ความจริงยมทูตยืนรอเขาอยู่ที่ริมแทร็กตั้งแต่เมื่อ 43 ปีที่แล้ว
ที่สนามเนอร์เบอร์กริง ในรายการแข่งขันเยอรมันกรังด์ปรีซ์เมื่อปี 1976 รถแข่งของเขาลุกเป็นไฟจากอุบัติเหตุในสนาม เมื่อรถแหกโค้งชนเข้ากับรั้วกั้นก่อนหมุนเคว้งกลางอากาศ และกระแทกกับพื้นอย่างรุนแรง
ตัวของเขาติดอยู่ในรถ แต่ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนนักขับอย่าง เบร็ตต์ ลังเกอร์ และ เฮอร์ราลด์ เอิร์ทล์ ที่รถขับเสียหลัก เพราะหลบเศษซากรถแข่งของเลาดาไม่พ้น แต่ทั้งสองยังรีบไปช่วยดึงร่างของเลาดาออกมาได้ทันเวลา ก่อนที่เขาจะต้องกลายเป็นศพที่ไหม้เกรียม
เพียงแต่สภาพของ นิกิ เลาดา ในเวลานั้น ไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่าเขาจะมีชีวิตต่อไปได้
เลาดาได้รับบาดแผลไหม้ร้ายแรงหลายจุด ความร้ายแรงถึงขั้นระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับที่ร้ายแรงที่สุด รวมถึงปอดที่ได้รับความเสียหาย สภาพของเขาคือคนไข้อาการสาหัสที่เป็นหรือตายเท่ากัน
จอห์น วัตสัน เพื่อนนักขับที่เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า หลังเกิดเหตุ เขาถูกนำตัวให้พ้นจากรถที่กำลังลุกไหม้ ก่อนที่วัตสันจะจับเพื่อนนอนลงบนตัก นั่นทำให้เขามองเห็นใบหน้าของเลาดาได้ชัด ซึ่งความตั้งใจของเขานั้นแค่ต้องการให้เขามีสติด้วยการพยายามพูดคุยกัน
ในเวลานั้นไม่มีใครคิดว่าบาดแผลไหม้ของเลาดาจะร้ายแรงถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต และที่ร้ายกว่านั้นคือ ควันพิษและอุณหภูมิที่ร้อนเหมือนนรกในรถของเขาจะกลายเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อปอดของเขา
เลาดาเล่าให้วัตสันฟังในเวลาต่อมาว่า จริงๆ เขาทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่เขาได้สติและบอกกับตัวเองว่า “ต้องตื่น รีบออกจากที่นี่ได้แล้ว”
ณ เข็มนาฬิกานั้น เรื่องการรักษาชีวิตของเขาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ไม่มีใครคิดถึงเรื่องของการที่เขาจะกลับมานั่งประจำการในค็อกพิตเพื่อขับรถต่อ
แต่เลาดาไม่ใช่คนธรรมดา เขาคือโคตรนักสู้ตัวจริงที่ไม่มีวันยอมให้ใครมาหยุดเขาจากการกระทืบคันเร่ง บังคับพวงมาลัย ไล่บี้กับคู่แข่งชั่วชีวิตอย่าง เจมส์ ฮันต์
6 สัปดาห์หลังจากอุบัติเหตุ ซึ่งการแข่งขันผ่านไป 2 สนาม เลาดาทำในสิ่งที่ไม่มีใครอยากเชื่อ ด้วยการกลับมาประจำการในค็อกพิต และพร้อมควบไอ้ม้าลำพองคันเก่งโลดแล่นในสนามอีกครั้ง
เซอร์แจ็คกี้ สจวร์ต อดีตแชมป์โลก 3 สมัย ที่เคยขับเคียงข้างกับเลาดา ในช่วงต้นทศวรรษที่ 70 ยกย่องนักขับชาวออสเตรียผู้นี้ ว่าเป็น ‘นักขับที่กล้าหาญที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการ’
“นิกิมีความกล้าหาญในระดับที่เหนือกว่าคนทั่วไป เขากล้าในแบบที่ผมไม่เคยเห็นใครกล้าแบบนี้มาก่อน ผมจำได้ว่าผมเคยเห็นเขาใส่หมวก ตอนนั้นแผลของเขายังปรากฏชัดเจน การที่เขากล้าที่จะหยิบหมวกนักแข่งกลับมาใส่อีกครั้ง มันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มากแล้ว เท่านั้นไม่พอ เขายังลงแข่งและผ่านเข้ารอบในอันดับที่ 5”
จากคำพูดของเซอร์แจ็คกี้ ลองคิดย้อนดูนะครับว่า หากสมมติเราขับรถแล้วประสบอุบัติเหตุ ต่อให้เป็นอุบัติเหตุที่เล็กน้อยแค่ไหน ก็ย่อมมีอาการขยาด ถึงไม่กลัวก็ไม่มั่นใจในการบังคับพวงมาลัยเหมือนเดิม
แล้วคนที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงในระดับที่คมเคียวของยมทูตเกี่ยวเข้าที่คอแล้วอย่างเลาดา คนที่ไม่ใช่แค่เฉียดตาย แต่ยังบาดเจ็บแสนสาหัสจากบาดแผลที่เกิดขึ้น มันต้องกล้าหาญขนาดไหน ถึงจะกลับมาลงแข่งขันต่อเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
หรือเขาเป็นแค่คนบ้าคนหนึ่ง?
จะคิดแบบนั้นก็ได้ และเลาดาก็ไม่ได้ใส่ใจด้วยว่าใครจะมองเขาแบบไหน เพราะชีวิตของเขา เขารู้ว่าเขาเกิดมาเพื่อทำสิ่งนี้
เขารักรถแข่ง และเขาพร้อมจะแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้มันมา
ความจริงแล้วเลาดาไม่ได้มีเส้นทางที่โรยด้วยดอกกุหลาบเลยในการมาเป็นนักขับรถเอฟวัน ในทางตรงกันข้าม เส้นทางของเขาเต็มไปด้วยขวากหนามมากมาย
เริ่มจากครอบครัวที่ไม่เห็นด้วยกับความฝันของเขา ซึ่งก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ ใครจะอยากเห็นคนในครอบครัวต้องไปเสี่ยงชีวิตอยู่กับรถแข่งที่วิ่งด้วยความเร็วเหมือนสายฟ้าฟาด เป็นหรือตายนั้นอยู่แค่การตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาที และยังไม่มีหลักประกันใดๆ ว่ามันจะเป็นชีวิตที่ดีไปกว่าการใช้ชีวิตเยี่ยงคนธรรมดา
แต่สำหรับเลาดา เขาไม่อยากเป็นคนธรรมดา และเขารู้ว่าถ้าไม่ตัดสินใจทำในสิ่งนี้ เขาจะเสียใจไปตลอดชีวิต
นั่นทำให้เขาขอทุ่มหมดหน้าตักตั้งแต่ในวัยเริ่มต้นชีวิตด้วยการกู้เงิน เพื่อที่จะได้มีเงินทุนสำหรับใช้เพื่อให้ได้เข้ามาอยู่ในวงการรถแข่ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะการจะเข้าแข่งขันรถนั้นใช้เงินทุนมหาศาลมาก เกือบทุกคนต้องมีสปอนเซอร์เข้ามาให้ความช่วยเหลือ แต่เลาดาเลือกที่จะออกทุนให้ตัวเอง
เจ๊งเป็นเจ๊ง จบเป็นจบ แต่ดีกว่าไม่ได้ทำ
ผ่านมาถึงปี 1971 เลาดาในวัย 22 ปี เริ่มต้นเส้นทางนักขับของเขาอย่างเป็นทางการ และฝีมือของเขาสะดุดตากับเจ้าพ่อของวงการอย่าง เอ็นโซ เฟอร์รารี เข้าอย่างจัง
3 ปีถัดมา ไอ้หนุ่มวัยห้าวจากออสเตรีย ก็ได้อยู่หลังพวงมาลัยของรถสคูดาเรีย ซึ่งการเดิมพันของเฟอร์รารีต่อนักขับคนใหม่ของเขาได้รับผลตอบแทนอย่างดีงาม เมื่อเลาดาขึ้นโพเดียมได้ตั้งแต่สนามแรก และในปีถัดมา เขาก็พาทีมเฟอร์รารีคว้าแชมป์โลกได้เป็นสมัยแรกในรอบทศวรรษ
ก่อนที่เขาจะพาทีมคว้าแชมป์ได้อีกครั้งในปี 1976 เป็นแชมป์โลกสมัยที่ 2 ของเขา ก่อนจะถอนตัวจากวงการในปี 1979 แต่ตัดสินใจที่จะกลับมาแข่งขันอีกครั้ง คราวนี้กับทีมแม็คลาเรนในปี 1982 และคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 ซึ่งเป็นสมัยสุดท้ายของเขาได้ในปี 1984
หากเราจะนับความสำเร็จในฐานะแชมป์โลกของเลาดา เขาไม่ได้เหนือกว่า มิชาเอล ชูมักเกอร์ (7 สมัย), ฮวน มานูเอล ฟานจิโอ (5 สมัย), ลูอิส แฮมิลตัน (5 สมัย), อแล็ง พรอสต์ คู่แข่งของเขาในฤดูกาล 1984 (4 สมัย) และ เซบาสเตียน เวทเทล (4 สมัย)
แต่สิ่งที่ทำให้เลาดาเป็นตำนานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของวงการคือ ‘วีรกรรม’
หัวใจที่ร้อนแรงของเขาคือสิ่งที่โลกคารวะ และการขับเคี่ยวระหว่างเขากับ เจมส์ ฮันต์ ก็เป็นสิ่งที่ช่วยจุดประกายให้คนทั่วโลกได้หันมาสนใจรถแข่งเอฟวัน ทุกคนเฝ้ารอติดตามการแข่งขันระหว่างคู่ปรับคู่นี้ และมันเป็นการทำให้เอฟวันมีทุกวันนี้
เขาเป็นเหมือนประกายแสงที่เจิดจ้าของคนที่รักรถแข่ง
เลาดาคือ ‘ซูเปอร์ฮีโร่’ ที่เด็กๆ เฝ้ามองและอยากเป็นอย่างเขา เช่นเดียวกับรุ่นหลังที่แม้ได้ยินเพียงตำนานหัวใจก็พองโต
ในขณะเดียวกันเขายังเป็นต้นแบบที่เราเรียนรู้ได้ครับ ไม่ใช่แค่เรื่องของความกล้าบ้าบิ่น แต่เป็นการทุ่มเททั้งชีวิต เพื่อทำในสิ่งที่รักโดยปราศจากความลังเลใดๆ
เลาดาไม่ได้แค่ขับรถเก่ง แต่เขายังรอบรู้ในเรื่องเครื่องยนต์กลไก และการรู้จริงในสิ่งที่รัก ทำให้เขาได้เปรียบในการแข่งขัน
วันนี้เวลาของตำนานนักขับที่เหมือนนกฟีนิกซ์บนโลกใบนี้หมดลงแล้ว
อาจจะต้องรอนานถึง 43 ปี กว่าที่เลาดาจะยอมลงจากรถคันโปรดของเขา และเดินไปกับยมทูตชุดดำ เพื่อไปสู่การเดินทางครั้งใหม่
ทิ้งไว้เพียงแค่เรื่องราวและเปลวไฟในหัวใจของผู้คนที่จะไม่มีวันดับลง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
- หลังประสบอุบัติเหตุ เลาดาถูกส่งไปรักษาตัวอย่างเร่งด่วนที่เมืองมานไฮม์ โดยใช้แพทย์ 6 คน และพยาบาล 34 คน เพื่อยื้อชีวิตของเขา ผิวหนังของเขาบริเวณศีรษะและข้อมือถูกไฟไหม้ในระดับ 3 ซึ่งร้ายแรงที่สุด หนังเปลือกตาของเขาก็ถูกไฟไหม้ด้วย ต้องใช้ผิวหนังจากหลังใบหูมาสร้างเปลือกตาใหม่ นอกจากนี้กระดูกซี่โครงยังหักหลายซี่ กระดูกไหปลาร้าและโหนกแก้มก็แตกด้วย
- 4 วันหลังเกิดเหตุ ชีวิตของเขาเป็นตายเท่ากัน โดยเวลานั้นเลาดาตาเกือบบอด แต่เขาพยายามฟังเสียงตลอด เพื่อไม่ให้หมดสติ
- หลังรอดชีวิต เลาดารีบเร่งฟื้นตัวเพื่อกลับมาแข่งขันอีกครั้ง โดยใช้เวลาถึงวันละ 12 ชั่วโมง เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกาย
- การขับเคี่ยวระหว่างเลาดากับฮันต์เป็นเรื่องระดับตำนาน และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Rush (2013) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์รถแข่งที่ดีที่สุดตลอดกาล
- นอกจากการแข่งรถ เลาดายังสนใจเรื่องการทำธุรกิจ และเขาเป็นเจ้าของสายการบินเลาดาแอร์ ก่อนจะขายกิจการให้สายการบินออสเตรียน โดยเมื่อ พ.ศ. 2534 เครื่องบินสายการบินเลาดาแอร์ประสบอุบัติเหตุตกที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งลำ 223 ศพ เป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมเครื่องบินตกที่เลวร้ายที่สุด