* คำเตือน: บทความนี้มีการอ้างอิงถึงเนื้อหาสำคัญในภาพยนตร์เรื่อง Avengers: Endgame
การเดินทางของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่แห่งจักรวาลมาร์เวลกินเวลายาวนานถึง 11 ปีแล้ว เมื่อนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการปลุกเหล่าตัวการ์ตูนจากคอมิกดังให้มีชีวิตบนจอโรงภาพยนตร์ ซึ่งสำหรับแฟนๆ มันเป็น 11 ปีที่มากกว่าความสนุก แต่กลายเป็นความผูกพันที่เราได้คอยติดตามเอาใจช่วย ได้หัวเราะ และซาบซึ้งไปกับชะตากรรมต่างๆ ที่มาพร้อมกับการเติบโต มิตรภาพ การสูญเสีย และถึงขั้นเสียศูนย์ในบางที
แน่นอนว่าไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา สุดยอดทีมฮีโร่ถึงเวลาปิดฉากศึกสุดท้ายแล้ว Avengers: Endgame ที่ถือเป็นบทสรุปตลอด 11 ปีของตัวละครสำคัญหลายตัว เพื่อส่งไม้ต่อให้กับเหล่าฮีโร่ยุคใหม่อย่างเป็นทางการ
ต้องบอกกล่าวก่อนว่า เนื้อหาในส่วนนี้ไม่ใช่การเขียนรีวิวแบบวิเคราะห์เจาะลึกเรื่องราวที่น่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้แต่อย่างใด หากแต่ผู้เขียนอยากจะพูดถึงเรื่องราวของตัวละครสำคัญที่ผู้เขียนชื่นชอบ และเชื่อเหลือเกินว่า ‘โทนี สตาร์ก’ ชายหนุ่มอัจฉริยะคนนี้ก็เป็นหนึ่งตัวละครในดวงใจของใครอีกหลายคนด้วยเช่นกัน
ย้อนไทม์ไลน์กลับไป โทนี สตาร์ก คือชายผู้เคยมีพร้อมทุกอย่าง และเคยสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างจากคนที่เห็นแก่ตัว กลับกลายมาเป็นคนที่เสียสละตัวเองเพื่อช่วยสรรพชีวิตทั้งจักรวาล
ย้อนกลับไปในปี 2008 กับปฐมบทของจักรวาลมาร์เวลที่มาพร้อมกับเพลงประกอบจังหวะติดหูจากวงเฮฟวีเมทัล Black Sabbath ในภาพยนตร์เรื่อง Iron Man มหาประลัยคนเกราะเหล็ก จุดเริ่มต้นที่ทำให้แฟนๆ ได้รู้จักกับ โทนี สตาร์ก (โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์) เพลย์บอยผู้พรั่งพร้อมไปด้วยทรัพย์สินและมันสมองในระดับอัจฉริยะ ที่ได้รับการสืบต่อกิจการ Stark Industries บริษัทผู้คิดค้นอาวุธยุทโธปกรณ์ล้ำสมัยให้กับสหรัฐอเมริกามาจาก โฮเวิร์ด สตาร์ก ผู้เป็นพ่อที่ได้ก่อร่างสร้างไว้
แต่เหมือนโชคชะตากลั่นแกล้ง เมื่อเขาถูกกลุ่มก่อการร้ายลักพาตัวไปเพื่อบังคับให้สร้างจรวดเจอริโก้ อาวุธทรงอานุภาพที่ตัวเองเป็นคนคิดขึ้น โทนีจึงได้ร่วมมือกับ ยินเซ่น (ฌอน ทูบ) ชายหนุ่มที่ถูกลักพาตัวมาก่อนในการหลบหนี โดยได้สร้างเตาปฏิกรณ์อาร์คบนหน้าอกเพื่อยื้อชีวิตของตัวเอง และสร้างชุดเกราะติดอาวุธจนสามารถหนีออกมาจากน้ำมือของกลุ่มก่อการร้ายได้สำเร็จ โดยต้องแลกกับชีวิตของยินเซ่น
Photo: whatculture.com
แม้จะเป็นพล็อตเรื่องที่ดูซ้ำซากจำเจอยู่บ้างที่ตัวเอกของภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโร่หลายๆ เรื่องต่างมีจุดเริ่มต้นในชีวิตที่ดี แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เหตุการณ์บางอย่างก็มักจะทำให้เขาต้องตกที่นั่งลำบาก จนลุกลามกลายเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพียงแต่ในเคสของโทนีกลับมีความแตกต่างจากตัวเอกเรื่องอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด เพราะเขาเป็นฮีโร่คนหนึ่งที่มีทั้งสีขาวและดำในตัวเองอย่างละเท่าๆ กัน
ในทุกๆ ภาคของ Iron Man เราจะได้เห็นพัฒนาการของโทนีที่มักจะเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากเพลย์บอยที่นอนกับผู้หญิงไม่ซ้ำหน้า แต่เมื่อเขามาพบกับ เป็ปเปอร์ พอตส์ (กวินเน็ธ พัลโทรว์) ที่คอยช่วยเหลือเขาอยู่เสมอ เช่น การรับหน้าที่ดูแลบริษัทแทนโทนีทุกอย่างใน Iron Man 2 และถึงแม้ทั้งคู่จะแง่งอน ทะเลาะกันอยู่เนืองๆ แต่เป็ปเปอร์ก็ยังเป็นห่วงโทนีอยู่ตลอดเวลา จนเรียกได้ว่า ‘เธอ’ เป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญที่เปลี่ยนเแปลงชีวิตของโทนีให้เป็นคนที่ดีขึ้น
Photo: www.syfy.com
อย่างไรก็ตาม เราจะสังเกตได้อย่างชัดเจนจากการกระทำของเขาในหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมาว่า ถึงแม้โทนีจะกลายเป็นฮีโร่ที่ดีขึ้นก็ตาม แต่ตัวเขาก็ยังเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเองสูง หรือมี ‘อีโก้’ ในระดับที่แข็งแกร่งพอๆ กับชุดเกราะ Iron Man ของเขา
ยกตัวอย่างใน Avengers: Age of Ultron (2015) โทนีได้เห็นนิมิตที่พวกพ้องต่างนอนจมกองเลือด ทำให้เขาได้สร้างโปรแกรมอัลตรอน ปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาเป็นกำลังในการปกป้องโลกโดยที่ไม่ได้ถามความคิดเห็นของใคร จนกระทั่งเกิดความผิดพลาด เมื่ออัลตรอนกลับตัดสินใจที่จะทำลายโลกแทนที่จะปกป้อง
รวมถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่จุดแตกหักของทีม Avengers ในภาค Captain America: Civil War (2016) ที่โทนีได้เจอกับแม่ของชายหนุ่มคนหนึ่งที่ตายจากเหตุการณ์โซโคเวีย โดยมีสาเหตุมาจากพวกเขา นั่นทำให้โทนียื่นข้อเสนอสัญญาโซโคเวียต่อกัปตันอเมริกา (คริส อีแวนส์) ที่ให้ทีม Avengers ต้องอยู่ในการควบคุมของสหประชาชาติ และจะได้ไม่เกิดโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก
การตัดสินใจทั้งหมดของเขาต่างมาจากจุดประสงค์หลักคือการช่วยเหลือผู้คน ไม่ได้คิดถึงประโยชน์ส่วนตนก็จริง เพียงแต่เขาเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าความคิดของเขาถูกต้อง และทำตามใจตัวเองโดยไม่คิดถึงความคิดของผู้อื่นจนทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่เป็นดังหวังอยู่เสมอ
Photo: www.indiewire.com
อีกหนึ่งสิ่งที่ตัวละครตัวนี้มีเสน่ห์และแสดงให้เราเห็นว่ามีสีเทาในตัวอย่างชัดเจนคือ บุคลิกปากไม่ตรงกับใจ สังเกตได้อย่างชัดเจนในเหตุการณ์ของ Spider-Man: Homecoming (2017) ที่โทนีพยายามห้ามปราม ปีเตอร์ ปาร์กเกอร์ (ทอม ฮอลแลนด์) ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ร้าย ซึ่งในบางครั้งคำพูดของเขาก็ดูหยาบกระด้าง อีกทั้งยังยึดชุดสไปเดอร์แมนที่เขาทำให้กับปีเตอร์ แต่ในใจลึกๆ ตัวเขาเองกลับเป็นห่วงชีวิตของปีเตอร์มากกว่า
“ถ้าคืนนี้มีใครตายล่ะ มันจะเป็นคนละเรื่อง นั่นเป็นตราบาปของนาย และถ้านายตายก็จะเป็นตราบาปของฉัน”
รวมถึงอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญใน Avengers: Endgame (2019) กัปตันอเมริกาสามารถหาหนทางที่จะชุบชีวิตคนที่ตายจากฝีมือของธานอส (จอช โบรลิน) ด้วยการย้อนเวลากลับไปยังอดีตเพื่อนำอัญมณีทั้ง 6 กลับมา เขาจึงต้องเดินทางไปหาโทนีเพื่อขอความช่วยเหลือ เพียงแต่ในตอนนั้นโทนีกำลังใช้ชีวิตแบบคนปกติสุขกับครอบครัวที่เขาใฝ่ฝันอยากจะมี เขาจึงปฏิเสธที่จะช่วยชีวิตผู้อื่นและเลือกที่จะอยู่อย่างสงบ แต่สุดท้ายเขาก็แอบคิดค้นวิธีการย้อนเวลาได้ในที่สุด
แน่นอนว่าการที่โทนีอยากจะปิดตาหนึ่งข้างแล้วมองข้ามชีวิตของคนครึ่งจักรวาลที่ได้กลายเป็นฝุ่นผงไปแล้ว อาจเป็นความคิดที่ดูเห็นแก่ตัวอยู่บ้าง
แต่ถ้าย้อนมองในแง่มุมของมนุษย์คนหนึ่ง การที่ได้ใช้ชีวิตสงบอยู่กับครอบครัว เมีย และลูก หลังจากเสี่ยงตาย ผ่านศึกสงคราม และพลัดพรากจากทุกสิ่งที่รักและผูกพันมานาน ถ้าเป็นเราก็คงจะเข็ดขยาดและคิดว่าคงได้เวลาพักเสียที และหน้าที่ของ ‘ฮีโร่’ นั้นบางครั้งมันก็หนักหนาเสียจนอยากจะวางมันจากหัวไหล่ เพื่อที่จะกลายเป็นเพียงฮีโร่ธรรมดาๆ ในสายตาของลูกสาวก็เพียงพอแล้ว
Photo: www.vulture.com
Photo: www.denofgeek.com
ใครที่ดู Avengers: Endgame มาแล้วคงพอจะทราบแล้วว่าจุดจบของฮีโร่คนเกราะเหล็กผู้นี้จบลงเช่นไร ขณะเดียวกันผู้เขียนก็เชื่อว่าคงจะมีคนจำนวนมากต้องเสียน้ำตาให้กับการจากไปของเขา ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ผู้คนทั่วโลกต่างหลงรักตัวละครที่ชื่อ โทนี สตาร์ก คือการที่เขาเป็นฮีโร่เทาๆ คนหนึ่งเฉกเช่นเดียวกับเราทุกคนที่ต่างมีด้านที่ดี (ขาว) และไม่ดี (ดำ) รวมอยู่ด้วยกัน ดังนั้นตัวละครตัวนี้ถึงสามารถเข้าถึงจิตใจของผู้ชมได้ดี
ถึงแม้ภายใต้เกราะเหล็กโทนีอาจจะไม่ได้เพียบพร้อมใฝ่คุณธรรมอย่างกัปตันอเมริกา ไม่ได้มีพลังอำนาจมากล้นเหมือนธอร์ และไม่ได้หนังเหนียวเหมือนฮัค แต่สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ โทนี สตาร์ก ได้แสดงให้ผู้ชมได้เห็นว่า แม้แต่ฮีโร่อย่างเขาเองก็ยัง ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ เขาเป็นเพียงแค่ ‘คนธรรมดาๆ’ ที่เคยหลงทาง เคยผิดพลาด และมีความกลัวในจิตใจเหมือนๆ กัน
เพียงแต่เขาก็ค่อยๆ เรียนรู้และเติบโตขึ้น จนสามารถพูดชื่อฮีโร่ของตัวเองได้อย่างภาคภูมิ เหมือนในภาคแรกที่เขาบอกให้ทุกคนได้รู้ว่า
“ผมคือ Iron Man”
Photo: pursuenews.com
Photo: ifanboy.com
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า