×

10 เรื่องควรรู้ หลังอินโดนีเซียเปิดฉากการเลือกตั้งทั่วไป 2019

17.04.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • อินโดนีเซียเปิดฉากเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 17 เมษายน 2019 ซึ่งจะชี้ชะตาว่า โจโก วีโดโด หรือโจโกวี จะได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยหรือไม่ ขณะที่คู่แข่งคนสำคัญของเขาคือ ปราโบโว ซูเบียนโต อดีตบุตรเขยของ อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ซึ่งขอท้าชิงอีกครั้ง
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม แห่งศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจ 10 ข้อ ที่จะทำให้เราเข้าใจการเมืองของอินโดนีเซียได้ดียิ่งขึ้น ก่อนที่เราจะทราบผลการเลือกตั้งในอีกไม่ช้านี้

วันที่ 17 เมษายน ปี 2019 เป็นวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปของประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งในมิติขนาดพื้นที่ จำนวนประชากร และขนาดเศรษฐกิจ นั่นคือ ประเทศอินโดนีเซีย

 

 

เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์การเมืองและพัฒนาการทางการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียนแห่งนี้ ผมขอนำเสนอ 10 ประเด็นสั้นๆ ที่จะทำให้เราเข้าใจอินโดนีเซียมากขึ้น

 

1. อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และทำหน้าที่ปกครองประเทศ โดยแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 31 จังหวัด (Provinsi), 2 เขตปกครองพิเศษ (Daerah Istimewa ได้แก่ อาเจะห์ และยอกยาการ์ตา) และ 1 เขตนครหลวงพิเศษ (Daerah Khusus Ibukota นั่นคือ กรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ) โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการเลือกสมาชิกสภาที่ปรึกษาประชาชน (People’s Consultative Assembly, Majelis Permusyawaratan Rakyat: MPR) จำนวน 711 ที่นั่ง โดยแบ่งประเภทสมาชิกออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่

 

  • สภาผู้แทนราษฎร (People’s Representative Council, Dewan Perwakilan Rakyat: DPR) จำนวน 575 ที่นั่ง หน้าที่หลักของ DPR คือ นิติบัญญัติ ออกกฎหมาย อนุมัติงบประมาณ และกำกับดูแลการทำงานของรัฐบาล จะมีวาระการทำงาน 5 ปี โดยจำนวนสมาชิกจะขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัด ดังนั้น จังหวัดที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนมากก็จะมี ส.ส. ในรูปแบบนี้มาก โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่บนเกาะชวาที่มีประชากรหนาแน่น อันได้แก่ กรุงจาการ์ตา, ชวากลาง (เซอมารัง), ชวาตะวันออก (ซูราบายา), ชวาตะวันตก (บันดุง), บันเติน และยอกยาการ์ตา

 

  • สภาผู้แทนระดับภูมิภาค (Regional Representative Council, Dewan Perwakilan Daerah: DPD) จำนวน 136 ที่นั่ง มีหน้าที่ในการเสนอและให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจสู่ภูมิภาค ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดิน การบริหารจัดการระบบราชการ เช่น ระบบการจัดเก็บภาษี การปกครองที่เกี่ยวข้องกับภูมิภาคและระดับจังหวัด เช่น การยุบ รวม แยก จังหวัดต่างๆ มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลจัดการศึกษาในระดับภูมิภาค ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายตามลักษณะภูมิศาสตร์ของประเทศที่เป็นเกาะจำนวนมาก รวมทั้งควบคุมดูแลกิจการด้านศาสนา ในอดีตสมาชิก DPD จะมาจากการแต่งตั้ง โดยเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพต่างๆ แต่มีการเปลี่ยนแปลงหลังปี 2004 ให้สมาชิก DPD มาจากการเลือกตั้ง โดยแต่ละจังหวัดจะมีสมาชิก DPD ได้จังหวัดละ 4 คน ไม่ว่าจังหวัดนั้นๆ จะมีจำนวนประชากรมากหรือน้อยเพียงใด เพื่อให้อย่างน้อยจังหวัดขนาดเล็กที่มีจำนวนประชากรต่ำมีสิทธิเท่าเทียมกับจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ เพราะต้องอย่าลืมว่า ประเทศอินโดนีเซียมีประชากรมากกว่า 261 ล้านคน ก็จริง แต่มากกว่า 140 ล้านคน กระจุกตัวอยู่ที่เกาะชวาเพียงเกาะเดียว และบนเกาะชวาก็มีเพียง 4 จังหวัด 1 เขตปกครองพิเศษ และเมืองหลวงจาการ์ตา ในขณะที่เกาะอื่นๆ อีกมากกว่า 18,000 เกาะ ในบางจังหวัดก็มีประชากรอาศัยอยู่เบาบางมาก

 

ทั้ง 2 สภา เมื่อประชุมร่วมกันจะเรียกว่า MPR เพื่อทำหน้าที่ในกรณีสำคัญๆ ในทางนิติบัญญัติ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแต่งตั้ง ถอดถอนประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี

 

 

2. พรรคที่สามารถเสนอตัวแทนลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีต้องมีคุณสมบัติ 1 ใน 2 ประการ นั่นคือ เป็นพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. ใน DPR จำนวนมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวน ส.ส. ประเภท DPR ทั้งหมด นั่นคือ มี ส.ส. 115 ที่นั่ง จาก 565 ที่นั่ง หรือเป็นพรรคที่ได้รับการเลือกจากประชาชนมากกว่าร้อยละ 25 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง (25% of Popular Vote) จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2014

 

นั่นทำให้ในการเลือกตั้งครั้งนี้มี 2 พรรค ที่มีสิทธิเสนอผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ได้แก่ โจโก วีโดโด ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของอินโดนีเซีย จากพรรค PDI-P ซึ่งมีอดีตประธานาธิบดีหญิง เมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี เป็นหัวหน้าพรรค และผู้ท้าชิง ซึ่งในความเป็นจริงก็แข่งขันกันมาแล้วอย่างหวาดเสียวในการเลือกตั้งปี 2014 นั่นคือ นายพลปราโบโว ซูเบียนโต หัวหน้าพรรค Gerinda โดยในการเลือกตั้งปี 2014 พรรค PDI-P ได้ ส.ส. จำนวน 109 ที่นั่ง ในขณะที่ Gerindra ได้ ส.ส. จำนวน 73 ที่นั่ง

 

3. การเลือกตั้งครั้งที่แล้วในปี 2014 ถือเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกองทัพและระบอบเก่าของ อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต ล้มเหลวและพ่ายแพ้การเลือกตั้ง นายพลปราโบโว ซูเบียนโต คืออดีตลูกเขยของ อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต (เขาแต่งงานกับ ทิเทียก ซูฮาร์โต ในปี 1993 และหย่าในปี 1998) และเป็นนายทหารระดับสูงที่คุมกำลังในการปราบปรามขบวนการนักศึกษาในปี 1998 เพื่อรักษาระบอบซูฮาร์โต)

 

ดังนั้น หากการเลือกตั้งครั้งนี้ นายพลปราโบโวไม่สามารถชิงตำแหน่งประธานาธิบดีมาจาก โจโก วีโดโด ได้ นั่นก็เท่ากับว่า การปฏิรูปการเมืองที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนานของประเทศอินโดนีเซียในการที่จะพยายามกีดกันและลดบทบาทของกองทัพให้มีบทบาททางการเมืองลดลงหรือไม่มีอีกเลย ซึ่งกระบวนการนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1998 ภายใต้การปฏิรูปของ อดีตประธานาธิบดีฮาบีบี จนมาเสร็จสิ้นกระบวนการในช่วงของ อดีตประธานาธิบดีซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน (SBY) ในช่วงปี 2004-2014 ได้ประสบความสำเร็จแล้วอย่างสมบูรณ์

 

 

4. อินโดนีเซีย คือประเทศที่มีประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาคือ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการเมืองที่มีกองทัพเป็นฝ่ายชี้นำ แน่นอน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เริ่มต้นตั้งแต่การเข้ามาของมหาอำนาจตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกสหรือฮอลันดา ซึ่งต่างก็เข้ามาพร้อมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมลายู ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ ไม่ให้มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะสามารถต่อต้านเจ้าอาณานิคมได้ ต่อมา เมื่อถึงช่วงเวลาก่อนการปะทุของสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นที่ต้องการทรัพยากรมหาศาลของอินโดนีเซีย ก็เข้ายึดประเทศพร้อมกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันอีกรอบ

 

แม้เมื่อประเทศได้รับเอกราชจากเนเธอร์แลนด์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นายพลซูการ์โน วีรบุรุษผู้เรียกร้องเอกราช ก็มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายชาตินิยมร่วมกับการสร้างกองทัพที่แข็งแกร่ง ซูการ์โนเชื่อในระบอบประชาธิปไตยแบบชี้นำ และมีความเป็นอำนาจนิยมอยู่ในตนเอง ก็เริ่มการสร้างกองทัพที่เข้มแข็ง พร้อมกับการยึดกิจการของเอกชนเข้ามาเป็นกิจการของรัฐ (Nationalization) โดยข้ออ้างด้านความมั่นคง และสั่งการให้เครือข่ายของนายทหารเข้ามาควบคุมดูแลกิจการของรัฐวิสาหกิจเหล่านี้

 

5. ประเด็นทางด้านความมั่นคงของประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ ที่ต้องการสร้างกองทัพที่เข้มแข็ง และควบคุมระบบเศรษฐกิจ ท่ามกลางการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเย็น ทำให้มีการตั้งข้อหากับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เกิดการอุ้ม การฆ่ากัน ภายในประเทศอีกรอบ และเมื่อเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นต่อเนื่อง นายทหารรุ่นหนุ่มที่มองไม่เห็นว่าภายใต้การครอบงำของเหล่านายทหารรุ่นพี่แบบนี้ ตนเองจะมีอนาคตได้อย่างไร นั่นจึงทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นของนายทหารรุ่นใหม่

 

และในทหารรุ่นใหม่ที่เป็นผู้นำการรัฐประหารก็คือ ซูฮาร์โต

 

หลังการรัฐประหาร ผู้นำรัฐประหารก็ประกาศอย่างชัดเจนว่า ต่อไปนี้กองทัพต้องมี 2 หน้าที่ 1. ป้องกันประเทศ และ 2. เข้ามาสร้างความมั่นคง ทั้งในภาคการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ การอุ้มฆ่าศัตรูที่ได้รับการตราหน้าว่าเป็นคอมมิวนิสต์ยังคงดำเนินต่อไป ไม่ต่างจากในอดีต มีการคาดการณ์ว่า ประชาชนอินโดนีเซียร่วมล้านคนเสียชีวิตจากการปราบคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ แต่ที่เพิ่มเติมคือ การออกกติกาให้นายทหารระดับสูงเป็นตัวแทนของกองทัพเข้าไปมีที่นั่งในรัฐสภาได้โดยไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ในขณะที่การสัมปทานและสิทธิพิเศษจำนวนมหาศาลในทางเศรษฐกิจก็ถูกส่งมอบให้กับเครือข่ายของญาติ พี่น้อง และเพื่อนฝูงของซูฮาร์โต และนายทหารในกองทัพ

 

ระบบที่กดทับเช่นนี้ แน่นอน มันทำให้คนที่คิดต่างไม่เกิดขึ้น การสร้างอัตลักษณ์อินโดนีเซียจากประเทศที่มีเงื่อนไขภูมิศาสตร์ที่ห่างไกล เงื่อนไขทางมนุษยศาสตร์ที่มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ หลากหลายภาษาและวัฒนธรรม สามารถหลอมรวมกันได้ก็จริง แต่ก็เป็นอัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นและบังคับใช้จากส่วนกลางที่มาพร้อมกับปลายกระบอกปืน ทุกสิ่งอย่างรวมศูนย์กันอยู่ที่จาการ์ตาและเกาะชวา (ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้เขียนอธิบายตอนต้นว่า กว่า 140 ล้านจากประชากรมากกว่า 261 ล้านคน ล้วนกระจุกตัวอยู่บนเกาะเกาะเดียว)

 

 

6. วิกฤตการณ์การเงินเอเชียปี 1997 (1997 Asian Financial Crisis) คือตัวเร่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้สังคมที่เปราะบางภายใต้การรวมศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองในระบอบซูฮาร์โตล้มลงในปี 1998 การประท้วงต่อต้านเริ่มขึ้นจากภายในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งตามกฎหมายอินโดนีเซียอนุญาตให้มีการชุมนุมในพื้นที่มหาวิทยาลัยได้ แต่ห้ามการชุมนุมบนท้องถนน แต่แล้วการชุมนุมในมหาวิทยาลัยก็รุนแรงขึ้น จนนักศึกษาที่ชุมนุมกันภายในบริเวณ Trisakti University เริ่มเดินออกไปประท้วงบนท้องถนนในวันที่ 12 พฤษภาคม 1998 และกองทัพก็เริ่มล้อมปราบโดยใช้อาวุธ เหตุการณ์ครั้งนั้นถูกเรียกว่า Tragedi Trisakti (Trisakti Tragedy) ซึ่งมีนักศึกษาเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 4 ราย บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

 

และนั่นทำให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมา เพราะทนไม่ได้แล้วกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากวิกฤต ประกอบกับการที่ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจถูกผูกขาดอยู่รอบๆ เครือข่ายของนายพลซูฮาร์โต จลาจลจึงเกิดขึ้นในทุกๆ เมืองใหญ่ของประเทศ จนกระทั่งในที่สุด ประธานาธิบดีซูฮาร์โต ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 21 พฤษภาคม 1998 แต่สิ่งหนึ่งซึ่งคนอินโดนีเซียยังคงพูดถึงกันอยู่จนทุกวันนี้ก็คือ ข่าวลือที่ว่า กองกำลังที่ยิงนักศึกษาในเหตุการณ์ Tragedi Trisakti คือกองกำลังภายใต้การสั่งการของ ปราโบโว ซูเบียนโต ซึ่งเป็นผู้บัญชาการ Strategic Reserves Command (Kostrad) นายพลผู้เป็นทั้งลูกเขยของซูฮาร์โต และเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ทั้งในการเลือกตั้งปี 2014 และ 2019

 

7. เมื่อซูฮาร์โตก้าวลงจากตำแหน่ง รองประธานาธิบดี บี. เจ. ฮาบีบี จึงขึ้นดำรงตำแหน่งต่อในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 3 ของประเทศ ในช่วงปี 1998-1999 ถึงแม้จะเป็นคนจากระบอบซูฮาร์โต แต่ด้วยความที่ฮาบีบีมีพื้นฐานมาจากนักวิชาการระดับโลกด้านเทคโนโลยีอากาศยานเจ้าของทฤษฎี Habibie Theorem ซึ่งกล่าวถึงกระบวนการ (Habibie Method) ในการคิดคำนวณปัจจัยทางด้าน Thermodynamics (เรียกว่า Habibie Factor) ​ที่มีต่อการก่อสร้างอากาศยานตามหลัก Aerodynamics และประสบการณ์ทำงานระดับรองประธานบริษัท Airbus ก่อนจะกลับเข้ามาสู่สนามการเมืองในประเทศ นั่นทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักศึกษาอินโดนีเซีย ยอมรับในตัวเขา และฮาบีบีเองก็เป็นผู้เริ่มต้นกระบวนการปฏิรูปการเมืองของประเทศอินโดนีเซีย

 

เขาเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการลดการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจ สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง โดยการยกเลิกกระทรวงข้อมูลข่าวสาร (Information Ministry) ซึ่งในสมัยซูฮาร์โตทำหน้าที่เป็นผู้เซนเซอร์การแสดงความคิดเห็นและบทบาททางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม และที่สำคัญคือ ฮาบีบีลดจำนวนที่นั่งของกองทัพในรัฐสภาอินโดนีเซีย และพยายามวางกฎเกณฑ์ที่ทำให้กองทัพและข้าราชการประจำเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการประเทศได้น้อยลง ก่อนที่เขาจะประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1999

 

 

8. การเลือกตั้งในปี 1999 แม้ว่าพรรค Indonesian Democratic Party of Struggle หรือ PDI-P ที่มีผู้นำคือ นางเมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี จะได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด และตัวเมกาวาตีเองก็เป็นถึงบุตรสาวของวีรบุรุษผู้กอบกู้เอกราช อดีตประธานาธิบดีซูการ์โน แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ บทบาทของผู้นำศาสนาอิสลามในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งทางด้านสังคม-วัฒนธรรม ที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความคิดของคนอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (87.2% ของประชากร 261 ล้านคน นับถือศาสนาอิสลาม) เมื่อผู้นำทางด้านศาสนาอิสลามออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนองที่ว่า ผู้หญิงไม่เหมาะที่จะเป็นผู้นำ เธอก็ไม่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาลในตำแหน่งประธานาธิบดีได้ แต่ต้องให้คนที่ฝ่ายศาสนายอมรับอย่าง อับดุลลาห์มาน วาฮิด ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 4 ของประเทศจนถึงปี 2001

 

วาฮิดเองก็เป็นคนที่นักวิชาการให้การยอมรับว่า เขาเป็นผู้ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมพอสมควร และเขาก็สนับสนุนแนวคิดในการให้เอกราชกับประเทศติมอร์ตะวันออก ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อแนวคิดแบบนี้เกิดขึ้นในมิติความมั่นคง กองทัพซึ่งยังทรงอิทธิพลในทางการเมืองและมีสายสัมพันธ์กับผู้นำศาสนาก็คงไม่เอาด้วย และทำให้เขาต้องลงจากตำแหน่งในปี 2001 ด้วยการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง (Impeachment)

 

9. ปี 2001 นางเมกาวาตี ซูการ์โนปูตรี สามารถขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้ (เรื่องที่น่าแปลกใจก็คือ ผู้นำศาสนาที่เคยแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า ผู้หญิงไม่เหมาะกับตำแหน่งผู้นำ กลับไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นเหมือนเดิม) แม้เธอจะขึ้นดำรงตำแหน่งในช่วงที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2001-2004 แต่กระบวนการในการปฏิรูปการเมืองให้เกิดการลดบทบาทของกองทัพก็ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ ประกอบกับเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมที่เกาะบาหลี โดยผู้ก่อการร้ายกลุ่ม Jemaah Islamiyah (JI) ในปี 2002 นั่นทำให้ประเด็นทางด้านความมั่นคงและความต้องการกองทัพที่แข็งแกร่ง จึงกลายเป็นกระแสกลับมาในช่วงนั้น

 

และนั่นทำให้ในการเลือกตั้งปี 2004 ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งจึงเป็นอดีตนายทหาร ซูซิโล บัมบัง ยุโธโยโน หรือที่นิยมเรียกด้วยตัวย่อ SBY แห่งพรรค Democratic Party ซึ่งได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 6 ในช่วงเวลาของ SBY กองกำลัง Special Detachment 88 (Detasemen Khusus 88 หรือ Densus 88) ที่ถูกตั้งขึ้นในปี 2003 กำลังทำหน้าที่ด้านความมั่นคงอย่างเข้มแข็ง โดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย ความสงบบนพื้นที่อาเจะห์ ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราเริ่มเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมๆ กับการประกาศให้เป็นเขตปกครองพิเศษและการปราบปรามกลุ่ม JI

 

SBY จึงอยู่ฐานะที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้การปฏิรูปการเมืองและการลดบทบาทของกองทัพเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ เพราะเขามีฐานเสียงในประเทศสนับสนุนอย่างแข็งแกร่ง เป็นอดีตทหาร ทำให้เข้าใจความต้องการแท้จริงของกองทัพ และได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ดังนั้น การปฏิรูปการเมืองของอินโดนีเซียจึงสำเร็จลงได้ในช่วงนี้ กองทัพอินโดนีเซียไม่ได้มีบทบาททางการเมืองอีกต่อไป

 

 

10. แต่การเลือกตั้งในปี 2014 และ 2019 เราก็ยังคงเห็นอดีตนายพลอย่าง ปราโบโว ลงชิงตำแหน่งอยู่ และก็ได้เสียงสนับสนุนตามสมควรจากกลุ่มคนที่มีแนวคิดแบบชาตินิยม ในขณะที่หลายๆ ฝ่ายมองว่า หากปราโบโวปราชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็เท่ากับเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่า ประเทศอินโดนีเซียน่าจะก้าวไปสู่ระดับการพัฒนาทางการเมืองในอีกขั้น นั่นคือ การที่กองทัพกับระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นกลไกสำคัญของประเทศ ที่ไม่ได้มีการเกี่ยวข้องแทรกแซงซึ่งกันและกันอีกต่อไป

 

อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องจับตามองอย่างยิ่งก็คือ แม้ว่าคะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โจโก วีโดโด จะมีอยู่อย่างมหาศาล เนื่องจากเขาเป็นตัวแทนของคนอินโดนีเซียส่วนใหญ่ของประเทศที่เป็นคนชนชั้นกลางจนถึงล่าง เป็นคนที่ในอดีตค่อนข้าง Low-Profile เข้าถึงประชาชนรากหญ้า เพราะเริ่มต้นการทำงานจากธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในต่างจังหวัด จนกลายเป็นผู้นำท้องถิ่นในฐานะนายกเทศมนตรีเมืองโซโล และกลายเป็นผู้ว่าการเมืองจาการ์ตา และเป็นประธานาธิบดีที่คนอินโดนีเซียรู้สึกเข้าถึงได้ ไม่มีขั้นตอนระเบียบการที่ซับซ้อนยุ่งยาก

 

ในขณะที่แนวนโยบายในการกระจายการพัฒนาออกไปจากกรุงจาการ์ตา พร้อมๆ กับที่ใช้นโยบาย Indonesia’s Maritime Fulcrum (GMF) ที่พัฒนากลายเป็น Presidential Regulation ฉบับที่ 16 ของ โจโก วีโดโด ที่ประกาศเรื่อง Indonesia Sea Policy ออกมา นั่นหมายความว่า โจโกวีจะเปลี่ยนวิธีคิดของคนอินโดนีเซียจากการให้ความสำคัญกับพื้นที่บนเกาะที่ห่างไกลและไม่เชื่อมโยง ให้คนอินโดนีเซียมีความสนใจมากยิ่งขึ้นกับสิ่งที่อินโดนีเซียมีมากกว่าทุกคนในโลกนั่นคือ มหาสมุทรและพื้นที่ชายฝั่ง นักวิชาการด้านความมั่นคงของอินโดนีเซียวิเคราะห์ว่า การใช้คำว่า Sea เพื่อให้สอดคล้องกับการประชุมของสหประชาชาติ United Nation Convention on the Law of the Sea (UNCLOS) ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์ที่อินโดนีเซียและประเทศคู่พิพาทของจีนพยายามใช้เป็นหลักการในการป้องกันการอ้างสิทธิของจีนในพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้

 

โดยเป้าหมายหลักของ GMF และ Indonesia Sea Policy มีความสอดคล้องกัน และมีประเด็นสำคัญทั้งสิ้น 7 ประเด็น ได้แก่

1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรทางทะเล (Marine and Human Resource Development)

2. ความมั่นคงทางทะเล การป้องกันประเทศ และความปลอดภัยในทะเล (Naval Defense, Maritime Security, and Safety at Sea)

3. การสร้างสถาบันเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในมหาสมุทร (Ocean Governance Institutionalization)

4. สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจ (Maritime Economy, Infrastructure, and Welfare)

5. การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการจัดการพื้นที่ในมหาสมุทร (Environmental Protection and Ocean Space Management)

6. ส่งเสริมมิติทางสังคมและวัฒนธรรม (Nautical Culture)

7. การทูตที่ใช้พาณิชย์นาวีเป็นสื่อกลางทางการทูต (Maritime Diplomacy)

 

นอกจากกำหนดเสาหลักทั้ง 7 ข้อของการดำเนินนโยบายแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังกำหนด 76 โปรแกรมการทำงาน 425 กิจกรรม และ 330 เป้าหมายที่ต้องดำเนินการอีกด้วย

 

แม้ว่าโจโกวีจะประสบความสำเร็จและได้รับคะแนนนิยมสูงเพียงใด ข้อโจมตีต่อตัวเขาเองก็ยังคงเกิดขึ้น โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ว่า โจโกวีเป็นผู้ไม่เคร่งครัดในศาสนา อย่าลืมว่า ความเห็นของผู้นำศาสนาในอดีตมีอิทธิพลอย่างสูง สูงขนาดที่ชนะเลือกตั้งก็ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้มาแล้ว เมื่อครั้งเมกาวาตี ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค PDI-P พรรคที่ให้การสนับสนุนโจโกวีนั่นเอง ความไหวหวั่นและประเด็นเปราะบางนี้ ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในการรณรงค์หาเสียงครั้งนี้ นั่นคือ โจโก วีโดโด วางตัว Running Mate หรือผู้สมัครรองประธานาธิบดีที่จะต้องเดินทางเคียงคู่กับเขาตลอดระยะเวลาในการหาเสียงให้เป็นผู้สมัครอิสระนามว่า มารุฟ อามิน ซึ่งดูจากชื่อ คุณผู้อ่านก็คงทราบแล้วว่า เป็นมุสลิมอย่างแน่นอน แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง มารุฟ อามิน เคยดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด (Supreme Leader, Rais ‘Aam Syuriah) ขององค์การ Nahdlatul Ulama (NU) ซึ่งเป็นองค์การด้านศาสนาอิสลามที่ใหญ่ที่สุดในโลก มาแล้ว

 

จะเห็นได้ว่า แม้การเมืองอินโดนีเซียจะปลอดจากการแทรกแซงของกองทัพได้ในอนาคต แต่ในอนาคต แม้อินโดนีเซียจะเป็นรัฐโลกวิสัย หรือรัฐฆราวาส (Secular Nation นั่นคือ ประเทศที่แยกชัดเจนระหว่างรัฐกับศาสนจักร) แต่ผู้นำทางศาสนาอิสลามของประเทศอินโดนีเซียก็ยังคงมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเมืองต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X