×

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ สภาวะการเมืองไทย ส่งผลกระทบกับการลงทุนอย่างไร

17.05.2019
  • LOADING...
สงครามการค้า การลงทุน

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์ฯ มองว่า สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ อาจจะได้บทสรุปการคลี่คลายและสัญญาณเชิงบวกในเร็วๆ นี้ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างก็เจ็บตัวพอกัน
  • หากองค์ประกอบโดยรวมของตลาดดีขึ้นเมื่อไร โอกาสที่ ‘เงิน’ จะสวิตช์ออกจากตราสารหนี้ (Bound) และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) กลับมาเข้าตลาดหุ้นก็ยังมีสูง
  • สถานการณ์การเมืองไทยแม้ในตอนนี้ยังไม่ได้บทสรุป แต่เร็วๆ นี้เราน่าจะเห็นหน้าตาของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งในมุมมองของนักลงทุนส่วนใหญ่จะชื่นชอบสถานการณ์การเมืองที่สามารถคาดเดาเหตุการณ์และวางแผนล่วงหน้าได้มากกว่า (รัฐบาลประชาธิปไตย)

ปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ดูท่าจะยังไม่ยุติลงและได้ข้อสรุปในเร็ววันนี้แน่ๆ ขณะที่การเมืองไทย แม้หน้าตารัฐบาลชุดใหม่จะยังคลุมเครือไม่ชัดเจน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์อาจจะได้รับการคลี่คลายในอนาคตอันใกล้นี้

 

ในเชิงของภาคธุรกิจและการลงทุน วิกฤตการณ์และปัญหาความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจและการตัดสินใจลงทุนอย่างมีนัยสำคัญและหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน จึงได้จัดการเสวนาและให้ข้อมูลในหัวข้อ ‘ลงทุนอย่างไร ในช่วงการเมืองคืบหน้า สงครามการค้าโลกคืบหลัง’ เมื่อช่วงสายของวันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม เพื่อสะท้อนมุมมองความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มีต่อทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว

 

นำโดย ไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์ฯ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และ เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม นักกลยุทธ์การลงทุนยอดเยี่ยมของสมาคมนักวิเคราะห์ ปี 2018 และผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด

 

สงครามการค้า  การลงทุน

 

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ มีสิทธิ์คลี่คลายเร็วๆ นี้ เพราะจีนและสหรัฐฯ อาจทนพิษบาดแผลไม่ได้นาน

ไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์ฯ เริ่มต้นกล่าวถึงประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยบอกว่าผู้เชี่ยวชาญ นักเศรษฐศาสตร์ และนักวิเคราะห์ในต่างประเทศจำนวนมากมองปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นแค่ ‘ปัจจัยชั่วคราว’ และไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนรวมถึงเศรษฐกิจโลกในระยะยาว

 

ไพบูลย์ย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นการก่อตัวของสงครามในปี 2017 ที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พบว่าประเทศของตนขาดดุลกับประเทศจีนในปีดังกล่าวมากถึง 375,570 ล้านเหรียญ และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2017 สหรัฐฯ มีมูลค่าการส่งออกไปยังจีนราว 100,000 ล้านเหรียญ ขณะที่มูลค่าการนำเข้ากลับสูงถึงกว่า 500,000 ล้านเหรียญ

 

จุดนี้เองที่ทำให้ทรัมป์ไม่พอใจและมองว่าจีนเอาเปรียบสหรัฐฯ แต่สาเหตุที่หลังจากทั้งสองประเทศเริ่มจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นมาและไม่สามารถเจรจาเพื่อยุติปัญหาได้นั้น เพราะเหตุผลส่วนใหญ่ที่ทรัมป์นำมาใช้อ้างเพื่อการเจรจาไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการค้าเลย

 

เช่น การกำหนดเงื่อนไขที่ต้องการให้จีนปฏิบัติตาม ซึ่งในที่นี้ไม่ได้โฟกัสกับการค้าโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา, การโอนย้ายเทคโนโลยีเวลาที่บริษัทจากสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนในจีน รวมถึงการขอให้จีนเปิดประเทศในหลายๆ ธุรกิจเพื่อที่กลุ่มทุนจากต่างชาติจะสามารถเข้าไปลงทุนได้ และการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

 

“ผมคิดว่าในระยะสั้น โอกาสที่ทั้งสองประเทศจะคุยกันไม่รู้เรื่องมีสูง ส่งผลให้เพดานภาษีจะถูกปรับขึ้นอีกในเดือนกรกฎาคม หลังจากปัจจุบันสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเต็มที่ 25% แล้ว แต่จีนก็มีโอกาสจะเล่นงานสหรัฐฯ ได้เหมือนกันถ้าจะทำ ทั้งธุรกิจที่สหรัฐฯ เข้าไปลงทุนและค้าขายในจีนตอนนี้ เช่น Apple ที่เข้าไปผลิตและจำหน่ายในจีน นอกจากนี้พวกเขาก็ยังเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ซึ่งถือพันธบัตรสูงถึง 1.1 ล้านล้านเหรียญ”

 

ไพบูลย์มองว่า ในเชิงเศรษฐกิจ เขาเชื่อว่าสาเหตุที่สงครามการค้าอาจจะจบลงเร็ว เพราะทั้งสองประเทศก็เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว ฝั่งจีนเองก็ได้รับเอฟเฟกต์จากยอดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่เริ่มตกลงและเริ่มเสียส่วนแบ่งการตลาดในอุตสาหกรรมเครื่องจักรไปให้กับประเทศคู่แข่งอย่างเกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน ที่สหรัฐฯ หันไปพึ่งพาแทน

 

สงครามการค้า  การลงทุน

 

ขณะที่อัตราการเติบโตของ GDP ประเทศจีนที่ยังสูงอยู่ที่ 6% ก็มาจากการอัดฉีดของนโยบายการคลังของรัฐบาลจีนไปกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานภายใน พัฒนาระบบขนส่ง คมนาคม เพราะเข้าใจดีว่าภาคเอกชนได้รับผลกระทบแน่นอน หมายความว่ากว่า 70% ของ GDP Growth ของจีนเกิดจากการใช้จ่ายของภาครัฐ

 

ฝั่งสหรัฐอเมริกาที่กล้าใช้ไม้แข็งกับจีน ไพบูลย์บอกว่า GDP ของสหรัฐฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตสูงขึ้นทุกปี เช่นเดียวกันกับอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี อยู่ที่ 3% กว่าๆ เท่านั้น สอดคล้องกับจำนวนผู้มีงานทำที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ 152 ล้านคน ส่งผลให้พลเมืองมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับอัตราค่าจ้างที่โตขึ้นประมาณ 3% กว่าๆ แบบไม่มีเงินเฟ้อ

 

สงครามการค้า  การลงทุน

 

แต่ปัจจุบัน ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ก็เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว ซึ่งการขึ้นภาษีในรอบต่อไปหากการเจรจายังไม่ได้ข้อสรุปก็จะเริ่มส่งผลกระทบกับผู้บริโภคอเมริกันโดยตรงแน่นอน สินค้าในกลุ่มอุปโภค-บริโภคในสัดส่วนกว่า 80% จาก 2 แสนล้านเหรียญจะได้รับผลกระทบโดยตรง สินค้าในตะกร้านี้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดประกอบด้วย สมาร์ทโฟน, คอมพิวเตอร์,​ เสื้อผ้า และของเล่น

 

ไพบูลย์สรุปผลกระทบจากสงครามการค้าว่า ทั้งสองประเทศคล้ายกับอยู่ในช่วงสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และเริ่มเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองแล้ว จีนเองในวันนี้ก็อยู่ในจุดที่ ‘ไม่ง่าย’ ที่จะลากยาวปัญหาสงครามการค้าต่อไป

 

สหรัฐฯ ก็เช่นกัน เมื่อไรที่ปัญหาเริ่มแตะผู้บริโภค โดนัลด์ ทรัมป์ ก็คงจะไม่นิ่งนอนใจเหมือนกัน เพราะปี 2020 นี้สหรัฐฯ ก็จะเลือกตั้งแล้ว ซึ่งการเลือกตั้งในตลอด 20 กว่าครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1928 มีเพียง 4 ครั้งเท่านั้นที่หุ้นตกในปีเลือกตั้ง ไพบูลย์จึงเชื่อว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าประเด็นสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ น่าจะมีมุมมองการแก้ไขปัญหาเชิงบวกกลับเข้ามา

 

สงครามการค้า  การลงทุน

 

ส่วนในด้านผลกระทบในแง่ของการลงทุน ไพบูลย์ชี้ให้เห็นว่ากระแสเงินยังไหลเข้าตลาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ตลาดหุ้นต่างหากที่เงินยังไม่ไหลเข้า และหากองค์ประกอบโดยรวมของตลาดดีขึ้นเมื่อไร โอกาสที่ ‘เงิน’ จะสวิตช์ออกจากตราสารหนี้ (Bound) และกองทุนรวมตลาดเงิน (Money Market Fund) ที่ให้ผลตอบแทนน้อยกลับมาเข้าตลาดหุ้นก็ยังมีสูง

 

สงครามการค้า  การลงทุน

 

ด้าน เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม นักกลยุทธ์การลงทุนยอดเยี่ยมของสมาคมนักวิเคราะห์ ปี 2018 มองต่างว่า จีนและสหรัฐฯ ยังคงจะสาดกระสุนที่เหลืออยู่ใส่กันต่อเนื่องไปอีกสักระยะ และอาจจะยังไม่ได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ เพราะฝั่งสหรัฐฯ เองก็ยังเหลือวงเงินการขึ้นภาษีอีก 3.25 แสนล้านเหรียญ จากกำแพงภาษีที่ตั้งไปแล้วที่ 2.5 แสนล้านเหรียญ รวมถึงการคว่ำบาตรโทรคมนาคมจากจีนทั้ง Huawei และ ZTE

 

ฝั่งจีนก็ยังตอบโต้สหรัฐฯ กลับได้จากการขึ้นภาษีที่เหลือ 2 หมื่นล้านเหรียญ จากที่ขึ้นไปแล้ว 1.1 แสนล้านเหรียญ,​ ลดการนำเข้าเครื่องบิน Boeing, ขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถืออยู่เป็นลำดับที่ 1 ที่ 1.1 ล้านล้านเหรียญ (มากที่สุดในสัดส่วน 17.3% ที่ถือครองโดยต่างชาติ)

 

ทีนี้เมื่อมองผลกระทบต่อสงครามการค้าที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยซึ่งเกิดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2018 จะเห็นได้ชัดว่าตัวเลขการส่งออกของไทยผิดรูปไปจากเดิมมาก เดิมที่โตได้ถึง 6-8% แต่หลังจาก 7 เดือนที่สงครามการค้าเกิดขึ้น ตัวเลขการส่งออกก็ติดลบไปถึง 5 เดือน สะท้อนให้เห็นว่าการคาดการณ์ตัวเลขการส่งออกต่อจากนี้ในสัดส่วนที่สูงเป็นเรื่องที่ลำบากพอสมควร

 

ในส่วนของผลกระทบสงครามการค้าทั้งเชิงบวกและลบที่จะเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมในไทย เทิดศักด์เชื่อว่าเซกเตอร์ที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบ น่าจะประกอบด้วย กลุ่มปิโตรเลียม-น้ำมัน, ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ และอสังหาริมทรัพย์ (มองว่าถ้ากำลังซื้อจากคนจีนจะลดน้อยลง จากตัวเลขคร่าวๆ ที่กำลังซื้อในปัจจุบัน 20-30% มาจากชาวต่างชาติ)

 

สงครามการค้า  การลงทุน

 

ส่วนเซกเตอร์ที่จะได้รับอิมแพ็กเชิงบวกประกอบด้วย กลุ่มส่งออกอาหาร เพราะสินค้าที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ และถูกแบนในสหรัฐฯ ก็คือ ‘ถั่วเหลือง’ เพราะถูกกดราคาต่ำสุดในรอบ 10 ปี เมื่อวัตถุดิบหลักที่ถูกนำไปใช้ผลิตอาหารสัตว์ลดลง ก็จะทำให้ต้นทุนผลิตอาหารสัตว์ลดตามลงไปด้วย

 

นอกจากนี้กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมก็จะได้รับผลกระทบเชิงบวกเช่นกัน เมื่อผู้ประกอบการที่มีฐานผลิตในจีนไม่สามารถข้ามกำแพงภาษีไปยังสหรัฐฯ โดยตรงได้ ก็จำเป็นจะต้องใช้วิธีการอ้อม หนึ่งในนั้นคือการย้ายฐานผลิตไปยังกลุ่มประเทศที่ไม่โดนตั้งกำแพงภาษี ไทยจึงอาจจะเป็นปลายทางหนึ่งที่น่าจะได้รับประโยชน์จากประเด็นนี้ เพราะรัฐบาลก็ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่อีอีซีจริงจังด้วย จึงเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ภาคนิคมอุตสาหกรรมเห็นสัญญาณเชิงบวกได้

 

สงครามการค้า  การลงทุน

 

การเมืองไทยกับผลกระทบต่อภาคการลงทุน

ในประเด็นการเมืองไทย เทิดศักดิ์มองข้ามช็อตว่า หลังจากรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งในเร็วๆ นี้เราน่าจะได้ทราบโฉมหน้าคร่าตาเกิดขึ้นมาแล้ว ความเคลื่อนไหวภายใต้นโยบายเศรษฐกิจชุดใหม่น่าจะเน้นไปที่การกระตุ้นภาคเศรษฐกิจการอุปโภค-บริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเพราะภาพสงครามการค้าก็สะท้อนให้เห็นว่าการคาดหวังการส่งออกยังเป็นไปด้วยความลำบากอยู่ (ด้วยเหตุนี้หน่วยงานหลายแห่งจึงปรับลดการคาดการณ์การส่งออกของประเทศไทยลง)

 

“มาตรการของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะเน้นการกระตุ้นผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย รวมถึงการลดหย่อนภาษีจากการท่องเที่ยวในประเทศ,​ การใช้จ่ายซื้อสินค้าในกลุ่มที่กำหนด เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจภายในประเทศเนื่องจากไม่สามารถคาดหวังกับการส่งออกการค้าระหว่างประเทศได้”

 

สำหรับจุดที่น่าสนใจของนโยบายฟากเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่นั้น เทิดศักดิ์ตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ แทบทุกพรรคการเมืองจะพูดถึงนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งผลกระทบในรอบนี้น่าจะต่างจากคราวก่อนที่ปรับเป็น 300 บาท (ตอนนั้นถูกแลกด้วยภาษีเงินได้นิติบุคคลที่มีการลดอัตราลงมาจนตอนนี้เหลือที่ 20)

 

โดยขั้วพลังประชารัฐชูว่าจะปรับขึ้นเป็น 425 บาท ส่วนฝั่งเพื่อไทยจะปรับเป็น 400 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการปรับขึ้นแบบมีนัยประมาณการที่ 23% ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่จะต้องตั้งรับระวังผลกระทบให้ดีคืออุตสาหกรรมที่มีมาร์จินต่ำ ใช้แรงงานเยอะ เช่น สมมติอุตสาหกรรม A ใช้ต้นทุนแรงงาน 15% ของโครงสร้างต้นทุนรวม แล้วมีอัตราส่วนทางการเงินต่ำไม่เกิน 5% หากค่าแรงมีการปรับเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการก็จะเหนื่อยแน่นอน ในกลุ่มนี้ที่เกี่ยวข้องก็เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์, รับเหมาก่อสร้าง และธุรกิจแปรรูปอาหาร เป็นต้น

 

“โดยสรุปเรื่องการเมืองไทย ผมไม่กังวลในเชิงกระบวนการ เพราะเราคงได้เห็นการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้แน่นอนอยู่แล้ว ศักยภาพจะอยู่ได้สั้นหรือยาวก็ไม่น่ากังวลสักเท่าไร เพราะเมื่อเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยแล้วก็มีขั้นตอนที่ ‘คาดหมาย’ ได้”

 

ซึ่งคำว่าคาดหมายได้นี่เองที่ทำให้เทิดศักด์เชื่อว่า ในมุมนักลงทุนจะชอบสถานการณ์ที่สามารถคาดการณ์และวางแผนล่วงหน้าในอนาคตได้ ดังนั้นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงอยู่ในกรอบที่เข้าทางของมุมมองนักลงทุน พร้อมกับเชื่อว่าความเสี่ยงในการลงทุนน่าจะลดลง

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X