×

หัวรุนแรง เรียกร้องแต่เสรีภาพ? ถกความคิดเด็กรัฐศาสตร์ มธ. เมื่อถูกมองจากสังคม (ไทย)

30.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • เราเพียงแค่มาเรียน มันไม่ได้มีแต่ภาพที่มหาวิทยาลัยเราถูกแสดงออกว่าเป็นหัวรุนแรงอย่างเดียว ยังมีคนประเภทอื่นอีกเยอะ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้สนใจอะไรเลยก็เยอะเหมือนกัน – พิมพ์ชนก โสภัย
  • เราอยากให้สังคมมองว่ามันคือความสวยงามของความหลากหลายที่มี และอยากจะให้มองว่า นอกจากกลุ่มคนเหล่านั้นแล้วก็ยังมีกลุ่มคนที่แตกต่างกัน – ธนวัฒน์ ปาแปง
  • นักศึกษากลุ่มนี้กำลังจะจัดนิทรรศการทางการเมือง เพื่อชวนผู้ที่สนใจมาหาความรู้ ร่วมแลกเปลี่ยน และตั้งคำถามต่อสังคมไทยไปพร้อมๆ กัน อีกนัยหนึ่งลองมาสัมผัสพวกเขาตัวเป็นๆ ว่า จะเหมือนกับที่สังคมมองหรือไม่

 

     เมื่อเอ่ยชื่อ ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ ซึ่งมีชื่อเดิมว่า ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ หลายคนมักจะติดภาพขบวนการนักศึกษากับการแสดงออกทางการเมือง และถูกใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางการเมืองต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

     แต่หากโฟกัสมาที่ ‘นักศึกษา’ มีคำถามและข้อสังเกตจากสังคมบางกลุ่มเหมือนกันว่า ทำไมจึงดูเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดหัวรุนแรง หรือมีความกล้าคิดกล้าพูดต่อสังคมในหลายๆ ครั้ง

     แต่นั่นก็เป็นเพียงเสียงสะท้อนส่วนหนึ่งจากคนนอกที่มีต่อคนใน THE STANDARD อยากรู้ว่าจริงๆ แล้ว ‘นักศึกษา’ คิดเห็นกับเรื่องนี้อย่างไร เขามองสังคมปัจจุบันนี้แบบไหน มองว่าตัวเองเป็นพวกหัวรุนแรงหรือไม่ จึงต้องหาเวลาไปพูดคุยกับพวกเขา และแน่นอนว่าเราพุ่งตรงไปที่คณะที่เรียนเกี่ยวกับการเมืองอย่าง คณะรัฐศาสตร์

     ซึ่งในช่วงที่ได้พูดคุยกับพวกเขา นักศึกษารัฐศาสตร์กลุ่มนี้กำลังจะจัดนิทรรศการให้ความรู้ทางการเมืองอยู่ด้วย และเรื่องที่ชวนสนทนากันต่อไปนี้ อาจเป็นคำถามที่เกิดขึ้นหลายครั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ด้วยเงื่อนไขของเวลาและสภาพสังคม คำตอบก็ยังน่าสนใจอยู่ไม่น้อย

 

 

พูดถึงชื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษาก็มักจะถูกมองว่าหัวรุนแรง ถูกวิจารณ์ว่าเอียงไปเข้ากับกลุ่มการเมืองต่างๆ อยากรู้จริงๆ ว่าคนในอย่างเราคิดอย่างไรเวลาที่ถูกแปะป้ายแบบนั้น

     อภิมุข เจริญสุข: ธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายค่อนข้างสูงมาก และจุดเด่นหนึ่งของธรรมศาสตร์คือเป็นมหาวิทยาลัยที่มีเสรีภาพ แน่นอนว่ามันไม่ได้มีเสรีภาพที่มากมายขนาดนั้น แต่มันก็มีเสรีภาพมากกว่ามหาวิทยาลัยอื่นในระดับหนึ่ง การมีเสรีภาพแบบนี้จึงทำให้เกิดความหลากหลายทางอุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อ แน่นอนว่าในมหาวิทยาลัย แต่ละคน แต่ละกลุ่ม อาจจะมีอุดมการณ์ ยึดถือคติและความเชื่อที่แตกต่างกันออกไป บางคนเชื่อในเรื่องของเสรีนิยม บางคนเชื่อในเรื่องของมาร์กซิสต์ หรือในกรณีที่บางคนไม่นับถือศาสนาเพราะมองว่ามันเป็นเรื่องที่งมงาย แต่กลับกันบางคนเลือกที่จะนับถืออย่างเคร่งครัด สิ่งนี้คือจุดเด่นของธรรมศาสตร์ที่มีความหลากหลายสูง พอพื้นที่มันมีความหลากหลายแบบนี้ ความคิดก็ย่อมแตกต่างกันออกไป ดังนั้น เมื่อระบบต่างๆ ในประเทศมันไม่ตอบโจทย์ มันไม่ตรงกับที่ใจเขานึก เขาก็ยืนยันที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นหรือต่อต้านเป็นเรื่องปกติธรรมดา

     พิมพ์ชนก โสภัย: แต่มันไม่ได้หมายความว่านักศึกษาทั้งมหาลัยจะคิดแบบนี้ อย่างกลุ่มของเรา แม้จะเรียนอยู่ในคณะนี้แต่ก็ไม่ได้สนใจการเมืองหรือติดตามข่าวอะไรเลยด้วยซ้ำ เราเพียงแค่มาเรียน มันไม่ได้มีแต่ภาพที่มหาวิทยาลัยเราถูกแสดงออกว่าเป็นหัวรุนแรงอย่างเดียว ยังมีคนประเภทอื่นอีกเยอะ โดยเฉพาะคนที่ไม่ได้สนใจอะไรเลยก็เยอะเหมือนกัน

     ธนวัฒน์ ปาแปง: ไม่อยากให้สังคมเหมารวมพวกเราทุกคน เมื่อเห็นภาพคนบางคนหรือบางกลุ่มที่ออกไปตามสื่อที่ดูรุนแรง เป็นพวกหัวก้าวหน้า ยึดถืออุดมการณ์ที่สังคมรับไม่ได้ เราอยากให้สังคมมองว่ามันคือความสวยงามของความหลากหลายที่มี และอยากให้มองว่านอกจากกลุ่มคนเหล่านั้นแล้ว ก็ยังมีกลุ่มคนที่แตกต่างกัน ซึ่งแน่นอนว่าถ้าสังคมเรามองแบบนั้นได้ สังคมเราก็จะมีความสุขที่ได้เห็นคนที่คิดแตกต่างมาเรียกร้องในสิ่งที่มันกระทบถึงตัวเขาและอาจเกี่ยวข้องกับเราด้วย

 

 

อย่างการโพสต์เฟซบุ๊ก ถ้าเป็นเพื่อนกับเด็กคณะเหล่านี้ก็จะรู้สึกว่าดูดุเดือด รุนแรง เช่น 1 ใน 10 เรื่องที่โพสต์จะต้องมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเสมอ ความเป็นจริงเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

     ธนวัฒน์ ปาแปง: สำหรับเรา เรามองว่าต้องตั้งคำถามก่อนว่า คำว่า ‘รุนแรง’ คืออะไร ถ้าคุณมองว่าการโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับการเมืองเป็นเรื่องที่รุนแรง เรามองว่านั่นเป็นการตั้งนิยามที่ผิดเกี่ยวกับคำว่ารุนแรงอย่างมหันต์ เพราะเรามองว่าเราสามารถที่จะแสดงออกทางความคิดได้ อย่างที่บอกว่าเรามีความแตกต่างหลากหลายและเราไม่เหมือนกัน การที่เราแสดงสิ่งที่อยู่ในใจออกมา มันอาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่นำไปสู่สันติภาพได้มากกว่า

 

เคยมีกระทู้หนึ่งในพันทิปที่ตั้งคำถามประมาณว่า เราจะมีคณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ไปทำไม ในฐานะที่เราเรียนในคณะที่ถูกกล่าวถึงอยู่ มีความเห็นว่าอย่างไร

     อภิมุข เจริญสุข: เรามองว่าคณะรัฐศาสตร์เปรียบเสมือนร้านแว่นตาร้านหนึ่ง แล้วในร้านนั้นมีแว่นหรือเลนส์หลากหลายแบบมากสำหรับคนสายตาสั้น ยาว หรือเอียง สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนกับการที่คณะรัฐศาสตร์ให้กับเรา คือเราไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่ปรากฏการณ์เดียวหรือเหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้นโต้งๆ โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งใดเลย อย่างที่บอกว่าคณะรัฐศาสตร์ไม่ใช่คณะที่เป็นสาขาวิชาชีพ เราศึกษากว้างมาก เราสามารถเข้าใจการปฏิสัมพันธ์ต่างๆ ในสังคมได้อย่างเข้าใจ พูดง่ายๆ คือคณะรัฐศาสตร์สอนให้เราคิดเป็น สอนให้เราคิดได้หลากหลายมุมมอง เราไม่จำเป็นที่จะต้องมองสิ่งที่เกิดขึ้นในมุมมองใดมุมมองเดียว

     พิมพ์ชนก โสภัย: และเราก็คิดว่าคนที่เรียนคณะรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์จะมีความสนใจในด้านการเมืองเยอะกว่า ซึ่งมันก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่างบางทีเวลาเรานั่งคุยกันเรื่องการเมืองในวงเพื่อนก็เป็นเรื่องปกติ

 

 

ที่บอกว่าเราสามารถมองโลกด้วยแว่นหลากหลายเลนส์ อยากรู้ว่าพวกเรามองอย่างไรต่อวิกฤตหรืออนาคตของสังคม อย่างเช่น การล้มลุกคุกคลานของประชาธิปไตย

     ธนวัฒน์ ปาแปง: ประชาธิปไตยของประเทศไทยมันยังต้องใช้ความพยายามอีกมาก ซึ่งก็ต้องผ่านหลากหลายกระบวนการ โดยเฉพาะความอดทนอดกลั้นที่ต้องมีมากกว่านี้ มันจะเป็นการพูดที่ดูโง่มากถ้าเราบอกว่าประเทศเราตอนนี้เป็นประชาธิปไตยมากกว่า 80% แล้ว เพราะฉะนั้นเราคิดว่าทางที่จะทำให้ประชาธิปไตยเป็นจริงได้มันต้องพัฒนาในระดับของประชาชน โจทย์สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรก็ตามให้ประชาชนเป็นพลเมือง ทำอย่างไรให้สังคมคิดว่าปัญหาของสังคม คนในสังคมต้องคิดว่าประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นหรือนำพาสังคมไปเจอสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร ประเด็นนี้ยากและซับซ้อน เพราะมันไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการศึกษาหรือวัฒนธรรมของไทยที่ไม่ค่อยสนับสนุนประชาธิปไตย

 

 

แต่ทีนี้คนก็จะสงสัยต่อกันอีกว่า คำว่าประชาธิปไตยที่นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ หรือใครก็ตามที่ดูเป็นคนหัวก้าวหน้าชอบใช้กันนั้น ในฐานะที่คุณเรียนการเมือง คุณคิดว่าประชาธิปไตยคืออะไร

     อภิมุข เจริญสุข: วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) บอกว่าประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยมันก็เป็นการปกครองที่เลวน้อยที่สุด เพราะประชาธิปไตยมีจุดเด่นบางประการ นั่นคือการโอบอุ้มคนทุกคนในสังคมได้มากที่สุด ในขณะที่ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการหรือระบอบอภิชนาธิปไตยหรือราชาปราชญ์ (Philosopher King) ที่ถูกออกแบบมาเพื่อหาคนที่มีคุณธรรมหรือฉลาดมาปกครอง แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงคือ เราทุกคนล้วนมีผลประโยชน์ของตัวเอง

     เพราะฉะนั้นการที่เราให้คนๆ หนึ่งไปปกครองทั้งๆ ที่คนๆ นั้นยังมีผลประโยชน์ของตัวเอง (ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติ) มันก็ไม่มีอะไรมาการันตีว่าคนๆ นั้นจะปกครองได้อย่างยุติธรรมหรือดีเท่าไร แต่ประชาธิปไตยคือการยอมรับว่าทุกคนมีผลประโยชน์ของตัวเองและเปิดพื้นที่ให้มีการต่อรอง แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันได้ สิ่งเหล่านี้คือการเมือง การตกลงประนีประนอมกัน มันจึงเป็นระบอบที่คนส่วนใหญ่จะโอเค

 

ทีนี้ถามว่าทำไม 85 ปี ประชาธิปไตยถึงไม่สำเร็จมากนัก

     อภิมุข เจริญสุข: ในความคิดของผม ผมคิดว่าเราไม่สามารถไปโทษผู้ก่อการได้ว่ามันเป็นการ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เพราะการอ้างสมมติฐานว่าประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม มันเป็นสิ่งที่งี่เง่า เพราะการเปลี่ยนแปลงในสังคมใดก็ตามไม่มีใครมีความพร้อมเสมอ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่พร้อม สักวันมันก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่เปลี่ยนแปลงสมัยนั้นก็ต้องเป็นสมัยต่อไป คนที่บอกว่าไม่พร้อม อาจเป็นเพราะว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นไปขัดผลประโยชน์ของเขา

     เมื่อประชาธิปไตยเกิดขึ้น อำนาจไม่ได้อยู่ในมือกษัตริย์ แต่อยู่ในมือประชาชน แม้ตอนแรกมันจะอยู่ในมือของคณะราษฎรซึ่งล้มลุกคุกคลานบ่อยมากด้วยการแย่งชิงอำนาจกันเอง แต่เราจะเห็นได้ว่าเมื่อเราปล่อยให้ประชาธิปไตยได้ทำงานและเติบโตขึ้น เราเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น เกิดการเลือกตั้งขึ้น ภาคประชาสังคมก็เกิดขึ้น อยากให้ลองคิดว่าถ้าวันนั้นไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้น วันนี้จะเป็นอย่างไร

ประชาธิปไตยเมื่อมันกำลังเติบโต แตกกิ่งก้านสาขาทีไรมันก็มักจะถูกตัดตอนออกไปอยู่เรื่อย เพราะฉะนั้น 85 ปีประชาธิปไตยจึงเป็น 85 ปีที่ล้มลุกคุกคลานที่สุด ภาพเหตุการณ์บางอย่างจึงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

 

ทำไมเราต้องสนใจกิจกรรมทางการเมืองที่บางคนมองว่ามันดูสกปรก เอาจริงๆ มันเกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเราจริงๆ หรือ

     อภิมุข เจริญสุข: การเมืองมันอยู่ในทุกซอกมุม ทุกอณูของสังคม คุณไม่สามารถปฏิเสธการเมืองได้ การเจรจาผลประโยชน์อะไรต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นการเมืองทั้งสิ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราเชื่อในสมมติฐานว่าทุกคนเห็นแก่ตัว ทุกคนรักตัวเอง ถ้ามีข้าว 1 จาน แล้วคุณหิวมากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกคนที่หิวมากๆ เหมือนกัน คุณจะเอาจานข้าวนั้นให้ใครก่อน ถ้ามองโลกแบบความเป็นจริง ไม่โลกสวยเลยนะ คุณคงจะไม่คิดที่จะยกข้าวให้เขาไปเลย และกลับมาคิดว่าเราไม่กินก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้สถานะเราเท่ากัน เราก็สามารถต่อรองแบ่งข้าวจานนั้นคนละครึ่งเพื่อทุเลาความหิวของเราได้ นี่คือการเมืองแบบประชาธิปไตย คุณไม่มีทางหลบหลีกหนีจากการเมืองไปได้ ตราบใดที่คุณยังเป็นสัตว์สังคม ตราบใดที่คุณยังรักตัวเองและมีผลประโยชน์อยู่เสมอ

 

 

สุดท้ายอยากรู้ว่าคุณอยากสื่ออะไรกับสังคมจึงจัดงานนี้ขึ้นมา

     ธนวัฒน์ ปาแปง: จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้ใดคุมปัจจุบัน บงการอดีต ผู้ใดที่บงการอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต”

     ภาพบางอย่างมันหายไปจากความทรงจำ มันหายไปจากการจดจำ มันคือสิ่งที่เราลืม โดยมันอาจจะถูกทำให้ลืมด้วยอำนาจหรือการเมือง คนที่มีอำนาจมักจะมีความสามารถในการควบคุมความจริงของสังคม และความจริงเหล่านั้นอาจจะเป็นความจริงที่ทรงคุณค่าต่อการจดจำแต่ก็ถูกทำให้ลืม เราอยากจะชี้ชวนให้สังคมได้เห็นว่ามันยังมีภาพบางอย่างที่เราควรจะจำ และไม่ควรถูกทำให้ลืม ในฐานะที่มันเป็นภาพความทรงจำที่ยังอยู่ในใจใครหลายๆ คน ทั้งในฐานะที่มันจะสอนให้เราไม่กลับไปย้อนรอยอดีตซ้ำอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในระดับประเทศหรือในระดับโลก

     อย่างการเมืองในประเทศ อำนาจการเมืองบางอย่างพยายามจะทำให้ภาพต่างๆ เหล่านั้นของหมุดคณะราษฎรไม่ถูกจำ แต่กลับให้มันถูกลืม แตกต่างกันตรงที่ว่า ความทรงจำของประชาธิปไตยอาจจะไม่ได้หายไปในทันทีเหมือนกับหมุดของคณะราษฎร แต่ว่ามันอาจจะค่อยๆ เลือนหายไป เพราะฉะนั้น พลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถ้ายังอยากที่จะระลึกถึงระบอบประชาธิปไตยที่เคยมีอยู่ ก็คงไม่ต้องทำอะไรมาก ถ้าในท้ายที่สุดหมุดคณะราษฎรมันไม่กลับคืนมา แล้วมันก็คงจะเป็นอีกภาพหนึ่งที่หายไปตลอดกาล แต่ว่าสิ่งที่ไม่ควรจะถูกทำให้หายไปก็คือ ระบอบประชาธิปไตย อยากให้สังคมร่วมสร้างกันขึ้นมาและวันหนึ่งเราก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องมีหมุดคณะราษฎรเพื่อทำให้เราจดจำได้ว่าที่นี่เคยมีประชาธิปไตยก็ได้

     หรือในกรณีระดับโลกอย่างเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดสงครามเหล่านั้นขึ้นมาด้วย โดยเฉพาะสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่การศึกษาของเยอรมนีในปัจจุบันก็ยังมีการใส่สิ่งเหล่านั้นเข้าไปย้ำเตือนในบทเรียน ตามถนนหนทางต่างๆ มีการเขียนเพื่อให้คนรุ่นหลังได้จำไว้ว่าตรงนี้เคยมีชาวยิวโดนฆ่าตาย บ้านหลังนี้เคยมีชาวยิวอาศัยอยู่ ถามว่าทำไมถึงต้องมีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ขึ้น เพราะเขากลัวว่าเขาจะสร้างฮิตเลอร์คนที่ 2 คนที่ 3 ขึ้นมาอีก นั่นคือตัวอย่างของการรำลึกความทรงจำหรือเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อไม่ก่อให้เกิดประวัติศาสตร์ที่ร้ายๆ ซ้ำขึ้นมาอีก  

     ภาพบางภาพถูกนำเสนอให้เราเห็นอยู่บ่อยครั้ง ภาพบางภาพเราไม่เคยเห็นมันเลย โดยที่เราอาจจะลืมมันไปหรือเราอาจจะถูกทำให้ลืม แต่ภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้จงอย่าลืมและเรียนรู้มัน เอามันมาปรับใช้

     หลายคนจำภาพๆ หนึ่งได้ แต่ก็เลือนรางเต็มที เราอยากจะพาทุกคนย้อนรอยความทรงจำว่า เส้นทางของคนไทยผ่านอะไรมาบ้าง แล้วของมนุษยชาติผ่านอะไรมาบ้าง ทั้งร้อน หนาว ทุกข์หรือสุข

 

FYI
  • คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังจะจัดนิทรรศการการเมืองในงานรัฐศาสตร์วิชาการในธีม The Missing Picture อดีต ภาพ ความทรงจำ โดยภายในงานมีกิจกรรมมากมาย อาทิ การแข่งขันตอบปัญหาทางรัฐศาสตร์ การแข่งขันโต้วาที การแนะแนวการศึกษา และการเสวนาถึงประเด็นปัญหาสังคมไทย ในวันที่ 12-13 กันยายนนี้ ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต    

 

    

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X