พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นโบราณราชประเพณีที่สืบทอดมายาวนานเพื่อการเสด็จขึ้นครองราชย์โดยสมบูรณ์ของพระมหากษัตริย์ไทย
ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีอยู่หลายลำดับขั้นตอน แต่ขั้นตอนสำคัญที่เรียกว่า ‘บรมราชาภิเษก’ หลักๆ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ พิธีสรงพระมุรธาภิเษก พิธีถวายน้ำอภิเษก และพิธีถวายสิริราชสมบัติและเครื่องราชกกุธภัณฑ์
ในที่นี้จะขอกล่าวถึง ‘พิธีสรงพระมุรธาภิเษก’ ซึ่งมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระภูษาเศวตพัสตร์ ทรงสะพักขาวขลิบทอง ประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ภายในมณฑปพระกระยาสนาน
อธิบายอย่างเข้าใจง่ายๆ นั้น พิธีสรงพระมุรธาภิเษกคือการชำระล้างพระวรกายให้พร้อมก่อนการเปลี่ยนสถานะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน
ขณะที่พิธีถวายน้ำอภิเษกเป็นการแสดงการยอมรับจากผู้ใต้ปกครองทั้ง 8 ทิศ ซึ่งเดิมจะมีราชบัณฑิตและพราหมณ์เป็นผู้ถวาย แต่ในรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้ถวาย เป็นนัยแสดงถึงพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย
ในพิธีสรงพระมุรธาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงสะพักขาวขลิบทอง ประทับเหนืออุทุมพรราชอาสน์ (ตั่งไม้มะเดื่อ) ภายในมณฑปพระกระยาสนาน เพื่อทรงรับน้ำสรงจากสหัสธารา
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงบันทึกถึงเหตุการณ์และความรู้สึกส่วนพระองค์ขณะเสด็จฯ ไปประกอบพิธีสรงพระมุรธาภิเษกว่าทรงรู้สึกโหวงๆ เหมือนฝัน ทอดพระเนตรอะไรก็ดูรางเลือน ไม่แจ่มชัดอย่างปกติ อีกทั้งทรงบันทึกไว้ใน ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ความว่า
…เมื่อขึ้นไปบนพระกระยาสนานและนั่งลงบนตั่งแล้ว, ตัวก็ยังชาๆ อยู่ ต่อเมื่อน้ำสหัสสะธาราได้ตกต้องตัวเปนครั้งแรกจึ่งได้ตื่นขึ้น, รู้สึกความเปลี่ยนแปลงของตัว, และในทันใดนั้นน้ำตาได้ไหลลงอาบหน้าระคนกับน้ำสหัสสะธารา, จึ่งมิได้มีผู้ใดสังเกตเห็น. ในเวลานั้นเองที่ฉันได้รู้สึกแน่ชัดว่าได้เสียทูลกระหม่อมไปเสียแล้ว, และแต่นั้นต่อไปฉันจะต้องเปนผู้รับภาระแทนพระองค์…
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่าจะปฏิบัติให้สมกับที่ทูลกระหม่อม (รัชกาลที่ 5) ได้เลือกพระองค์เป็นรัชทายาท โดยจะทรงอุทิศทั้งชีวิตและร่างกายของพระองค์เพื่อประโยชน์แห่งชาติและศาสนา
พิธีสรงพระมุรธาภิเษกจึงมีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง ดังความในพระราชนิพนธ์ ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปี 2466 หรือประมาณ 2 ปีก่อนเสด็จสวรรคต