เอาเป็นว่า ไม่ว่าใครจะนับว่ามากหรือน้อยแค่ไหน ถือเป็นการสปอยล์หนังหรือเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่องหรือไม่และอย่างไร ชื่อหนัง Avengers: Endgame ผลงานกำกับของสองพี่น้องรุสโซก็บอกตัวมันเองอย่างโทนโท่ว่า นี่คือตอนจบหรือบทสรุปของอภิมหาตำนานปกป้องจักรวาลและโลกของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ (นับจำนวนไม่ถ้วน) ที่คนทำหนังอุตส่าห์ปลุกปั้นและฟูมฟักมายาวนาน สิริแล้วกินเวลา 11 ปี ประกอบไปด้วยหนังในเครือข่ายจักรวาลมาร์เวลทั้งสิ้น 22 เรื่อง
และก็อย่างที่รู้กันว่า Avengers: Endgame เป็นตอนต่อโดยตรงจาก Avengers: Infinity War (2018) สิ่งที่อนุมานได้ไม่ยากก็คือ ภารกิจสำคัญของหนังเรื่อง Avengers: Endgame ย่อมหนีไม่พ้นการสานต่อเนื้อหาของตอนก่อนหน้าที่จบลงอย่างชนิดที่แทบไม่หลงเหลือความหวังใดๆ ให้กับผู้ชม
บรรยายสรุปอย่างย่นย่อ เหล่าซูเปอร์ฮีโร่ทั้งทีมอเวนเจอร์สและทีมกัปตันอเมริกา (ซึ่งบาดหมางในเชิงอุดมการณ์ในตอน Captain America: Civil War) ลงเอยด้วยความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป หัวหน้าทีมอย่าง โทนี สตาร์ก กำลังเผชิญวาระสุดท้ายของตัวเองนอกโลก แม่ทัพนายกองหลายคนต้องกลายสภาพเป็นเถ้าธุลี เนื่องจากพลังจากการ ‘ดีดนิ้ว’ ของ ธานอส จอมวายร้ายเจ้าของถุงมือมหาประลัย ซึ่งประดับประดาไว้ด้วยอัญมณีครองพิภพทั้ง 6 ก้อน หรือหากจะพูดให้ครบถ้วน ไม่ใช่เพียงแค่เหล่าซูเปอร์ฮีโร่ราวๆ ครึ่งค่อนที่มอดม้วยมรณา แต่ครึ่งหนึ่งของสรรพชีวิตในระบบกาแล็กซีก็ต้องพลอยล้มหายตายจากไปด้วย จากแนวนโยบายอันเลือดเย็นและโหดเหี้ยมของจอมเผด็จการธานอส ผู้ซึ่งมองว่านั่นเป็นหนทางเดียวที่จะพิทักษ์รักษาให้จักรวาลกลับคืนสู่ความสมดุลและอยู่รอด
พูดง่ายๆ ในแง่ของการเล่าเรื่อง Avengers: Endgame ไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากเก็บชิ้นส่วนที่หักพังและแตกร้าวจากภาคก่อนหน้า และค่อยๆ นำมาประสานให้เข้ารูปเข้ารอย และในขณะที่การเริ่มต้นเอ่ยถึงเนื้อหาของหนังเรื่อง Avengers: Endgame สุ่มเสี่ยงต่อข้อกล่าวหาว่าเฉลยปมหรือจุดหักเหสำคัญของเรื่อง ว่ากันตามจริง แท็กติกและวิธีการที่คนทำหนังพาเหล่าตัวละครออกไปจากมุมอับในช่วงท้ายของตอนก่อนหน้า และเป็นจุดเริ่มต้นของตอนนี้ นอกจากไม่ได้เป็นของแปลกใหม่ ยังเป็นลูกเล่นเดียวกันกับหนังเกรดบีแนว Cliffhanger ในช่วงทศวรรษ 1950 ไม่มีผิดเพี้ยน
หรือระบุให้แจ้งชัดอีกนิด จุดเริ่มต้นเนื้อหาของ Avengers: Endgame ไม่ได้มีสถานะเป็นความลับเท่ากับเซอร์ไพรส์ ซึ่งว่าไปแล้วผู้สร้างก็ทิ้งเงื่อนงำเอาไว้ใน End Credit ของตอนที่แล้วพอสมควร และน่าเชื่อว่าไม่ได้เป็นเรื่องเหนือความคาดหมายสำหรับเหล่าสาวกมาร์เวลสักเท่าไร แต่ว่ากันตามจริง คนทำหนังต้องทำอะไรสักอย่างอยู่แล้วเพื่อให้เรื่องดำเนินไปต่อได้ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่ามันดูแนบเนียนและสมเหตุสมผล หรือว่าเป็นเพียงแค่การหักหลังคนดูอย่างหน้าไม่อาย ซึ่งในกรณีของ Avengers: Endgame ก็คงต้องบอกว่าคนทำหนังสามารถเอาตัวรอดไปได้อย่างลอยนวล
อีกเรื่องหนึ่งที่มีคนพูดถึงกันมากก็คือ ความยาวของหนังที่กินเวลาฉาย 3 ชั่วโมงกับอีก 1 นาที ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เนิ่นนานเป็นพิเศษสักเท่าใด แต่ที่น่าทึ่งและกล่าวได้ว่า เป็นอะไรที่เหมือนกับไม่เคยปรากฏอย่างเป็นกิจจะลักษณะมาก่อนก็คือ หนังไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับการเดินเรื่องที่เต็มไปด้วยรายละเอียดยุ่บยั่บ ตลอดจนให้น้ำหนักกับฉากต่อสู้อย่างบ้าคลั่งและวินาศสันตะโรเพียงลำพัง ซึ่งพูดอย่างแฟร์ๆ มันก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ตามประสาหนังที่เต็มไปด้วยตัวละครเป็นสิบๆ ทว่าจังหวะจะโคนในการถ่ายทอด โดยเฉพาะราวๆ ชั่วโมงแรกดำเนินไปอย่างไม่รีบเร่ง และลงทุนกับเวลาที่ผ่านพ้นไปในแง่ที่ค่อยๆ โน้มน้าวชักจูงให้ผู้ชมได้สัมผัสถึงเลือดเนื้อ ตลอดจนความมีชีวิตของตัวละคร นั่นรวมถึงภาวะ PTSD หรือหดหู่ซึมเศร้าของบางคนหลังจากผ่านโศกนาฏกรรม และมันช่วยให้หนังมีทั้งมิติ ตลอดจนความหลากหลายมากขึ้น เมื่อเทียบกับตอนอื่นๆ ที่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เราได้เห็นด้านเหล่านี้ของตัวละคร อีกทั้งเมื่อถึงเวลาต้องเก็บเกี่ยวดอกผลทางอารมณ์ในช่วงราวๆ ครึ่งชั่วโมงท้าย มันก็ไม่ได้เป็นเพียงแค่การบิลด์หรือการกระตุ้นเร้าอย่างซึ่งๆ หน้า และผู้ชมรู้สึกว่านี่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างเรากับตัวละครที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขมาด้วยกัน และเป็นห้วงเวลาแห่งความรู้สึกอาลัยอาวรณ์
แต่จริงๆ แล้วไม่จำเพาะส่วนของดรามาติกของหนังที่ได้รับการขยับขยายอย่างเป็นรูปธรรม ความฉลาดของหนังเรื่อง Avengers: Endgame โดยเฉพาะในแง่ของการวางกรอบการเล่า ยังชักชวนผู้ชมและรวมถึงเหล่าสาวกผู้จงรักภักดี ได้ย้อนอดีตและหวนกลับไปรำลึกความหลังด้วยกัน และในขณะที่ผู้ชมที่โคจรอยู่นอกระบบสุริยะจักรวาลของมาร์เวลอาจจะต่อไม่ติดและเข้าไม่ถึง หรือแม้กระทั่งรู้สึกว่ามันกินเวลาของหนังเยอะเกินไป การรื้อฟื้นช่วงเวลาสำคัญต่างๆ ของตอนที่อยู่ก่อนหน้า ซึ่งหลายๆ ฉากผ่านการรับรู้ของเรามาแล้ว ไม่เพียงเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้พบหน้าค่าตาบรรดาตัวละครที่ในห้วงเวลาปกติ เราคงจะไม่ได้เห็นการมารวมตัวอย่างคับคั่งขนาดนี้ (ส่วนตัวแล้วมีอยู่ 2 คนเป็นอย่างน้อยที่นึกไม่ถึงว่าจะได้เห็นในหนังเรื่อง Avengers: Endgame คนหนึ่งก็คือ เรเน่ รุสโซ ผู้ซึ่งแฟนๆ คงพอจำได้ว่าเธอคือแม่ผู้ล่วงลับของธอร์ อีกคนได้แก่ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยชิลด์ และโดยปริยาย รายชื่อของนักแสดงที่เกี่ยวข้องกับมหากาพย์อันยืดยาวนี้ครอบคลุมตั้งแต่รุ่นลายครามจนถึงรุ่นที่เกิดก่อนมิลเลนเนียมไม่นาน) ลูกเล่นดังกล่าวยังเป็นเสมือนการตอกย้ำถึงความเป็นตำนานที่ย้อนกลับไปยาวไกล หรือหากจะขยายความต่ออีกนิด โมเมนต์ต่างๆ เหล่านี้มีส่วนเพิ่มเติมปมขัดแย้งให้กับตัวละครในการเลือกระหว่างภารกิจเพื่อส่วนรวมหรือส่วนตัว
ไม่ว่าจะอย่างไร มีตัวละครหนึ่งที่น่าเอ่ยถึงเป็นพิเศษ นั่นคือ ธานอส (จอช โบรลิน) บทบาทของตัวละครนี้ใน Avengers: Endgame ไม่ได้มากมายนักเมื่อเทียบกับ Avengers: Infinity War ซึ่งเจ้าตัวมีสถานะเป็นเหมือนตัวชูโรง กระนั้นก็ตาม รังสีอำมหิตของเขาก็ยังคงแผ่ซ่านปกคลุม และความโดดเด่นอย่างที่สุดของตัวละครนี้ไม่ใช่ความกราดเกรี้ยวดุดันตามประสาตัวร้ายของหนังซูเปอร์ฮีโร่ ตรงกันข้าม บุคลิกของธานอสดูเป็นคนเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ซึ่งน่าเชื่อว่าเป็นผลพวงจากการต้องพบเจอกับความสูญเสียก่อนหน้า และความมุ่งมาดปรารถนาของเขาก็เป็นดังที่เอ่ยถึงข้างต้น ลดจำนวนประชากรลงครึ่งหนึ่งเพื่อให้จักรภพดำรงอยู่ต่อไป
มองในแง่มุมหนึ่ง ธานอสก็ไม่แตกต่างจาก พอล พต ผู้นำเขมรแดงที่อยู่เบื้องหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และจัดระบบระเบียบสังคมด้วยวิธีการแบบขวานผ่าซากและเถรตรง ทว่าส่วนที่ชวนให้ครุ่นคิดจริงๆ ก็คือ ทั้งหลายทั้งปวงในพฤติการณ์ของธานอสตั้งอยู่บนความปรารถนาดี และการดีดนิ้วของเขาที่นำพาให้สรรพสิ่งปลิดปลิวกลายเป็นผุยผง ถือเป็นการสงเคราะห์ให้สิ่งมีชีวิตตาดำๆ เหล่านั้นหลุดพ้นจากความทุกข์ร้อน ไม่ใช่ความอาฆาตมาดร้าย อีกทั้งในตอนที่ผู้ชมได้พบกับธานอสอีกครั้ง เขาก็ไม่ได้เผด็จอำนาจเอาไว้ในมือ (ทั้งๆ ที่เขาก็มีกองกำลังของตัวเอง) และดำเนินชีวิตอย่างสมถะและเรียบง่าย เราถึงกับได้เห็นเขาเก็บเกี่ยวพืชผลที่ตัวเองปลูกข้างๆ กระท่อมมาปรุงอาหาร
แน่นอนว่าวิธีการของธานอสเป็นเรื่องที่เห็นด้วยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้กรอบคิดแบบมนุษยนิยม ซึ่งเป็นเหมือนอุดมการณ์ทางการเมืองของหนังทั้งซีรีส์ แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจปฏิเสธมุมมองของธานอสในแง่ที่ว่า หากไม่มีใครทำอะไรสักอย่าง จำนวนประชากรที่ล้นจักรวาลก็จะนำไปสู่การแย่งชิงและสวาปามทรัพยากรซึ่งมีอยู่จำกัด และเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะถึงกัลปาวสานอยู่ดี และโดยที่ไม่ต้องดีดนิ้วให้เสียแรง จนกระทั่งถึงตรงนี้ ผู้ชมก็คงสังหรณ์ได้แล้วว่าประเด็นปัญหาในหนังเรื่องนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกเสกสรรค์ปั้นแต่ง และมันอิงแอบอยู่กับโลกความเป็นจริง และในขณะที่เป็นเรื่องที่ประมวลได้ไม่ยากว่าถึงที่สุดแล้ว ชะตากรรมของธานอสจะเป็นเช่นใด ทว่าปัญหาประชากรล้นจักรวาลก็ยังคงเป็นเรื่องที่ถูกปล่อยทิ้งไว้อย่างค้างคาทั้งในโลกของซูเปอร์ฮีโร่และโลกของความเป็นจริง
ดังที่กล่าว ธานอสไม่ใช่ตัวเดินเรื่องหลักในหนังเรื่อง Avengers: Endgame และถ้าหากจะมีใครสามารถอ้างความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของหนังเรื่องนี้อย่างเต็มภาคภูมิ ก็คงหนีไม่พ้น โทนี สตาร์ก (โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์) ซึ่งว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง เมื่อคำนึงว่าขบวนการซูเปอร์ฮีโร่ที่งอกงามและเบ่งบานจนถึงตรงนี้มีหนังเรื่อง Iron Man เป็นเสมือนจุดเริ่มต้น และ โทนี สตาร์ก ก็น่าจะเป็นตัวละครที่ผู้ชมผูกพันมากกว่าเพื่อน ทั้งในสถานะของการเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ตลอดจนบุคลิกที่ช่างฉูดฉาดบาดตา โดยเฉพาะในความเป็นคนยียวนกวนประสาท หลายครั้งหลายครายึดถือตัวเองเป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งทั้งปวง และคนดูมองเห็นทั้งความดื้อรั้นและดันทุรัง แต่ก็นั่นแหละ ไม่มีใครตั้งคำถามถึงความปรารถนาดีของตัวละคร แต่บางทีอะไรก็อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการแสดงอย่างเข้าถึงบทบาทของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ที่ทำให้ในท้ายที่สุดแล้วคนดูแทบจะไม่สามารถแยกแยะตัวละครออกจากนักแสดง
พิจารณาจากสถานะของการเป็นตอนสุดท้ายของแฟรนไชส์ ซึ่งถูกเรียกร้องให้ต้องทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน ตั้งแต่การหาทางออกให้กับปมปัญหาของเรื่อง การกระจายบทให้ตัวละครซึ่งมีจำนวนมากได้มีเวลาและพื้นที่ของตัวเอง ไปจนถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รำ่ลาบรรดาตัวละครที่อุตส่าห์คลุกคลีมาร่วมสิบปี แถมด้วยในระหว่างนี้ คนทำหนังก็ยังต้องคอยหยอดมุกตลกสลับกับการสอดแทรกแง่มุมดราม่าเข้ามาเพื่อให้หนังมีจังหวะจะโคนขึ้นลงที่น่าติดตาม และนั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงฉากแอ็กชันที่เป็นหัวใจสำคัญของหนังมาตั้งแต่ต้น โดยปริยาย Avengers: Endgame เป็นหนังที่หลีกเลี่ยงภาวะอุ้ยอ้ายและเทอะทะได้ลำบากยากเย็น
ส่วนที่น่าทึ่งก็คือ หนังสามารถจัดการกับเงื่อนไขและข้อเรียกร้องต่างๆ ที่พ่วงมาจากตอนก่อนหน้าได้อย่างเข้มข้น รัดกุม แนบเนียน แยบยล (หรือรายละเอียดที่รุ่มร่ามนิดๆ หน่อยๆ ก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้) และก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างเป็นตัวของตัวเองและอันหนึ่งอันเดียวกัน ระยะเวลา 3 ชั่วโมงกับ 1 นาทีของหนังผ่านพ้นไปราวกับติดปีกโบยบิน เหนืออื่นใด นี่เป็นหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่สามารถใช้คำว่าซาบซึ้งตื้นตัน และน่าเชื่อว่าคนดูจำนวนไม่น้อยน่าจะเดินออกจากโรงหนังด้วยความรู้สึกห่วงหาอาทร
Avengers: Endgame (2019)
กำกับ: แอนโทนี รุสโซ, โจ รุสโซ่
ผู้แสดง: โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์, คริส เฮมส์เวิร์ธ, มาร์ก รัฟฟาโล, สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน ฯลฯ
ตัวอย่างภาพยนตร์
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า