองด้านภาพลึกซึ้งและน่าสนใจ อดีตบรรณาธิการภาพของ The Momentum และสำนักข่าว THE STANDARD อีกทั้งยังเคยรับหน้าที่เป็นช่างภาพประจำตัว อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ทำให้ THE STANDARD คิดว่าการได้เดินดูผลงานภาพถ่ายของเขาไปพร้อมๆ กับแลกเปลี่ยนทัศนะที่เขามีทั้งชีวิตและผลงานนั้น จะทำให้เราได้รู้จักตัวตนในฐานะช่างภาพมืออาชีพของเขาได้ลึกยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
Sense of Place จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ถึง 16 มิถุนายน 2562 ที่ Leica Gallery Bangkok ชั้น 2 ศูนย์การค้าเกษร วิลเลจ ราชประสงค์ เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.
แอ๊ด-พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์ คือช่างภาพประเภทไหน
มันเคยสะเปะสะปะในช่วงแรกๆ เราเริ่มต้นจากชอบถ่ายรูปเฉยๆ ชอบถ่ายรูปเพื่อน ชอบถ่ายรูปงานสถาปัตย์ ฯลฯ แต่พอทุกสิ่งมันผสมผสานหลอมรวมกัน เราเรียนรู้ที่จะถ่ายอะไรไปเรื่อยๆ โดยไม่ยึดติดว่าภาพแบบนี้จะเป็นแนวทางแบบเรา คนเห็นภาพนี้แล้วจะคิดถึงเรา เราแค่รู้สึกว่าทุกๆ ภาพที่ถ่าย เราถ่ายแล้วเรามีความสุข คนเห็นภาพแล้วมีความสุข โอเค จบ
หลังจากถ่ายภาพ เมื่อผลงานออกมา ช่างภาพมองเห็นตัวตนหรือเข้าใจตัวเองผ่านภาพได้ด้วยไหม ว่าเราเป็นคนแบบไหน ชอบสีอะไร ชอบถ่ายภาพแบบไหน ฯลฯ
ผมกรุ๊ปภาพแต่ละกรุ๊ปออกมาในแต่ละรูปแบบเหมือนกัน จะเป็นตัวเองแยกไปในแต่ละรูปแบบ อย่างเนื้องานที่ผมเลือกมาในนิทรรศการคราวนี้มีทั้งงานที่มีความโดดเด่นในเชิงสถาปัตย์หรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเรียน สิ่งที่เราสนใจตั้งแต่วัยเรียน ต่อเนื่องมา รวมไปถึงเรื่องเกี่ยวกับคน เรื่องเกี่ยวกับพื้นที่ ความคิดทางด้านสังคม
งานชุดนี้เป็นภาพที่บันทึกจากการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ในหลายเมืองของโลก นั่นแสดงว่าการเดินทางมีผลต่อมุมมองในงานของคุณพอสมควร
เราได้โอกาสในการเดินทางจากงานของเรา และด้วยตัวเองที่ชอบเดินทาง หนีร้อน รู้สึกว่าการเดินทางก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง การเดินทางช่วยเติมเต็มบางอย่าง ได้พบเห็นสิ่งที่เราคิดไม่ถึง เอามาพัฒนาใช้กับตัวเองได้ กับงานของตัวเองได้ การเดินทางจึงมีส่วนต่อการสร้างงานของผม
สายตาช่างภาพที่เก่งมักจะทำให้เรารู้สึกได้ลึกในภาพที่เขาถ่าย คุณเองก็เป็นหนึ่งในนั้น น่าสนใจว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์หรือเทคนิคอะไรส่วนตัวไหม
สมมติถ้าจะต้องถ่ายพอร์เทรตลงอะไรบางอย่าง ผมก็ต้องมองว่า เขาต้องดูดีในสไตล์เขา ส่วนใหญ่ผมจะให้นักเขียนเป็นคนพูดคุยให้จบก่อน ผมไม่ชอบที่ตัวเองไปถึงแล้วบอกว่า ผมไม่มีเวลาครับ ขอถ่ายก่อน แล้วผมต้องรีบไป เพราะผมรู้สึกว่าการทำงานแบบนั้น ผมไม่ได้รู้จักตัวเขาผ่านสิ่งที่เขาคิด ฉะนั้น ผมจะรอจนเขาคุยจบ ผมได้พูดคุยกับเขาก่อนแล้วค่อยถ่าย เหมือนเราได้ทำความรู้จักกันก่อน เพื่อให้เขามีความไม่เกร็งกับผม
คุณเคยเป็นช่างภาพส่วนตัวของ อดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถ้าอย่างนั้นถามเผื่อในอนาคต ถ้ามีโอกาสติดตามถ่ายภาพบุคคลในแบบเดียวกันอีกครั้ง เลือกได้เอง คุณสนใจอยากจะตามถ่ายชีวิตใครอีกไหม
คนที่อยากตามท่านไม่อยู่แล้ว บุคคลนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ผมชื่นชมและแอบอิจฉาช่างภาพที่ได้ตามบันทึกภาพพระราชกรณียกิจของพระองค์ในตอนที่พระองค์ลงพื้นที่ ตั้งแต่ตอนที่ประเทศไทยยังไม่มีอะไร ตอนที่ประเทศกำลังต้องการการพัฒนา เรารู้สึกว่านี่แหละคือภาพที่เป็นประวัติศาสตร์ และเรารู้สึกว่าการที่ได้ดูภาพเหล่านั้นมันเป็นแรงบันดาลใจของเราในการทำงานต่อๆ ไป ทั้งการถ่ายภาพคน ถ่ายภาพสิ่งต่างๆ ขณะเดียวกันก็เป็นเหมือนการได้มองย้อนกลับไปด้วยว่าเราเป็นช่างภาพแบบไหน
อย่างตอนที่ผมได้ทำงานกับคุณอภิสิทธิ์ ช่วงเวลานั้นเขาเป็นผู้นำประเทศ ผมมองว่า การที่ผมถ่ายภาพเขาก็คือการส่งเสริมประเทศอย่างหนึ่ง ผมผลักดันบางอย่าง ผลักดันความคิดของเขาผ่านภาพถ่าย ผลักดันความคิดของผมส่งผ่านไปถึงเขาด้วยรูปภาพ ส่วนหนึ่งเพราะผมได้รับอิทธิพลมาจากภาพถ่ายพระราชกรณียกิจต่างๆ ของรัชกาลที่ 9 ที่ได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยเหมือนกัน