วันนี้ (30 เม.ย.) คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและมาตรการภาษี ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพของประชาชน และสนับสนุนการอัดฉีดเม็ดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดันเศรษฐกิจไทยขยายตัว โดยมีรายละเอียดแบ่งเป็น 2 มาตรการ ดังนี้
- มาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงินทั้งสิ้น 13,210 ล้านบาท
มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อยและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยดีขึ้น และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
1.1 มาตรการเพิ่มเบี้ยคนพิการ
เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้พิการให้ได้รับเบี้ยผู้พิการเพิ่มขึ้นจากเดิม ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 5 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2562
โดยจะต้องเป็นผู้มีรายได้น้อยที่มีบัตรประจำตัวคนพิการเท่านั้น และสามารถใช้ซื้อสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้
งบประมาณ: ประมาณ 1,160 ล้านบาท
1.2 มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่เกษตรกร
เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่เป็นเกษตรกรในช่วงที่รายได้เกษตรกรหดตัว สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิตอื่นๆ เป็นจำนวนเงิน 1,000 บาทต่อคน (ได้รับครั้งเดียว) ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ซื้อสินค้าผ่านเครื่อง EDC แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้
งบประมาณ: ประมาณ 4,100 ล้านบาท
1.3 มาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ช่วงเปิดปีการศึกษา
เพื่อช่วยเหลือค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การศึกษาช่วงเปิดปีการศึกษาเพิ่มเติมจากการช่วยเหลือของกระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่เดิม ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้พ่อแม่เป็นจำนวนเงิน 500 บาทต่อบุตร 1 คน (ได้รับครั้งเดียว) โดยจะให้สิทธิตามจำนวนบุตรผ่านแม่หรือพ่อที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้มีรายได้น้อยสามารถใช้ซื้อสินค้าผ่านเครื่อง EDC แอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ หรือถอนเงินสดจากเครื่องถอนเงินอัตโนมัติได้
งบประมาณ: ประมาณ 1,350 ล้านบาท
1.4 มาตรการพยุงการบริโภคของผู้มีรายได้น้อย
เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อย และรักษากำลังซื้อของเศรษฐกิจฐานรากไม่ให้ทรุดตัวมากกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงกลางปี 2562 โดยเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคจำเป็นในร้านธงฟ้าประชารัฐ 500 บาทต่อคนต่อเดือนเท่ากันทุกคน (เดิมได้ 300 บาท ให้เพิ่มอีก 200 บาท หรือเดิมได้ 200 บาท ให้เพิ่มอีก 300 บาท) เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยเพิ่มช่องทางในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้ครอบคลุมถึงร้านค้าที่มีเครื่อง EDC และรองรับการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันถุงเงินประชารัฐ
งบประมาณ: ประมาณ 6,600 ล้านบาท
- มาตรการภาษีเพื่อพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562
จะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการใช้จ่ายภายในประเทศ เพิ่มการซื้อขายภาคอสังหาริมทรัพย์ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนภาคเอกชน เพื่อลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
2.1 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย
ให้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พัก โรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองหลักตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองรอง ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562
ผลกระทบ: จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 1,000 ล้านบาท
2.2 มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬา
ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้าเพื่อการศึกษาและกีฬาที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมถึง 30 มิถุนายน 2562
สำหรับการซื้อสินค้าเกี่ยวกับการศึกษาและกีฬาดังต่อไปนี้
1) อุปกรณ์การศึกษา แต่ไม่รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
2) เครื่องแต่งกายสำหรับการศึกษา
3) อุปกรณ์กีฬา
4) เครื่องแต่งกายสำหรับการเล่นกีฬา
ผลกระทบ: จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 1,500 ล้านบาท
2.3 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท่องเที่ยวท้องถิ่นไทย
ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้วตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2562
ผลกระทบ: ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 150 ล้านบาท
2.4 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการอ่าน
ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book) ที่จ่ายให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 31 ธันวาคม 2562 แต่เมื่อรวมค่าซื้อหนังสือและค่าบริการ e-Book ของมาตรการช้อปช่วยชาติตั้งแต่วันที่ 1-16 มกราคม 2562 แล้วต้องไม่เกิน 15,000 บาท
ผลกระทบ: จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 2,250 ล้านบาท
2.5 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง
ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุดที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาทตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 200,000 บาท ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562
ผลกระทบ: จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 1,350 ล้านบาท
2.6 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์
ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและออกหรือรับใบกำกับภาษีหรือใบรับ หักรายจ่ายเพื่อการลงทุนได้เป็น 2 เท่าของที่จ่ายจริงสำหรับรายจ่าย เช่น
1) รายจ่ายเพื่อการลงทุนในการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์
2) รายจ่ายเพื่อค่าบริการระบบคลาวด์
3) เครื่องบันทึกการเก็บเงินและ (Point of Sale: POS) ระบบ POS ซึ่งเชื่อมโยงกับการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์
4) การพัฒนาระบบหรือค่าบริการเกี่ยวกับ e-Tax Invoice & e-Receipt
5) การพัฒนาระบบหรือค่าบริการ e-Withholding Tax
ผลกระทบ: จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากภาษีเงินได้นิติบุคคลประมาณ 2,370 ล้านบาท
ทั้งนี้รัฐบาลมองว่ามาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2562 จะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและสังคม โดยเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศจำนวน 13,210 ล้านบาท และการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายจากประชาชนและเอกชน ซึ่งจะผลักดันให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2562 เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังประมาณไว้คือเท่ากับร้อยละ 3.9
นอกจากนี้ผู้มีรายได้น้อยจะได้รับความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีพ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนกลุ่มดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยผู้มีรายได้น้อยจะได้รับการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและบริโภค ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง หรือปัจจัยการผลิตอื่นๆ รวมถึงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายพ่อแม่ในช่วงเปิดเทอม เช่น ค่าชุดนักเรียน อุปกรณ์การศึกษา
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: