จะเรียกว่าใจตรงกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ สำหรับกรณีของเฟซบุ๊กที่เตรียมถูกหน่วยงานใน 3 ประเทศ ประกอบด้วย แคนาดา ไอร์แลนด์ และสหรัฐฯ เดินหน้ายื่นตรวจสอบความผิดฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันด้วยกรณีปัญหาที่ไม่ซ้ำกัน
เริ่มต้นที่แคนาดา สำนักงานคณะกรรมการความเป็นส่วนตัวของประเทศ (Privacy Commissioner) เตรียมเดินหน้าสอบสวนเฟซบุ๊กฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งาน จากกรณีที่แอปฯ ทายใจ Cambridge Analytica แอบดึงข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้งานกว่า 87 ล้านรายไปเมื่อปี 2013 ก่อนถูกเปิดโปงเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ในจำนวนนี้มีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กชาวแคนาดากว่า 600,000 รายที่ได้รับผลกระทบ
แดเนียล เธอร์เรียน กรรมาธิการสำนักงานความเป็นส่วนตัวของแคนาดา เปิดเผยถึงสาเหตุที่เดินหน้าฟ้องร้องเอาผิดเฟซบุ๊กว่ามาจากการที่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายนี้ทราบถึงปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ตั้งแต่เกิดเรื่องในช่วงแรกๆ แต่กลับปล่อยปละละเลย ไม่รีบดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาเพื่อให้เฟซบุ๊กเปลี่ยนวิธีการดำเนินการและให้บริการเสียใหม่ให้ระมัดระวังและคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานมากขึ้น
ด้านหน่วยงานคุ้มครองข้อมูลไอร์แลนด์ (Irish Data Protection Authority) จะเปิดฉากสอบสวนเฟซบุ๊กจากกรณีที่บันทึกข้อมูลของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมกว่าร้อยล้านรายบนเซิร์ฟเวอร์แบบไม่ได้เข้ารหัส โดยจะดำเนินการภายใต้กฎหมายคุ้มครองข้อมูล GDPR ของสหภาพยุโรป และหากพบการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมายจริง เฟซบุ๊กอาจจะถูกปรับเป็นจำนวนเงินกว่า 4% ของรายได้รวมทั้งปีของบริษัท หรือประมาณ 2,233 ล้านเหรียญสหรัฐเลยก็ว่าได้ (รายได้รวมทั้งปี 2018 ของเฟซบุ๊กอยู่ที่ 55,838 ล้านเหรียญสหรัฐ)
ส่วนกรณีสุดท้ายเป็นรายของสำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐนิวยอร์กที่เตรียมจะยื่นเรื่องสอบสวนเฟซบุ๊กจากกรณีที่พบว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายนี้พลาดอัปโหลดชื่ออีเมลผู้ใช้งานมากกว่า 1.5 ล้านรายเข้าสู่ระบบโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต และเพิ่งเป็นข่าวเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา และเชื่อกันว่าข้อมูลของกลุ่มผู้ใช้งานที่ได้รับผลกระทบถูกนำไปใช้งานเพื่อประโยชน์ด้านอัลกอริทึมในการยิงโฆษณาแบบกำหนดเป้าหมาย
เลทิเทีย เจมส์ อัยการสูงสุดของนิวยอร์ก เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ว่า “เฟซบุ๊กได้กระทำความผิดที่แสดงให้เห็นถึงการขาดความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะต้องแสดงความรับผิดชอบสำหรับวิธีการเก็บข้อมูลส่วนตัวผู้ใช้”
แม้ปีนี้ประเด็นความผิดพลาดของเฟซบุ๊กกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวข้อมูลผู้ใช้อาจจะไม่ร้ายแรงในระดับเดียวกันกับกรณีของ Cambridge Analytica แต่ตั้งแต่เริ่มต้นปี 2019 ที่ผ่านมา เรายังคงเห็นข่าวของพวกเขาในประเด็นนี้ออกมาให้เห็นเรื่อยๆ การที่หน่วยงานในหลายประเทศเตรียมเดินหน้าสอบสวนพวกเขาเช่นนี้ก็อาจจะทำให้เฟซบุ๊กต้องเปลี่ยนท่าทีหรือปรับนโยบายบังคับใช้ในด้านนี้อย่างจริงจังมากขึ้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- techcrunch.com/2019/04/25/facebook-privacy-investigations/
- www.theguardian.com/technology/2019/apr/25/facebook-privacy-rules-broken-canada-watchdog-claims?CMP=fb_a-technology_b-gdntech
- www.nytimes.com/2019/04/25/technology/facebook-new-york-attorney-general-investigation.html
- www.engadget.com/2019/04/25/canada-facebook-privacy-laws-cambridge-analytica