ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณเตือนเรื่องการแข่งขันของสถาบันการเงินบางแห่งที่ให้สินเชื่อรถยนต์โดยนำเสนอส่วนลดเงินสดหรือกำหนดราคาขายสูงกว่าราคาจากบริษัทผู้ผลิตรถ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าบางรายจ่ายเงินดาวน์น้อยมากหรือแทบไม่ต้องจ่ายก็สามารถซื้อรถยนต์ได้ บางกรณีอาจมีเงินส่วนเกินคืนให้ผู้กู้ด้วย ถือเป็นการกระตุ้นความต้องการซื้อรถให้สูงขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีความพร้อมด้านการเงิน
เมื่อพิจารณายอดขายรถภายในประเทศปี 2561 สูงแตะ 1.04 ล้านคัน ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถในระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น 12.6% เป็น 1.07 ล้านล้านบาท ถือเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี การเติบโตที่ค่อนข้างร้อนแรงในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทำให้สัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขยับขึ้นเป็น 24% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ซึ่งประกอบด้วย สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล จากเดิมที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 23% ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของสินเชื่อเช่าซื้อรถขยับสูงขึ้นที่ 1.66% ณ สิ้นปี 2561 จากระดับ 1.60% ณ สิ้นปี 2560 การเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในปี 2561 มีผลทำให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ขยับขึ้นมามีสัดส่วนประมาณ 15% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ณ สิ้นปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่มีสัดส่วนประมาณ 14% ของหนี้ครัวเรือนในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยขอให้ติดตามความเคลื่อนไหวของแบงก์ชาติหลังการตรวจสอบเชิงลึกในกระบวนการพิจารณาเครดิตของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งว่าจะกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อเช่าซื้อมากน้อยเพียงใด และจะนำไปสู่การยกระดับการบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้นเหมือนกรณีการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์หรือไม่ โดยวิเคราะห์ผลกระทบหากแบงก์ชาติออกมาตรการกำกับดูแลการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่รัดกุมขึ้นภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 อาจมีผลกระทบต่อยอดขายรถและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระยะสั้น แต่จะช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินในระยะยาว โดยเชื่อว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่จะยังรักษากติกาและมาตรฐานการปล่อยกู้ที่ระมัดระวังไว้เพื่อรักษาคุณภาพของพอร์ตโดยรวม
มาตรการที่จะมีผลกระทบมากคือการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการวางเงินดาวน์ของผู้ซื้อรถยนต์ เนื่องจากจะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างไปยังทุกสถาบันการเงิน ขณะที่มาตรการที่มีผลกระทบน้อยกว่าคือการย้ำให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสำหรับสถาบันการเงินที่มีปัญหาการให้สินเชื่อเกินมูลค่าหลักประกัน โดยผสมผสานกับกลไกการสุ่มตรวจสอบเชิงลึกที่เตรียมดำเนินการ
ทิศทางตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2562 คาดว่าจะทรงตัวไปจนถึงหดตัวเล็กน้อยที่ 3% หากแบงก์ชาติใช้ยาแรงอย่างการตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการวางเงินดาวน์ของผู้ซื้อรถยนต์ โดยอาจเป็นที่ 20-25% ของมูลค่ารถ อาจมีผลกระทบต่อยอดขายรถยนต์ในประเทศในปี 2562 ให้หดตัวลงในกรอบ 2-5% (ดาวน์ 20%) และ 3-6% (ดาวน์ 25%) ตามลำดับ รถยนต์ที่ไม่ใช่รุ่นยอดนิยมในตลาดและมีสต๊อกสินค้าเหลืออยู่มากจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะปกติจะขายยาก จึงต้องจัดโปรโมชันที่ทำให้ผู้ซื้อสามารถซื้อได้ง่าย หรือกระตุ้นผ่านสินเชื่อที่อนุมัติได้ง่ายเป็นหลัก ส่วนกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบรองลงมาคือรถยนต์ที่มีระดับราคาไม่สูง ซึ่งจับกลุ่มผู้ซื้อที่มีระดับรายได้ไม่มั่นคงมาก เช่น กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มคนทำงานที่เพิ่งเข้าสู่ตลาด และมีโอกาสจะทำให้เกิดหนี้เสียได้สูง ได้แก่ รถยนต์อีโคคาร์ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และรถกระบะตอนเดียว (Single Cab) หรือรถกระบะตอนครึ่ง (Space Cab)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าควรแบ่งกลุ่มลูกค้าตามระดับความสามารถในการชำระหนี้ร่วมด้วยในลักษณะเดียวกับสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและความคล่องตัว สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าแต่ละราย รวมทั้งยังไม่กระทบต่อธุรกิจรถยนต์เป็นการทั่วไปทั้งระบบ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย